คอลัมนิสต์

แผน'พิทักษ์เลือกตั้ง 62'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจเลือกตั้ง  โดย...  มณเฑียร  อินทะเกตุ 


 

          โค้งสุดท้ายอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการเลือกตั้งที่กำหนด 24 มีนาคม 2562 เป็นวัน “หย่อนบัตร” ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกคนที่ใช่มาเป็นตัวแทนบริหารบ้านเมือง หากนั่งนับนิ้วก็เหลือแค่ 6 วันเท่านั้น ซึ่งถือเป็นอีกวันสำคัญที่กำหนดทิศทางประเทศไทย พรรคไหนจะเข้าวิน กลุ่มก๊วนไหนจะได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล

 

 

          ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุ อุณหภูมิทางการเมืองที่ไม่ต่างจากสภาพอากาศหน้าแล้ง และการตื่นตัวของ “หน้าที่พลเมืองไทย” ที่เห็นได้ชัดจากการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมา ทุกหน่วยเลือกตั้งมีความคึกคัก มีคนออกมารักษาสิทธิ์ของตัวเองเกิน 80% นับเป็นการตื่นตัวไม่น้อยถึงขั้นการจราจรติดขัด ขนาดคนมีหมายจับหลายคดียังต้องปลอมตัวมาใช้สิทธิ์ก่อนเกิดเรื่องน่าเศร้าเมื่อตำรวจตามจับแต่เลือกหนีลงน้ำจนจมหายเสียชีวิตที่เขตบางเขน

 

          แน่นอนว่าการเลือกตั้งทุกครั้งมักจะเกิดคดีอาญาเป็นเงาตามตัว ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ที่เป็นหน่วยงานหลักสำหรับการป้องกันเหตุและสนับสนุนภารกิจการเลือกตั้งของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมายให้ “บิ๊กปู” พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ฝ่ายความมั่นคงและกิจการพิเศษ เป็นผู้ควบคุมสั่งการเพื่อดูแลความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น กระทั่งมีการตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ซึ่ง “บิ๊กปู” นั่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์ 

 

 


          สำหรับแผนการรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งครั้งของตำรวจ ซึ่งก่อนหน้านี้ “แม่ทัพสีกากี” อย่าง “บิ๊กแป๊ะ” ได้มีวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด่วนที่สุดถึงผู้บัญชาการทุกหน่วย และผู้บังคับการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าตามแผนรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือใช้รหัสเรียกขานว่า “พิทักษ์เลือกตั้ง 62” ที่เป็นแนวทางของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการพลเรือน พุทธศักราช 2499 เพื่อให้การปฏิบัติในส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงมีมาตรการ “สุดเฮี้ยบ” ให้ตำรวจปฏิบัติตาม


          1.ไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใดๆ 2.ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจกรรมทางการเมือง 3.ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน 4.ไม่แต่งกายเครื่องแบบราชการไปประชุมร่วมพรรคการเมือง หรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะใดๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง 5.ไม่ประดับเครื่องหมายพรรคการเมืองในเวลาสวมเครื่องแบบราชการ หรือในเวลาราชการ หรือในสถานที่ราชการ 6.ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ 7.ไม่บังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือประชาชนเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในลักษณะให้คุณให้โทษ เพราะเหตุที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือประชาชนนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย 


          8.ไม่ทำการขอร้องให้บุคคลใดอุทิศเงินหรือทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง 9.ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง หรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ ที่เป็นการเปิดเผยในที่ประชุมพรรคการเมือง และในที่ปรากฏแก่ประชาชนหรือเขียนจดหมาย หรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือ หรือใบปลิวซึ่งจำจำหน่ายจ่ายแจกไปยังประชาชน อันเป็นข้อความที่มีลักษณะทางการเมือง 10.ไม่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อแทรกแซงในทางการเมือง หรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกิจการต่างๆ และ 11.ในช่วงที่มีการเลือกวุฒิสมาชิกและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริม สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในการกลับกันไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถมหรือให้ร้ายผู้สมัครเลือกตั้ง


          ทั้งนี้ทั้งนั้น “บิ๊กปู” ในฐานะ ผอ.ศลต.ตร. ยังมีหนังสือสั่งไปทุกกองบัญชาการที่เกี่ยวข้องมอบหมายภารกิจหลัก คือ 1.การลงพื้นที่หาข่าวตรวจสอบข้อมูลที่กระทบการเลือกตั้ง การกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 2.อำนวยความสะดวกการรักษาความปลอดภัย 3.การอำนวยการด้านจราจร และ 4.ติดตามก่อน ขณะ หลังการเลือกตั้ง การหาเสียง การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่างๆ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีเรื่องใดให้กังวล เพราะทุกคนอยากก้าวไปข้างหน้าตามแนวประชาธิปไตย แต่ปรากฏการณ์ตื่นตัวของคนไทยต่อการเลือกตั้ง ทำให้ต้องมุ่งเน้นมาบริหารจัดการเรื่องจราจรที่มีกรณีศึกษาจากวันเลือกตั้งล่วงหน้ามาแล้ว

 

          ขณะเดียวกันตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง ได้มีบทบัญญัติให้ ผบ.ตร. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือการจัดการเลือกตั้ง 2 ประเภท ได้แก่ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และ เจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย โดยให้มีอำนาจหน้าที่รักษาความปลอดภัยและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณสถานที่เลือกตั้งและบริเวณโดยรอบ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่อำนวยความสะดวกและจัดระเบียบการจราจร ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติตามที่ กกต.ร้องขอ ฉะนั้นตำรวจแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศต้องจัดกำลังพลพร้อมยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย รวมทั้งการจัดการจราจร และให้การสนับสนุน กกต. ตามแผนงานการจัดการเลือกตั้งที่กำหนด และให้ถือเป็นภารกิจสำคัญของตำรวจทุกหน่วย

 

          ความสงบเรียบร้อย การเลือกตั้งคราวนี้ตำรวจบอกเอาอยู่ หายห่วง ส่วนชะตาประเทศก็อยู่ที่คนไทยผู้มีสิทธิ์เป็นผู้กำหนด..!!
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ