คอลัมนิสต์

"กองทัพ-เพื่อไทย" ไม้เบื่อไม้เมา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... ถอดรหัสลายพราง   โดย... พลซุ่มยิง

 

 

          ตัดงบประมาณกระทรวงกลาโหม 10 เปอร์เซ็นต์ ยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารและไล่ทหารที่เกษียณอายุราชการออกนอกพื้นที่หลวง คือหนึ่งในเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทยเพื่อหวังกอบโกยคะแนนเสียงจากประชาชนในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอีก 1 เดือนข้างหน้า 24 มีนาคมนี้

 

 

          จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรค นำประเด็นดังกล่าวขึ้นมาชูเป็นนโยบาย เพราะไม่ใช่แค่การทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพเท่านั้น  แต่อาจบอกได้ว่า นี่คือ การกระทบไปยังรัฐบาล คสช. ด้วยเช่นกัน


          ไม่ต่างจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ อีก 2 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรค ที่ร่วมหัวจมท้ายเพื่อหวังปิดเกมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง จึงประโคมนโยบายกระทบไปยังกองทัพ เพราะหากกระทบกับสถาบันกองทัพก็อาจบอกได้ว่ากระทบไปถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


          โดยเฉพาะปฏิกิริยาของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ที่นอกจากสวมหมวกเป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.แล้ว  แต่ยังหมายถึงการทำหน้าที่ควบคุมดูแลสถานการณ์บ้านเมืองภายใต้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กกล.รส. ที่แสดงอาการไม่พอใจ ตั้งแต่อย่าล้ำเส้น จนมาถึงวาทกรรมเด็ด “หนักแผ่นดิน” ที่เป็นชื่อเพลงปลุกใจในอดีต


          และอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ กลายเป็นที่มาของคำสั่งให้กองทัพบกหน่วยทหารทั่วประเทศ และ 126 สถานีวิทยุในเครือข่าย เปิดเพลงปลุกใจให้รู้หน้าที่ของกำลังพลในกองทัพ ด้วยเพลง “หนักแผ่นดิน, มาร์ช ทบ. และความฝันอันสูงสุด” คือ 3 เพลงที่จะถูกนำมาเปิดให้กำลังพลฟัง ในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น หรือช่วงเวลาก่อนกลับบ้าน คล้ายเป็นการส่งสัญญาณตอบโต้นโยบายเอาคืนกองทัพของฝ่ายการเมือง




          แม้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ จะประกาศวางตัว และจุดยืนกองทัพเป็นกลางทางการเมือง แต่เมื่อสถานการณ์ที่ต้องบอกว่า อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองและประเทศกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่รัฐบาลเลือกตั้ง ที่ทุกอย่างต้องอยู่ในความสงบ และทุกพื้นที่ต้องปลอดภัยเพื่อรองรับการเลือกตั้ง


          ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา กองทัพถูกผลักให้ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทย พร้อมๆ กับพรรคเครือข่ายนายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาคดีที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะและกลับมามีอำนาจบารมีจนเกิดวิกฤติการเมืองหลายครั้ง เป็นเหตุให้เกิดการปะทะของทั้งสองฝ่ายจนบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน


          ในช่วงหนึ่งกองทัพ-เพื่อไทย เคยเล่นบทสมานฉันท์ ในยุครัฐบาล สมัคร สุนทรเวช กับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา 


          และที่เด่นชัดมากที่สุด คือยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาพนั่งรถ ขึ้นเครื่องบิน ล่องเรือ ที่ร่วมผนึกกำลังแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ยังติดตาประชาชน แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด เมื่อเกิดวิกฤติการเมืองอีกครั้งและทำให้เกิดรัฐประหารครั้งล่าสุด


          อย่างไรก็ตาม งบประมาณกระทรวงกลาโหม มีการปรับลด-เพิ่ม มาตลอด ไม่เฉพาะแค่ในช่วงที่รัฐบาล คสช.ขึ้นมาบริหารประเทศเท่านั้น โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 70% ค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการภายในกองทัพ ที่รวมไปถึงเงินเดือน สวัสดิการ ส่วนอีก 30% การลงทุนใช้จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และปรับโครงสร้างของกองทัพ


          นอกจากนี้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องมีการลดกำลังคน หรือลดค่าใช้จ่ายและลดความรั่วไหล และไปเพิ่มงบลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ที่มีผลบังคับใช้ และถ้าจะลดงบประมาณเพิ่มอีก 10% ตามที่เพื่อไทยเสนอผลกระทบที่ตามมา ทั้งงบบริหารจัดการ สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล และเงินเดือนหรือแม้แต่การจัดซื้ออาวุธของกองทัพเอง


          แม้ว่ากระทรวงกลาโหมจะไม่เปิดเผยยอดกำลังพลเนื่องจากเป็นชั้นความลับแต่หากเทียบเคียงก็ไม่ต่างจากข้อมูลของสถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษา หรือ IISS จากประเทศอังกฤษ ที่ระบุว่า ยอดทหารไทยในส่วนของกองทัพบก 245,000 นาย กองทัพเรือ 69,850 นาย กองทัพอากาศ 46,000 นาย หรือยอดรวมทั้งหมด 360,850 นาย ขณะที่ทหารพรานและส่วนอื่นๆ อีก 93,700 และมีกองหนุน 200,000 นาย 


          ถ้าเทียบกับเวียดนาม ที่มีกำลังประมาณ 480,000 กองหนุนมี 5,000,000 นาย โดยเฉพาะในส่วนของกองทัพบก 410,000 นาย ส่วนพม่า 406,000 นาย อินโดนีเซีย 395,000 และมีกำลังสำรองอีก 400,000 นาย ส่วนกำลังพลมีน้อยคือกองทัพสิงคโปร์ และมาเลเซีย เนื่องจากพรมแดนสั้นกว่าประเทศไทย

 

          ทั้งนี้พื้นฐานที่มีการจัดวางกำลังพลในแต่ละส่วนของกองทัพไทยเป็นการคำนวณจาก 3 ส่วนภารกิจงาน คือ 1.ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกประเทศ 2.ประวัติศาสตร์ และ 3.สภาพภูมิประเทศ ที่จากเดิมภัยคุกคามภายนอกประเทศที่หมายถึงเพื่อนบ้านมีจำนวนมาก โดยเฉพาะภารกิจป้องกันพรมแดน ที่มาจากทางบกที่ทำให้กองทัพบกมีกำลังขนาดใหญ่ในการดูแลรักษาความมั่นคงภายใน รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้


          เมื่อเทียบเคียงกับศักยภาพ และการปฏิบัติการของแต่ละประเทศทั้งเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และการรบ กองทัพสิงคโปร์ ถูกจัดวางเป็นอันดับ 1 ส่วนมาเลเซีย จัดวางเป็นอันดับสอง และ อินโดนีเซีย อยู่ที่อันดับที่สาม ขณะที่กองทัพไทย อยู่อันดับที่ 4 หรือบางครั้งก็ตกอันดับไปอยู่ที่ 5 ที่เป็นอันดับของกองทัพเวียดนาม ขณะที่กองทัพบรูไน ลาว กัมพูชา และพม่า ยังคงรั้งท้าย


          จากการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมก็มีแผนเดินหน้าในการลดขนาดของกองทัพ แต่อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยน เมื่อเข้ากับกรอบใหม่ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพตามยุทธศาสตร์ชาติ 26 ด้าน จะมีความชัดเจนมากขึ้นและยุทธศาสตร์จะต้องบังคับวิถีของกองทัพอีกด้วย  ส่วนการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร มาเป็นสมัครใจนั้น ทางกระทรวงกลาโหมมีการจัดทำและคิดคำนวณรายละเอียด พบว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งเงินเดือนและสวัสดิการ


          นโยบายตัดงบ-ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ที่ “เพื่อไทย” ปลุกเสกขึ้นมาจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวมจริงหรือไม่ หรือแค่เกมหาเสียง หวังเขย่ากองทัพให้สั่นคลอน กระทบชิ่ง รัฐบาล-คสช. !!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ