คอลัมนิสต์

"นายกฯ คนกลาง" การเมืองไทยถึงทางตันแล้วหรือ ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ กระดานความคิด โดย บางนา บางปะกง

 

********************

          นับแต่ช่วงหยุดยาวสงกรานต์ มาจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ข่าวลือ “นายกฯ คนกลาง” ยังมีการโจษขานกันผ่านสื่อโซเชียลไม่หยุด สืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ และยังไม่มีความชัดเจนจาก กกต. กรณีคำนวณสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ

          กระบวนการปั่นข่าวอ้างว่า สองขั้วการเมือง มีเสียงสนับสนุน “ปริ่มน้ำ” ไม่มีขั้วใดขั้วหนึ่งชนะเด็ดขาด จึงเกิดการเมืองเดดล็อก หมายถึงการจัดตั้งรัฐบาล ผ่านสภาผู้แทนราษฎรท่าจะไปไม่รอด จึงต้องมี “นายกฯ คนกลาง” 

          แม้พรรคพลังประชารัฐ แสดงเจตจำนงจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ด้วยจำนวนเสียงที่เชื่อว่า ไม่ปริ่มน้ำ แต่คนกลุ่มหนึ่งยังไม่เชื่อ จึงปล่อยข่าวรัฐบาลปรองดอง และนายกฯ คนกลางอย่างต่อเนื่อง 

          จะว่าไปแล้ว ระบอบประชาธิปไตยบ้านเรา แตกต่างจากชาติตะวันตก แม้จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ก็มีนายกฯ คนกลางมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ยกตัวอย่างสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2523-2531 

          ลักษณะพิเศษของ รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 ได้ปรากฏรูปแบบวิธีการตามระบอบประชาธิปไตยคือ มีรัฐธรรมนูญกฎหมายเลือกตั้งพรรคการเมือง ระบบรัฐสภา และการถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ แต่นายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

          นับตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2521 เป็นต้นมา รัฐบาลมีข้ออ้างสำหรับความชอบธรรมในระดับหนึ่งว่า การปกครองในระบอบนี้เป็นของประชาชน กล่าวคือ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและมีรัฐสภาทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ อีกทั้งได้ดำเนินการปกครองเพื่อประชาชน

          แม้ พล.อ.เปรม ก็ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองได้รวบรวมเสียงสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมาสามสมัย 

          “นายกฯ คนกลาง” ในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้หล่นมาจากฟากฟ้า เราคงเคยได้ยินได้ฟังเรื่อง “ประชาธิปไตยแบบไทย” มานานแล้ว ซึ่งเป็นแนวคิดที่หมายถึง รูปการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเหมาะสมกับวัฒนธรรมประเพณีของชาติไทยและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้วย

          แท้จริงแล้ว แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทย เริ่มมาจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะทหารทำรัฐประหาร ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 

          จอมพลสฤษดิ์ ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมประชาธิปไตยแบบไทย จึงมุ่งหมาย “ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่นำมาจากต่างประเทศทั้งดุ้นเสีย และเสนอว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทย จะสร้างประชาธิปไตยของไทย ประชาธิปไตยแบบไทย”

          รัฐธรรมนูญตามแบบตะวันตก มักจะให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนมากเกินไป ซึ่งไม่เหมาะกับประเทศไทยเลย และได้เสนอว่ารูปแบบของการปกครองที่เหมาะสมของประเทศไทย ควรจะเป็นไปในรูปแบบที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายรัฐบาลจะต้องมีอำนาจสูงสุด เป็นรัฐบาลของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดโดยเฉพาะ

          พูดง่ายๆ ฝ่ายทหารมักมองว่า หากพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมากและยึดกุมสภาผู้แทนฯ ย่อมก่อให้เกิด “เผด็จการรัฐสภา” 

          นายทหารใหญ่ที่ก่อการรัฐประหาร 2500 จึงให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในแง่เนื้อหาสาระเป้าหมาย เช่น ความเหมาะสมกับลักษณะพิเศษของชาติไทย และการสนองความต้องการของประชาชนมากกว่าการให้ความสำคัญกับประชาธิปไตยในความหมายที่เป็นสากลในแง่รูปแบบวิธีการ

          แนวคิดประชาธิปไตยแบบไทยอีกอย่างคือ การมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติ โดยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการยอมรับว่าดำรงอยู่ในฐานะอันสูงสุดของชาติ ซึ่งผู้ใดจะละเมิดมิได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ