คอลัมนิสต์

ทุกข์คนมีรถ..โบรกเกอร์เถื่อนตุ๋นขายประกัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย... คณาธิศ ศรีหิรัญเดช


 

          ภัยใกล้ตัวทุกวันนี้มีหลากหลายรูปแบบ เพราะมิจฉาชีพก็มีวิวัฒนาการตามยุคสมัย โดยเฉพาะการฉ้อโกง ต้มตุ๋นหลอกลวงเพื่อเอาทรัพย์สิน ยิ่งแล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ที่บางครั้งก็ไม่ทันคิดจนหลวมตัวกลายเป็นเหยื่อ

 

 

          เคยปรากฏเป็นข่าวมาเป็นระยะเกี่ยวกับมิจฉาชีพที่ฉ้อโกง “หลอกขายประกัน” มีผู้เสียหายรวมตัวไปแจ้งความก็หลายคดี จับได้ก็เยอะ ออกหมายจับก็มี โจรบางรายถูกจับแล้วไม่สำนึกยังกลับมาต้มตุ๋นวิธีการเดิมๆ จึงทำให้คดีหลอกขายประกันภัยเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพราะหลายคนมองถึงเรื่องความสะดวกสบาย ยอมซื้อขายประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ หรือแม้แต่ทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์   


          เฉกเช่นกรณีล่าสุดที่ตำรวจกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ (บก.สปพ.) หรือ 191 โดย พ.ต.อ.สมบูรณ์ เทียนขาว รอง ผบก.สปพ. และ พ.ต.อ.ปิยรัช สุภารัตน์ ผกก.สายตรวจ บก.สปพ. ร่วมกันแถลงจับกุม น.ส.จุฑาภาส อังกาพย์ นักต้มตุ๋นสาววัย 37 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลแขวงพระนครใต้ ที่ จ.7/2562 ลงวันที่ 16 มกราคม 2562 ฐานฉ้อโกง และหมายจับอื่นร่วม 10 หมาย หลังก่อเหตุโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายหลายร้อยคนให้ซื้อประกันภัยรถยนต์ ทั้งที่เคยถูกจับดำเนินคดีแล้ว แต่กลับมาก่อเหตุซ้ำอีก


          การจับกุมซ้ำในความผิดคดีเดิมๆ ของสาวนักตุ๋นรายนี้ พ.ต.อ.ปิยรัช บอกว่า ผู้ต้องหารายนี้ได้ก่อเหตุโดยอ้างเป็นตัวแทนบริษัทโบรกเกอร์ขายประกันภัยแห่งหนึ่ง โทรศัพท์ไปหาลูกค้าที่เคยทำประกันภัย และกำลังหมดอายุ เพื่อให้ต่อประกันภัย จูงใจเหยื่อด้วยการเสนอส่วนลด หรือมอบของกำนัล อาทิ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือ เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้เหยื่อคล้อยตามและหลงเชื่อ ซึ่งก็ได้ผล เพราะมีเหยื่อหลงเชื่อหลายร้อยคนตกลงทำประกันภัยรถยนต์ ก่อนโอนเงินเข้าบัญชีคนร้าย ตกรายละ 10,000-25,000 บาท แต่สุดท้ายก็ไม่ได้มีการทำประกันภัยรถยนต์ให้ 




          จากประวัติของสาวแสบยอดนักต้มตุ๋นเคยถูกจับกุมดำเนินคดีมาหลายครั้ง แต่ยังหากินแบบเดิมๆ ก่อเหตุซ้ำในลักษณะเดิม กระทั่งครั้งล่าสุดตำรวจ 191 ตามรวบตัวได้ที่บริเวณสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 ถนนสุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง ก่อนจะให้การว่า ซื้อข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อผ่านทางเว็บไซต์ จาก นายโฟล์ค ซึ่งไม่ทราบชื่อสกุลจริง ในราคาชื่อละ 3 บาท จากนั้นก็นำมาใช้ล่อลวงติดต่อให้เหยื่อซื้อประกันภัยรถยนต์กับตัวเอง รายละประมาณ 18,000 บาท มีผู้เสียหายหลงเชื่อหลายร้อยคน รวมมูลค่ากว่า 4 ล้านบาท โดยโทรศัพท์ไปหลอกลวงลักษณะนี้หลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ เพราะอาศัย

          ประสบการณ์ที่เคยเป็นพนักงานบริษัทรถยนต์แห่งหนึ่ง จึงรู้ช่องทางการก่อเหตุจนทำให้เหยื่อหลงเชื่อได้


          คนร้ายรายนี้ก่อเหตุแบบเดิมๆ หลายครั้ง ถูกจับหลายหน แต่ยังวนเวียนกับการหากินแบบมิจฉาชีพลักษณะนี้อยู่ สังคมจึงตั้งคำถามว่าทำไมถึงได้ออกมาก่อความเดือดร้อนได้อยู่ ซึ่ง พ.ต.อ.ปิยรัช อธิบายว่า แม้คนร้ายรายนี้เคยก่อเหตุมาแล้วหลายครั้ง แต่ความผิดฐานฉ้อโกง ต่างกรรมต่างวาระ โดย น.ส.จุฑาภาส จะเลือกเจรจากับผู้เสียหายแต่ละราย หากรายใดยินยอมเจรจาไกล่เกลี่ยสำเร็จ ก็สามารถถอนแจ้งความได้ ซึ่งผู้ต้องหารายนี้ถูกตำรวจ 191 จับกุมมาแล้วช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังมีหมายจับติดตัวอีก 10 หมายจับ


          สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นทุกข์ของคนมีรถ ฉะนั้นตำรวจแนะนำว่า การทำประกันภัยรถในลักษณะแบบนี้ ควรตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือตัวแทนที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งติดต่อกับบริษัทประกันภัยด้วยตนเอง ไม่ควรทำประกันผ่านตัวแทนที่ไม่เคยรู้จัก โดยเฉพาะกรณีที่มีการแจกสิ่งของเพื่อจูงใจ หรือมีราคาถูกเป็นพิเศษ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้..!!
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ