คอลัมนิสต์

หยุดเชื้อเอดส์ ...ด้วยยาฟรี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หยุดเชื้อเอดส์ ...ด้วยยาฟรี : รายงาน โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ




          วันเอดส์โลก (World AIDS Day) ถูกกำหนดเป็นวันที่ “1 ธันวาคม” ของทุกปี เพื่อช่วยรณรงค์กระตุ้นให้ประชากรทั่วโลกเกิดความรู้ความเข้าใจในเชื้อไวรัสเอชไอวีมากขึ้น แทบไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์พบผู้ป่วยไวรัสเอดส์หรือเอชไอวีครั้งแรกเมื่อประมาณ 40 ที่แล้ว เชื้อตัวนี้คร่าชีวิตผู้ป่วยไปมากกว่า 30 ล้านคน...

 

 

          เป็นที่น่ายินดีว่า เทคโนโลยีการแพทย์บวกกับความรู้ที่ทันสมัยมากขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตัวนี้สามารถอยู่ร่วมกับพวกเราในสังคมได้อย่างปกติสุข ไม่ต่างจากผู้ป่วยเรื้อรังโรคอื่นๆ...


          โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ เผยแพร่ข้อมูลปี 2561 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อเอดส์ประมาณ 36 ล้านคน ในแต่ละปีพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เกือบ 2 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 1 ล้านคน เทียบกับตัวเลข 5 ปีที่แล้ว ปี 2554 มีจำนวน 34 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าตัวเลขเริ่มลดน้อยลงแล้ว เนื่องจากการคิดค้นยาต้านไวรัสเอดส์และรัฐบาลทั่วโลกจับมือกันพยายามส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างทั่วถึง ประมาณการว่ามีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคนสามารถเข้าถึงยาต้านแล้ว
 

 

 

หยุดเชื้อเอดส์ ...ด้วยยาฟรี

 

 

          สาเหตุที่ต้องพยายามให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีให้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีการเดียวที่ได้ผลในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคตัวนี้ ผลวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่รับยาต้านอย่างสม่ำเสมอและกินถูกวิธี เกือบทั้งหมดหรือมากกว่าร้อยละ 80 แทบตรวจไม่พบเชื้อในกระแสเลือด หรือถ้าพบก็เป็นปริมาณเชื้อไวรัสที่ต่ำมากๆ ทำให้การป้องกันไม่ให้เผยแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้ผลอย่างดี หมายความว่าแม้คนป่วยจะยังมีเชื้อในร่างกายแต่ก็ไม่มีมากพอที่จะส่งต่อหรือเผยแพร่ให้คู่รักหรือคนอื่น
 

          สำหรับประเทศไทยนั้น วันเอดส์โลก 2561 กรมควบคุมโรคกำหนดคำขวัญประจำปีนี้ว่า “Know Your Status :ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” หากใครรู้ว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง ให้รีบไปตราจให้เร็วที่สุด และถ้าพบเชื้อก็รีบไปกินยารักษา ให้แพทย์ดูแลไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย


          ข้อมูลในปี 2560 ประมาณการว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 4.4 แสนคน ในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่ 5,500 คน เป็นผู้รับรู้ว่าตัวเองติดเชื้อร้อยละ 98 และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแล้วร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับตัวเลข 5 ปีที่แล้วพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงกว่าครึ่ง จากปีละ 1 หมื่นคน เฉลี่ยวันละ 27 คน เหลือเพียงวันละ 15 คน




          กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะ “ยุติปัญหาเอดส์ ปี 2573” เพื่อสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สากลของสหประชาชาติ ที่กำหนดให้ทั่วโลกช่วยกัน “3 ลด” ได้แก่ 1.ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 2.ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3.ลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาพ โดยของไทยประกาศเจตนารมณ์กำหนดเป็นตัวเลขชัดเจนเลยว่าภายในปี 2573 จะลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เหลือปีละไม่เกิน 1,000 คน ลดการเสียชีวิตเหลือปีละไม่เกิน 4,000 คน และลดการรังเกียจ หรือการเลือกปฏิบัติ อันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวี และเพศสภาพ ลงให้ได้ร้อยละ 90


          สภากาชาดไทยและภาคีเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จับมือตกลงกันว่าจากนี้ไปจะให้ความร่วมมือในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีทั่วประเทศไทย โดยเน้นย้ำเป็นพิเศษว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องไม่ถูกกีดกันสิทธิการเข้าถึงการจ้างงาน ทั้งในหน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชน และต้องส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อเพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติ


          โดยเฉพาะความรู้ที่ถูกต้องว่า “การติดเชื้อมีเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ 1.การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย และ 2.การใช้เข็มฉีดยาโดยเฉพาะเข็มยาเสพติดร่วมกัน”


          ล่าสุดมีข่าวดีจาก “องค์การเภสัชกรรม” ประกาศเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่า “ยาต้านไวรัสเอดส์ เอฟฟาไวเรนส์ 600 มิลลิกรัม” ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมได้รับการรับรองมาตรฐานสากล (WHO PQ) จากองค์การอนามัยโลกเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นยารายการแรกของไทยและของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับการรับรองขึ้นบัญชียา หมายความว่าต่อไปนี้องค์กรสาธารณสุขทั่วโลกสามารถสั่งซื้อยาจากไทยได้โดยตรง


          การรับรองนี้แสดงให้เห็นถึงข่าวดีที่ไทยสามารถยกระดับการผลิตยาให้ได้มาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ ปัจจุบันยาตัวนี้ถูกแจกจ่ายให้แก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีประมาณ 8 หมื่นคน เพื่อช่วยลดปริมาณเชื้อเอชไอวีและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้นองค์การเภสัชกรรมเตรียมขยายการผลิตเพื่อรองรับตลาดทั่วโลก โดยพัฒนาโรงงานผลิตยารังสิตเฟส 2 ในงบประมาณเกือบ 5.6 พันล้านบาท เริ่มก่อสร้างเดือนมกราคม 2562

 

 

หยุดเชื้อเอดส์ ...ด้วยยาฟรี

 


          “กมล อุปแก้ว” ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของผู้ติดเชื้อมานานกว่า 20 ปี เปิดใจให้ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ฟังว่า ในวันนี้หากมองภาพรวมแล้ว คนไทยยอมรับผู้ติดเชื้อเอดส์ได้มากกว่าในอดีตมาก ไม่มีการแสดงท่าทางรังเกียจหรือหวาดกลัวเหมือนหลายสิบปีก่อน เพราะว่าคนไทยเริ่มมีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อไวรัสตัวนี้มากขึ้น และรู้ว่าไม่ได้ติดต่อกันง่ายดาย ที่สำคัญคือผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าถึงยาต้านเอชไอวี ทำให้รูปลักษณ์ทางกายภาพหรือหน้าตาของผู้ติดเชื้อไม่ได้ดูแตกต่างจากคนทั่วไป


          “ผมก็ต่อสู้เรื่องสิทธิ เรื่องการได้ยาอย่างทั่วถึงมานานตั้งแต่ปี 2540 ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลง แต่กลุ่มเสี่ยงยังมีอยู่ในกลุ่มชายรักชายหรือกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ส่วนการรังเกียจหรือความเข้าใจผิดในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ติดเชื้อก็ดีขึ้นเยอะ แต่ไม่ได้หมายความว่าหมดไป เพราะยังมีคนเข้าใจผิดๆ อีกมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดไกลๆ ที่ชาวบ้านยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร และเป็นพื้นที่ซึ่งไม่ค่อยมีหน่วยงานรัฐหรือเอ็นจีโอเข้าไปสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ พวกเราอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันลงทำงานในพื้นที่ชายขอบ เพื่อให้ได้ผลเหมือนพื้นที่ในเมืองทั่วไป”


          กมล ยอมรับว่า นโยบายของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เน้นย้ำการเข้าถึงยาต้านอย่างทั่วถึง มีการแจกฟรีทั้งในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถมีชีวิตในสังคมเหมือนคนปกติทั่วไปได้ แม้ว่ายังมีความเหลื่อมล้ำในชนิดของยาที่ให้แก่ 3 กองทุน คือ กองทุนข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และบัตรทอง 30 บาท


          “อยากให้รัฐบาล คสช. ช่วยให้เกิดความเท่าเทียมกัน เพราะตอนนี้สมาชิกแต่ละกองทุนได้ยาที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ข้าราชการได้ดีสุด รองลงมาก็ประกันสังคม และสุดท้ายคือชาวบ้านทั่วไปที่ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เงินงบประมาณจ่ายยาตรงนี้แค่ปีละ 3 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น ถูกกว่าซื้ออาวุธบางประเภทด้วยซ้ำ และช่วงนี้มีกระแสข่าวว่าจะให้ผู้ติดเชื้อบางคนจ่ายเงินร่วมด้วย ไม่ได้ให้ฟรีทุกคนเหมือนเดิม ตรงนี้น่ากลัวมาก เพราะอาจส่งผลให้หลายคนตัดสินใจเลิกกินยาหรือไม่ยอมไปโรงพยาบาลเพื่อรับยา เพราะไม่มีเงิน หรือไปรับยาแบบไม่สม่ำเสมอ บางคนรายได้ไม่แน่นอน จะกลายเป็นข้อเสียให้เกิดปัญหาเชื้อเอดส์ดื้อยามากขึ้น หรือกลายเป็นผู้เผยแพร่เชื้อออกสู่คนอื่น สุดท้ายอยากเรียกร้องคนไทยด้วยกันคือ อย่าไปกีดกันผู้ติดเชื้อเอดส์ในการทำงาน เพราะยิ่งพวกเขามีงานทำก็จะยิ่งไม่เป็นภาระให้ครอบครัวหรือสังคม”

 

หยุดเชื้อเอดส์ ...ด้วยยาฟรี

 

 

          ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีกล่าวย้ำทิ้งท้ายไว้ถึงวิธีการป้องกันเชื้อเอชไอวีที่ดีที่สุดคือ หากพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีต้องรีบสนับสนุนให้เข้าถึงการตรวจรักษา คนที่ได้รับยาเร็ว รักษาเร็ว จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงเหมือนคนทั่วไป ไม่เป็นตัวการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นนโยบายรัฐบาลที่จะทอดทิ้งหรือสร้างความลำบากให้ผู้ติดเชื้อ สุดท้ายจะกลายเป็นดาบสองคม ทำให้พวกเขาให้ยิ่งหนีหายเข้าไปหลบอยู่ในมุมมืด 


          ในเมื่อวันนี้ “องค์การเภสัชกรรมของไทยผลิตยาต้านไวรัส” จนมีชื่อเสียงได้รับการรับรองระดับโลกไปแล้ว ดังนั้นนโยบายหรือแนวคิดที่จะให้คนไทยจ่ายเงินซื้อยาคงต้องรีบพับเก็บใส่กระเป๋า


          ...แล้วเปลี่ยนมาเป็นพยายามให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีโอกาสเข้าถึงยาจาก 75 เปอร์เซ็นต์เป็น 100 เปอร์เซ็นต์ จะได้ใจประชาชน และช่วยลดตัวเลขแพร่เชื้อเอดส์ได้มากกว่า !?!


          โวย ! สิทธิบัตรผูกขาดยาเอดส์
          28 พฤศจิกายน 2561 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เดินทางไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทวงถามความคืบหน้าหลังยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรยาต้านไวรัสเอชไอวี และยารักษาไวรัสตับอักเสบซีจำนวน 5 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2558 แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการเข้าถึงยารักษา


          “นิมิตร์ เทียนอุดม” ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร้องเรียนว่า ผ่านมา 3 ปีแล้วยังไม่มีความชัดเจน หากกรมทรัพย์สินฯ รีบพิจารณาว่า “ไม่มีสิทธิ” บริษัทยาอื่นๆ จะได้เริ่มผลิตยาแล้วทำให้เกิดการแข่งขัน ราคายาจะถูกลง ถ้าไม่มีการผูกขาดจะช่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
“มีข้อมูลเชื่อได้ว่าคำขอทั้ง 5 ฉบับนี้ไม่เข้าข่ายได้รับสิทธิบัตร เพราะยาไม่ได้เป็นตัวใหม่จริง หรืออาจนำยาเก่ามารวมเม็ดใหม่ การมีสิทธิบัตรจะทำให้ยามีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อชีวิตคนป่วย ขอเรียกร้องให้รีบชี้แจงว่าทำไมล่าช้า ควรแสดงความรับผิดชอบ และต้องรีบแก้ไขระบบฐานข้อมูลกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้สามารถสืบค้นได้อย่างสะดวก ถูกต้อง ครบถ้วนมากกว่านี้”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ