คอลัมนิสต์

รู้จักรอยเลื่อนพะเยา และ 14 รอยเลื่อนมีพลังในไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นับแต่ วันพุธ เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 4.9 ตั้งแต่ช่วงเที่ยงถึงเย็นรวม 18 ครั้ง ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันพฤหัส ที่ 21 กุมภาพันธ์ รวม 26 ครั้ง ไม่น่าจะธรรมดาแล้วนะ?

          วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4.9 ที่ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ช่วงเที่ยงถึงเย็นเป็นระยะๆ รวม 18 ครั้ง

          และต่อเนื่องมาถึงเช้าวันที้ 21 กุมภาพันธ์ รวม 26 ครั้ง อาจไม่อยู่ในกระแสเท่ากับข่าวสารการเมืองที่กำลังร้อนแรง

          แต่เชื่อเหอะว่า เรื่องนี้สำคัญและใกล้ตัวเรามาก เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างก็ได้

          สำหรับสาเหตุหลักของการไหวครั้งนี้ เกิดจากการขยับตัวของ “รอยเลื่อนพะเยา” ที่พาดผ่านตั้งแต่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ลงมาถึงอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง

          โดยการนี้ ข่าวจากเนชั่นทีวีได้สัมภาษณ์ ณัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ที่ได้เปิดเผยว่า แผ่นดินไหว 14 ครั้ง ครั้งนี้ เป็นการขยับของรอยเลื่อนพะเยา ที่รุนแรงในรอบ 40 ปี

          และรุนแรงสุด ขนาด 4.9 แมกนิจูด จุดที่เกิดบางจุดไม่ใช่แหล่งชุมชน ไม่ค่อยมีที่อยู่อาศัย ครั้งที่ลึกที่สุดจากผิวดิน 21 กิโลเมตร

          โดยยืนยันว่า แผ่นดินไหวเกิดเป็นกลุ่มๆ นี้ไม่ใช่อาฟเตอร์ช็อค เพราะอาฟเตอร์ช็อค หรือ แผ่นดินไหวตาม ขนาดจะต้องลดทอนความรุนแรงลงไป และจะต้องทิ้งระยะห่างกัน ในขนาดที่เล็กกว่า

          “แต่แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น สวิงไป สวิงมา การเกิด 14 ครั้ง สันนิษฐานว่าเป็นการขยับตัวของรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่าน พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ที่เป็นกลุ่ม หรือ แขนงรอยเลื่อน หลายรอยแตกร้าว ที่มีหลายพันกิโลเมตร แต่แนวเดียวกัน”

          โดยในการนี้ต้องเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะพฤติกรรมการเกิดเเผ่นดินไหวแบบนี้ ไม่เคยพบเกิดขึ้นในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา และเมื่อเสริมกับข้อมูลที่ว่า รอยเลื่อนพะเยาตอนปลายเคยไหวมาก่อนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.3 ที่ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ดังนั้นรอยเลื่อนพะเยา มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว ปลดปล่อยพลังงาน ได้ถึงรุนแรง 7.0 แมกนิจูดเลยทีเดียว

 

 

รอยเลื่อนคืออะไร

          ในทางธรณีวิทยานั้น รอยเลื่อนเป็นรอยแตกระนาบในหิน ที่หินด้านหนึ่งของรอยแตกนั้นเคลื่อนที่ไปบนหินอีกด้านหนึ่ง รอยเลื่อนขนาดใหญ่ในชั้นเปลือกโลกเป็นผลมาจากการเคลื่อนที่ที่แตกต่างกันหรือเฉือนกันและเขตรอยเลื่อนมีพลัง เป็นตำแหน่งที่ไม่แน่นอนของการเกิดแผ่นดินไหวทั้งหลาย

          ตีความให้แคบเข้ามา รอยเลื่อนคือรอยแตกในหินที่แสดงการเลื่อน สามารถพบได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ขนาดของรอยเลื่อนมีตั้งแต่ระดับเซนติเมตรไปจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร รอยเลื่อนขนาดใหญ่สามารถสังเกตได้ง่ายจากลักษณะภูมิประเทศ อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ รอยเลื่อนอาจถูกฝังอยู่ใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้จากบนพื้นผิวดิน ต้องอาศัยการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ช่วยในการแปลความหมาย รอยเลื่อน จัดแบ่งตามลักษณะการเลื่อนได้เป็น รอยเลื่อนปกติ รอยเลื่อนย้อน และรอยเลื่อนตามแนวระดับ

 

รู้จักรอยเลื่อนพะเยา และ 14 รอยเลื่อนมีพลังในไทย

ตัวอย่างรอยเลื่อน

 

          สามารถแบ่งออกเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) และ รอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง  (Inactive fault) โดยรอยเลื่อนมีพลัง เป็นรอยเลื่อนที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี ซึ่งมักจะพบอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย หรือตามแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก รอยเลื่อนมีพลังมีโอกาสที่จะขยับตัวได้อีกในอนาคต

          รอยเลื่อนไม่มีพลัง คือรอยเลื่อนที่ไม่พบหลักฐานการเลื่อนเป็นเวลานานมากว่า 10,000 ปี แต่ก็ไม่แน่ เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงระบบแรงภายในเปลือกโลกบริเวณนั้น รอยเลื่อนไม่มีพลังอาจจะมีโอกาสขยับตัวได้ในอนาคต 

 

14 รอยเลื่อนมีพลังในไทย

          เชื่อหรือไม่ว่าข้อมูลจากหลายแหล่งสรุปว่า 1 ใน 6 ของประชากรไทยอาศัยอยู่ใกล้กับรอยเลื่อนมีพลังและดังที่รู้กันดีว่า จังหวัดที่มีรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านนั้นมีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคต

          สำหรับรอยเลื่อนมีพลังในไทยนั้น เท่าที่อัพเดทขณะนี้ มีทั้งหมด 14 รอยเลื่อนกระจายอยู่ใน 22 จังหวัด ซึ่งพบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย

          ทั้งนี้ จากที่เคยมี 15 รอยเลื่อน คือ "รอยเลื่อนท่าแขก" พาดผ่าน จ.หนองคายและ จ.นครพนม เคยถูกรวมไว้ในแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับปี 2549 โดยกรมทรัพยากรธรณี ต่อมาได้ถูกตัดออกจากแผนที่ฉบับล่าสุด ส่วน 14 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลังที่เหลือคือ

          1. กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 101 กิโลเมตร

          2. กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน อ.เทิง อ.ขุนตาล และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร

          3. กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 29 กิโลเมตร

          4. กลุ่มรอยเลื่อนเมย วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ พาดผ่านตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายแดนพม่า ต่อไปยังห้วยแม่ท้อ ลำน้ำปิง จ.ตาก ไปถึง จ.กำแพงเพชร, นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่ จ.อุทัยธานี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร

          5. กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านอ.แม่ทา จ.ลำพูน และอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร

          6. กลุ่มรอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน อ.แม่พริก อ.เถิน จ.ลำปาง และอ.วังชิ้น จ.แพร่ ในแนวโค้งในไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 103 กิโลเมตร

 

รู้จักรอยเลื่อนพะเยา และ 14 รอยเลื่อนมีพลังในไทย

          7. กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน อ.งาว จ.ลำปาง และ อ.เมือง จ.พะเยา ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร

          8. กลุ่มรอยเลื่อนปัว พาดผ่านพื้นที่อำเภอสันติสุข อ. ท่าวังผา อ.ปัว อ.เชียงกลาง และ อ.ทุ่งช้าง ของ จ.น่านในแนวเหนือ-ใต้ ด้วยความยาวประมาณ? 130 กิโลเมตร

          9. กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน อ.เมือง อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ อ.นาหมื่น อ.นาน้อย อ.เวียงสา และอ.แม่จริม จ.น่าน ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร

          10. กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่านอ.ทองผาภูมิ และอ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร

          11. กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี อ.ศรีสวัสดิ์ และ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี ในแนวโค้งเล็กน้อยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร

          12. กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่าน อ.หนองไผ่ อ.เมือง อ.หล่มสัก และ อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กับแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้สลับกัน มีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร

          13. กลุ่มรอยเลื่อนระนอง พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่ จ.ระนอง ชุมพร ประจวบ คีรีขันธ์ และพังงา? มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร

          14. กลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน อ.บ้านตาขุน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี อ.ทับปุด อ.เมือง จ.พังงา พาดผ่านไปตามทะเลอันดามัน ระหว่าง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กับ อ.เกาะยาว จ.พังงา ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 148 กิโลเมตร

          นอกจากนี้ยังพบ รอยเลื่อนที่ไม่มีพลังงานแล้ว หรือ ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง คือ กลุ่มรอยเลื่อนแกลง ทอดตัวผ่าน อ.พนัสนิคม, อ.บ้านบึง, อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี อ.วังจันทร์, อ.แกลง จ.ระยอง มีความยาวโดยประมาณ 98 กิโลเมตร และ กลุ่มรอยเลื่อนปัตตานี เป็นรอยเลื่อนที่ต่อมาจากมาเลเซีย เข้ามาในไทยที่บริเวณแม่น้ำสายบุรี จ.ปัตตานี แล้วเลยขึ้นไปทางเหนือของ จ.ปัตตานี

(ข้อมูลจากเวบ http://geothai.net/ และกรมทรัพยากรธรณี)

 

รอยเลื่อนพะเยา เธอคือใคร?

          ตามข้อมูลที่ว่า รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน อ.งาว จ.ลำปาง และ อ.เมือง จ.พะเยา ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร

          ข้อมูลจาก เฟซบุคเพจ The Surveyor บันทึกนักสำรวจที่ 028 กล่าวถึง “รอยเลื่อนพะเยา” ว่า นอกจากจะเป็น 1 ใน 14 รอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นรอยเลื่อนที่มีสองส่วน มีแนวการวางตัวแตกต่างกันและแยกออกจากกันชัดเจน พาดผ่านจังหวัดเชียงราย ลำปาง และพะเยา

 

รู้จักรอยเลื่อนพะเยา และ 14 รอยเลื่อนมีพลังในไทย

ภาพจากเฟซบุคเพจ The Surveyor 

 

          ส่วนแรกเป็นรอยเลื่อนซีกใต้ (เส้นสีเหลือง) มีการวางตัวในแนวเกือบทิศเหนือ-ใต้ ค่อนมาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งปรากฏอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของขอบแอ่งพะเยา บริเวณเขตรอยต่อระหว่าง อ.พาน จ.เชียงราย อ.แม่ใจ อ.เมือง จ.พะเยา และอ.วังเหนือ จ.ลำปาง มีความยาวประมาณ 35 กิโลเมตร แสดงลักษณะของผารอยเลื่อนหลายแนวและต่อเนื่องเป็นแนวตรงหันหน้าไปทิศตะวันออก บริเวณอ.วังเหนือ จ.ลำปาง มีผารอยเลื่อนที่สูง 200 เมตร ทางน้ำสาขาต่างๆ ที่ตัดผ่านผารอยเลื่อนนี้ แสดงร่องรอยกัดเซาะลงแนวดิ่งลึกมากจนถึงชั้หินดานซึ่งแสดงว่ารอยเลื่อนยังคงมีพลังไม่หยุดนิ่งจวบจนปัจจุบัน

 

รู้จักรอยเลื่อนพะเยา และ 14 รอยเลื่อนมีพลังในไทย

ภาพจากเฟซบุคเพจ The Surveyor 

 

          อีกส่วนรอยเลื่อนทางตอนเหนือ(เส้นสีแดง) มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ที่พาดผ่าน อ.แม่สรวย ถึงอ.แม่ลาว จ.เชียงราย ซึ่งกลุ่มรอยเลื่อนพะเยานี้ แบ่งเป็น 17 รอยเลื่อนย่อยอีกด้วย เช่น รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนเมืองปาน ฯลฯ

 

 

ผลงานรอยเลื่อน

 

          ข้อมูลจาก "รายงานการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณประเทศไทย และพื้นที่ใกล้เคียง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560" โดยสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ระบุดังนี้

 

กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน

          ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0- 4.0 แมกนิจูด จำนวน 10 ครั้ง และมีขนาด 4.0-4.5 จำนวน 3 ครั้ง บริเวณบ้านเวียงหนองหล่ม (เชื่อว่าเป็นเมืองโยนกนคร)

          16 พฤษภาคม 2550 แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่วัดได้ตามแนวรอยเลื่อนนี้ มีขนาด 6.3 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดในพื้นที่สปป.ลาว มีสาเหตุมาจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จันในส่วนของสปป.ลาว ความเสียหาย ทาให้ผนังอาคารหลายหลังในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหายและที่เสียหายมากบริเวณ เสาอาคารเรียนโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม อ.เมือง จ.เชียงราย

 

กลุ่มรอยเลื่อนแม่อิง

          ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0 – 4.1 แมกนิจูด จำนวน 5 ครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหวขนาด 4.1 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2554 ประชาชนในหลายอำเภอรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของพื้นดิน

 

กลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน

          1 มีนาคม 2532 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในประเทศพม่า ประชาชนรู้สึกถึงความสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

 

กลุ่มรอยเลื่อนแม่ทา

           21 ธันวาคม 2538 พบว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.2 มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ อ.พร้าว ประชาชนรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนได้ใน จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน

          13 ธันวาคม 2549 มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ด้วย ขนาด 5.1 แมกนิจูด แรงสั่นสะเทือนทำให้บ้านเรือนมีผนังร้าวในหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่

 

กลุ่มรอยเลื่อนเถิน

          นับย้อนหลังไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ของกลุ่มรอยเลื่อนเถิน ด้วยขนาด 3.0-5.0 จำนวนมากกว่า 20 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อยมาก

 

กลุ่มรอยเลื่อนปัว

          13 พฤษภาคม 2478 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ในบริเวณรอยต่อของประเทศไทย-สปป.ลาวซึ่งเชื่อว่าเป็นอิทธิพลของการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนปัว

 

กลุ่มรอยเลื่อนอุตรดิตถ์

          25 มิถุนายน 2541 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.2 ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก มีศูนย์กลางเกิดอยู่บริเวณ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ประชาชน รู้สึกได้หลายอำเภอ รวมทั้ง อ.เมืองอุตรดิตถ์

 

กลุ่มรอยเลื่อนเมย

          17 กุมภาพันธ์ 2518 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.6 มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่บ้านท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง ประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

 

กลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์

          22 เมษายน 2526 ได้เกิดแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ใกล้ลำห้วยแม่พลู เกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ ด้วยขนาด 5.9 แมกนิจูด แรงสั่นสะเทือนถึงกรุงเทพมหานคร และมีแผ่นดินไหวตามเกิดขึ้นอีกมากกว่าร้อยครั้ง

 

กลุ่มรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ 

 

          14 กรกฎาคม 2558 แผ่นดินไหว ขนาด 4.8 แมกนิจูด ที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี่

          20 สิงหาคม 2558 ขนาด 4.5 แมกนิจูด ที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ. กาญจนบุรี

          และ 31 มกราคม 2561 เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 3.3 แมกนิจูด ที่ระดับความลึก 4 กม. ศูนย์กลางบริเวณต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี พบว่า ประชาชนไม่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว และไม่มีรายงานความเสียหาย

 

กลุ่มรอยเลื่อนระนอง 

          27-28 กันยายน 2549 มีรายงานแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในอ่าวไทยมีขนาด 4.1-4.7 จำนวน 6 ครั้ง

          8 ตุลาคม 2549 มีขนาด 5.0 จำนวน 1 ครั้ง ประชาชนในหลายท้องที่รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของ พื้นดิน ได้แก้ อ.หัวหิน อ.สามร้อยยอด อ.กุยบุรี อ.ปราณบุรี อ.บางสะพาน อ.ทับสะแก ของจ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ชะอำ อ.ท่ายาง ของ จ.เพชรบุรี

          4 มิถุนายน 2555 แผ่นดินไหวเกิดขึ้นใน เขตพื้นที่อ.เมือง จ.ระนอง ขนาด 4.0 แมกนิจูด ประชาชนรู้สึกสั่นไหวในพื้นที่ ต.เขานิเวศน์ ต.บางนอน อ. เมืองระนอง

 

รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

          23 ธันวาคม 2551 แผ่นดินไหวที่ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ขนาด 4.1 แมกนิจูด

          16 เมษายน 2555 เกิดแผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ขนาด 4.3

          25 มีนาคม 2558 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.8 บริเวณนอกชายฝั่งทางทิศตะวันออกของจังหวัดภูเก็ต ทำให้บ้านเรือนประชาชนเสียหายบางส่วนหลายหลัง ประชาชนทั่วทั้งเกาะภูเก็ตรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

 

กลุ่มรอยเลื่อนเพชรบูรณ์

          12 ตุลาคม 2533 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.0 ประชาชนรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนใน อ.หล่มสัก และ อ.หล่มเก่า

 

กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา

          ในอดีตบริเวณนี้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงขนาดปานกลางบ่อยครั้งมาก เช่น

           11 กันยายน 2537 มีศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในเขต อ.พาน จ.เชียงราย ความรุนแรงขนาด 5.2 ริกเตอร์ ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก กับ โรงพยาบาลอำเภอพาน จนต้องทุบทิ้งสร้างใหม่ รวมทั้งส่งผลกระทบกับวัดและโรงเรียนต่างๆ

          นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในปี พ.ศ. 2538 และ 2539 ในพื้นที่จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย

          และ 5 พฤษภาคม 2557 เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 19.68 องศาเหนือ ลองติจูด 99.69 องศาตะวันออก ที่ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย

          ประชาชนสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนทั่วทั้งภาคเหนือ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในอาคารสูงในกรุงเทพฯ และมีความเสียหายรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัศมีประมาณ 30 กิโลเมตร จากศูนย์กลางแผ่นดินไหว

         ครั้งนั้นเองที่ทำเอานักธรณ๊วิทยาหลายคนตกใจ เพราะเคยคิดว่ารอยเลื่อนพะเยาเป็นม้านอกสายตามาตลอด นับเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมากในรอบ 60 ปี ที่ผ่านมา หากจำกันได้ครั้งนั้น “วัดร่องขุ่น” จ.เชียงราย ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ยังได้รับผลกระทบเสียหายทั้งยอดเจดีย์และภายในโบสถ์อีกด้วย

        กระทั่งล่าสุด 20 ก.พ.2562 ที่ระบุว่ารุนแรงในรอบ 40 ปี ต้องจับตาดูกันต่อไป และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงควรระวังตัวให้มากที่สุด

/////////////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://geothai.net

กรมทรัพยากรธรณี

เอกสาร รายงานการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณประเทศไทย และพื้นที่ใกล้เคียง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 โดยสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว

เพจ The Surveyor

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ