คอลัมนิสต์

จับตา'7 วันอันตราย'ได้ผลหรือล้มเหลว!?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวอาชญากรรม    


 

          ทุกเทศกาลสำคัญที่เป็นวันหยุดยาวทั้งปีใหม่และสงกรานต์ บ้านเราให้ความสำคัญกับเรื่องอุบัติเหตุ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนใช้รถใช้ถนนเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวตามต่างจังหวัด จึงต้องระมัดระวังป้องกันและรณรงค์เพื่อให้มีการบาดเจ็บสูญเสียน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ก็มีกำหนด “7 วันอันตราย” เหมือนดั่งเช่นที่ปฏิบัติมานับสิบปี

 

 

          เมื่อพูดถึงเรื่องอุบัติเหตุช่วงปลายเดือนธันวาคม 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานผลการจัดทำรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 4 โดยประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32.8 ต่อประชากรแสนคน คิดเป็นจำนวน 22,491 คน เฉลี่ยวันละ 60 คน อยู่อันดับที่ 9 ของประเทศสมาชิกทั้งหมด ซึ่งดีขึ้นจากเดิมที่เคยอยู่อันดับ 2

 

 

 

จับตา'7 วันอันตราย'ได้ผลหรือล้มเหลว!?

 


          แม้การจัดอันดับครั้งล่าสุดดูเหมือนสถานการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตจะดีขึ้น แต่การเสียชีวิตจากภัยบนท้องถนนของไทยเรายังเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย โดยเฉพาะสัดส่วนการเสียชีวิตจากเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก คือ 74.4% นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2558 จากรายงานการเสียชีวิต 3 ฐานของกรมควบคุมโรค พบว่าการเสียชีวิตของคนไทยจากภัยบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี คือเพิ่มจาก 19,960 ราย ในปี 2558 เป็น 21,745 ราย ในปี 2559 และเป็น 22,864 ราย ในปี 2560 ซึ่งแสดงว่าสถานการณ์ภัยบนท้องถนนของไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประเมินและให้ข้อแนะนำว่า หากจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องเร่งจัดตั้งองค์กรเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่มีบุคลากรมืออาชีพทำงานเต็มเวลา มีงบประมาณ และมีอิสระในการดำเนินงาน เพื่อประสานการดำเนินการและการกำกับติดตามเพื่อความปลอดภัยทางถนนอย่างเป็นระบบ


 

 

จับตา'7 วันอันตราย'ได้ผลหรือล้มเหลว!?

 


          แน่นอนว่าจากข้อมูลสถิติที่ผ่านๆ มา การเกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บสูญเสียสาเหตุหลักยังเป็น “เมาแล้วขับ” ทั้งๆ ที่รณรงค์เท่าไรออกกฎเข้มขนาดไหนเหมือนจะยังไม่ได้ผล สำหรับสถิติช่วง 7 วันอันตราย ในเทศกาลสงกรานต์ ปี 2561 มีบทสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม เกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 418 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,897 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, สมุทรสงคราม, หนองคาย และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 133 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ นครราชสีมา 20 ราย เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด 142 คน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ ที่รณรงค์กันซ้ำๆ อันดับแรก ดื่มแล้วขับ และรองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด

 

 

จับตา'7 วันอันตราย'ได้ผลหรือล้มเหลว!?

 

 


          ก่อนเริ่มโหมด 7 วันอันตราย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาส่งสัญญาณใช้ “ยาแรง” ว่า เมาแล้วขับชนคนตายเท่ากับเจตนาฆ่า และตอกย้ำมาตรการที่เข้มข้นของ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ฐานะรองประธานคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ที่บอกว่า เมาชนคนตายต้องติดคุกสถานเดียว แต่ดูเหมือนจะไปคนละทางกับสถิติตัวเลขอุบัติเหตุของวันแรกในห้วง 7 วันอันตราย ที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว 468 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 46 ราย ผู้บาดเจ็บ 482 คน


          นายอาคม บอกว่า มาตรการรณรงค์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยังเน้น 4 มาตรการสำคัญ​คือ 1.ขับรถด้วยความเร็วที่กฎหมายกำหนด, 2.เปิดไฟหน้า, 3.คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง รวมถึงรถโดยสารสาธารณะ และ 4.รถจักรยานยนต์ต้องเปิดไฟหน้ารถและสวมหมวกนิรภัย เพื่อลดความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนั้นการดูแลรถโดยสารสาธารณะที่รับส่งประชาชน จากการติดตามด้วยระบบจีพีเอส พบว่ามีรถตู้โดยสารที่ขับรถเร็วเกินกำหนด และเป็นรถตู้ที่ถูกถอนใบอนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามและดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว

 

 

จับตา'7 วันอันตราย'ได้ผลหรือล้มเหลว!?

 

 


          มาตรการที่เข้มข้นถูกตอกย้ำว่า “สิงห์นักดื่ม” เมินเฉย เพราะ พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. ออกมาเปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะด้วยมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” ที่ คสช.และรัฐบาลได้ใช้ในการดูแลประชาชนในช่วงเทศกาลมาตลอดนั้น สถิติในวันแรก (11 เม.ย. 2562) เจ้าหน้าที่ตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาท 2,344 ครั้ง จำเป็นต้องเก็บรักษารถไว้ 202 คัน (จักรยานยนต์ 158 คัน และรถยนต์ 44 คัน) ยึดใบขับขี่รถจักรยานยนต์ 20 คน และยึดใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ 121 คน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดีรวม 1,168 คน

 

 

 

จับตา'7 วันอันตราย'ได้ผลหรือล้มเหลว!?

 


          แม้กฎเหล็กเกี่ยวกับเมาแล้วขับทางรัฐบาลกับตำรวจเอาออกมาใช้อย่างเต็มที่ และพูดถึงเรื่องการเพิ่มโทษดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ก็ยังไม่วายเกิดขึ้นแบบเดิม เพราะข้ามคืนสู่วันที่สองของ 7 วันอันตรายสงกรานต์ปีนี้ ได้มีเหตุเศร้าสลดเป็นข่าวครึกโครมเมื่อมีอุบัติเหตุที่ต้นทางมาจากการเมาแล้วขับ เนื่องจากตีหนึ่งของวันที่ 12 เมษายน บริเวณซอยงามธรรมชาติ ถนนทวีวัฒนา-กาญจนาภิเษก แขวงและเขตทวีวัฒนา กทม. มีรถเก๋งซูซูกิ รุ่นสวิฟท์ สีขาว หมายเลขทะเบียน 2 กก 3653 กรุงเทพมหานคร ถูกชนพังยับเยิน ในซากรถพบศพ พ.ต.ท.จตุพร งามสุวิชชากุล รอง ผกก.สอบสวน กก.2 บก.ป. ไม่เพียงเท่านี้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นยังทำให้ นางนุชนาถ งามสุวิชชากุล อายุ 44 ปี ผู้เป็นภรรยาที่ร่วมเดินทางไปด้วยก็เสียชีวิตเช่นกัน ขณะที่ลูกสาวได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วน “มัจจุราช” คือ นายสมชาย เวโรจน์พิพัฒน์ อายุ 57 ปี ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ไทยคาร์บอนแอนด์กราไฟต์ จำกัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตและจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ ที่ควบรถเบนซ์มาด้วยฤทธิ์สุราที่มีอยู่ในร่างกายถึง 260 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์


          สงกรานต์ปีนี้ก็กำหนดให้นับตั้งแต่วันที่ 11-17 เมษายน เป็นช่วง 7 วันอันตราย และเหลืออีกแค่วันเดียวก็จะครบกำหนด ต้องรอดูว่าตัวเลขการเจ็บตายจากอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง การรณรงค์บังคับใช้กฎหมาย แม้กระทั่งการ “ขู่” จะได้ผลมากน้อยเพียงใด


          สังคมส่วนหนึ่งสนับสนุนให้ภาครัฐมองนอกกรอบกับแผนเดิมๆ ในเมื่อแอลกอฮอล์คืออีกตัวการสำคัญสู่หายนะอุบัติเหตุทางถนน ต้องไม่ปล่อยให้เทศกาลแห่งความสุข สุ่มเสี่ยงตีคู่ไปกับเทศกาลแห่งความตาย ไม่เช่นนั้นยอดอุบัติเหตุ เจ็บ ตาย จะเป็นแค่ตัวเลขรูทีนผ่านมาและจบไปในช่วงเทศกาลแค่นั้นเอง..!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ