คอลัมนิสต์

งบกลาโหมยุค คสช.พุ่งติดท็อปโฟร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ล่าความจริง..พิกัดข่าว  โดย... ปกรณ์  พึ่งเนตร 


 

          ต้นเรื่องของวิวาทะ “หนักแผ่นดิน” คือการชูนโยบายตัดงบกลาโหม “กรุงเทพธุรกิจ” พาไปย้อนดูว่าตลอดเกือบ 5 ปีที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ทิศทางของบกระทรวงกลาโหมเป็นอย่างไร

 

 

          คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเริ่มจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบันรวมแล้ว 5 ปีงบประมาณ ปรากฏว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมสูงขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละเกือบๆ หมื่นล้าน


          ย้อนกลับไปงบประมาณปี 2557 ก่อน คสช.ยึดอำนาจ งบกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท จากนั้นเมื่อรัฐบาล คสช.เข้ามาจัดทำงบปี 2558 ปรากฏว่างบกลาโหมพุ่งสูงขึ้นเป็น 1.92 แสนล้านบาท หรือเกือบ 1 หมื่นล้าน ปี 2559 เพิ่มต่อเนื่องเป็น 2.06 แสนล้านบาท ปี 2560 ขยับเป็น 2.13 แสนล้านบาท ปี 2561 ก็ยังคงมีทิศทางขาขึ้น เป็น 2.20 แสนล้านบาท และล่าสุดปีงบประมาณ 2562 งบกลาโหมอยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท

 

 

งบกลาโหมยุค คสช.พุ่งติดท็อปโฟร์

 


          ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปเรียบร้อยแล้ว กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบสูงเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มกระทรวงและหน่วยงานอื่นที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง รวม 20 หน่วยงาน โดยกระทรวงที่ได้รับจัดสรรงบสูงกว่ามีเพียงกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังเท่านั้น ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ยังได้รับงบน้อยกว่ากระทรวงกลาโหม


          ในยุครัฐบาลคสช. ยังเป็นอีกยุคหนึ่งที่มีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ราคาแพงจำนวนหลายรายการ แม้บางรายการจะเป็นโครงการที่ทำสัญญาและผูกพันงบประมาณมาก่อนการยึดอำนาจก็ตาม แต่ในช่วงที่คสช.มีอำนาจ ก็ยังมีการจัดซื้อเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก โดยช่วงต้นๆ ของรัฐบาลเน้นซื้อยุทโธปกรณ์จากจีน ต่อมาในช่วงกลางและช่วงปลายของรัฐบาลเริ่มหันไปซื้อยุทโธปกรณ์จากสหรัฐ มหามิตรเก่าของไทย




          ยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อจากจีนที่สำคัญก็เช่น รถถัง VT-4 จำนวน 1 กองพัน 49 คัน งบรวม 9,000 ล้านบาท เรือดำน้ำรุ่น S-26T ลำแรก 13,500 ล้านบาท ทั้งโครงการ 3 ลำ 36,000 ล้านบาท รถเกราะล้อยาง รุ่น VN-1 จำนวน 34 คัน งบ 2,300 ล้านบาท


          ส่วนยุทโธปกรณ์ที่ซื้อจากสหรัฐที่สำคัญก็เช่น เฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์ก จำนวน 4 ลำ ไม่ระบุราคารวม แต่ราคาต่อลำราวๆ 700 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีขีปนาวุธระบบฮาร์พูน ที่ใช้ติดตั้งบนเรือผิวน้ำอีก 800 ล้านบาทด้วย


          จากประเทศไทยบ้านเราเองหันไปดูงบกลาโหมของชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้กันบ้าง ซึ่งหากนับเฉพาะอาเซียนด้วยกัน ทิศทางการเพิ่มของงบทหาร หรืองบด้านการป้องกันประเทศก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเพิ่มกันถ้วนหน้าแทบทุกประเทศ


          ข้อมูลจากเว็บไซต์ “อีสต์ เอเชีย ฟอรั่ม” เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว ระบุว่า ในขณะที่หลายภูมิภาคของโลกพากันลดงบประมาณทางทหารลง แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับสวนทาง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเมื่อ 15 ปีที่ก่อน โดยเฉพาะอินโดนีเซียกับไทยที่งบประมาณด้านการป้องกันประเทศเติบโตขึ้นเฉลี่ย 10% แบบปีต่อปี


          งบประมาณด้านการป้องกันประเทศถูกใช้ไปกับการซื้อเรือฟริเกต รถถัง เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินรบ และเรือดำน้ำ โดยเวียดนามนำเข้าอาวุธเพิ่มขึ้นเกือบ 700% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระโดดจากผู้นำเข้าอาวุธมากที่สุดในโลกอันดับที่ 43 ไปติดอันดับท็อปเท็นเลยทีเดียว


          การแข่งขันกันด้านอาวุธมีปัจจัยจากการผงาดขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเฟดตัวออกไปของสหรัฐ และการพิพาทกันเองระหว่างประเทศในอาเซียน รวมถึงปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาค


          ขณะที่ข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติ หรีอ SIPRI ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระว่าด้วยความมั่นคงระหว่างประเทศ การใช้อาวุธและการลดอาวุธในประเทศต่างๆ ระบุว่าในปี 2560 ประเทศไทยตั้งงบในภารกิจป้องกันประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ