คอลัมนิสต์

ยุทธศาสตร์ 2 ขา !! "เพื่อไทย - เพื่อธรรม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เพื่อไทย เพื่อธรรม...ยุทธศาสตร์ 2 ขา สู้กติกาเลือกตั้งใหม่

 

                ด้วยกติกาใหม่ครั้งแรกในโลก คือ การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อเลือก ส.ส.ทั้งสองระบบ หรือชื่อเรียกทางการที่ให้เกิดอาการงุนงงสงสัย คือ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ทำให้ทุกพรรคการเมืองต้องงัดสารพัดกลยุทธ์มารับมือ

                พูดกันตามตรงกันต้องบอกว่ากติกานี้คิดขึ้นมาเพื่อ “เตะตัดขาพรรคใหญ่” โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เพื่อไม่ให้มีโอกาสได้ ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งของสภาอย่างที่เคยทำได้

                แต่แน่นอนว่าในกติกาใหม่นี้ นอกจาก “พรรคใหญ่” ที่เสียเปรียบและต้องคิดหาสารพัดหนทางเพื่อมาต่อสู้ ในส่วนที่ไม่ใช่พรรคใหญ่ก็ต้องหาหนทางของตัวเองเช่นกัน

                สำหรับพรรคเพื่อไทยที่ทั้งคนในและคนนอกพรรคมองตรงกันว่า ไม่ว่ากติกาจะเปลี่ยนไปอย่างไร พรรคนี้ก็คงได้ ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่งเหมือนเดิม เพียงแต่จะเป็นที่หนึ่งแบบไหน เป็นที่หนึ่งแล้วจะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลหรือไม่ กลยุทธ์ในการต่อสู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

                ด้วยกติกาใหม่คนในพรรคเพื่อไทยก็ยอมรับว่าครั้งนี้น่าจะยากที่พรรคจะได้ ส.ส.มาเกินครึ่งคือ 250

                ดูจากสถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา นับล่าสุดที่การเลือกตั้งปี 2554 ครั้งที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาถือธงนำ ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทยชนะมาแบบถล่มทลาย ได้ ส.ส.เขต 204 ที่นั่ง และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อีก 61 ที่นั่ง รวมเป็น 265 เสียง

 

ยุทธศาสตร์ 2 ขา !! "เพื่อไทย - เพื่อธรรม"

                คิดจากฐานคะแนนเก่า โอกาสที่จะรักษาที่นั่ง ส.ส.เขต 204 เสียงเดิมไว้ น่าจะยาก เพราะอดีต ส.ส.จำนวนหนึ่งโดนพลังดูดไปแล้ว ขณะที่ในส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จากสูตรคำนวณคะแนนแบบใหม่ ที่เอาคะแนนที่พรรคได้จากผู้สมัครทุกเขตจากทั่วประเทศไปรวมกัน แล้วหารออกมาเป็นจำนวน ส.ส. ที่พรรคสามารถมีได้ โดยลบจำนวน ส.ส.เขตที่ได้ไปแล้ว ทางพรรคเพื่อไทยประเมินว่าพรรคน่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มมาอีกอย่างมากไม่เกิน 20-30 คน

                บวกกันแล้ว ที่นั่ง ส.ส.มากที่สุดที่ทางพรรคเพื่อไทยจะได้ทั้ง 2 ระบบ น่าจะไม่เกิน 220 ที่นั่ง ไม่ถึงครึ่ง !!

                แต่เป้าหมายของพรรคเพื่อไทยคือต้องการเสียงมากกว่าครึ่ง เพื่อเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

                ยุทธศาสตร์ที่มีการเคาะออกมาล่าสุด คือ ยุทธศาสตร์ 2 ขา

                เดิมยุทธศาสตร์ 2 ขาของเพื่อไทย คือ ขาในสภาและขามวลชน แต่ 2 ขาครั้งนี้หมายถึง 2 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อธรรม

 

ยุทธศาสตร์ 2 ขา !! "เพื่อไทย - เพื่อธรรม"

 

ยุทธศาสตร์ 2 ขา !! "เพื่อไทย - เพื่อธรรม"

                มีความชัดเจนมากขึ้นหลังการประชุมพรรคเพื่อธรรมที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา เมื่อ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง อดีตรองนายกฯ ของพรรคพลังประชาชน และอดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค “นลินี ทวีสิน” อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นรองหัวหน้าพรรค และ “พงศกร อรรณนพพร” อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เป็นเลขาธิการพรรค และมีข่าวว่า “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังพรรคนี้

                จากข้อมูลของ กกต. มีการจดทะเบียนตั้งพรรคเพื่อธรรม เมื่อ 23 สิงหาคม 2553 มี พล.ต.ต.จรัญ ชิตะปัญญา ซึ่งถูกระบุว่าเป็นเพื่อนทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค นายชัยวัฒน์ ทรัพย์รวงทอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งก็ไม่ยากที่จะโยงมาที่พรรคเพื่อไทย

                “ทางพรรคหวังจะเอาพรรคเพื่อธรรมมาเป็นพรรคสำรองกรณีถูกยุบพรรค ช่วงหนึ่งทางพรรคมีความคิดว่าจะให้อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยทั้งหมดย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อธรรม แล้วปล่อยพรรคเพื่อไทยทิ้งไว้ แต่หลังถกกันแล้วหาคำอธิบายกับประชาชนไม่ได้ ที่จะย้ายออกจากพรรคทั้งที่พรรคยังไม่ถูกยุบ ตอนหลังแนวคิดย้ายพรรคจึงจบไว้” แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเล่าถึงเป้าหมายการใช้พรรคเพื่อธรรมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

                แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า แต่ในเมื่อมีพรรคเพื่อธรรมขึ้นมาแล้ว จึงคิดกันว่าน่าจะใช้ประโยชน์จากพรรคเพื่อธรรมในการเก็บคะแนนเพื่อให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ด้วย ซึ่งจะสามารถนำมาเติมในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่ขาดไปได้

                “อดีตผู้สมัครของพรรคมีมาก ใครไม่มีพื้นที่ลงก็ให้ไปลงที่พรรคเพื่อธรรม ซึ่งผู้สมัครกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขต แต่จะสามารถเก็บคะแนนรวมจากทั่วประเทศได้ไม่น้อย”

                แน่นอนพรรคเพื่อไทยหวังว่าพรรคเพื่อธรรมอาจจะเก็บ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาได้สัก 20-30 คน เมื่อมารวมกับพรรคเพื่อไทยอาจจะได้ถึงครึ่งหรือใกล้เคียง

                สำหรับพรรคเพื่อชาติ อีกพรรคที่มีชื่อโผล่ขึ้นมาในจังหวะนี้ และมีการผูกโยงมาเป็นอีกสาขาของพรรคเพื่อไทยนั้น ในความเป็นจริงดูเหมือนจะไม่ใช่

 

ยุทธศาสตร์ 2 ขา !! "เพื่อไทย - เพื่อธรรม"

                มีข้อมูลวงในระบุว่า แนวคิดเรื่องพรรคเพื่อชาตินี้ มาจากไอเดียของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีตประธานสภาผู้แทนพรรคพลังประชาชน ที่โดนคดีทุจริตเลือกตั้งจนทำให้พรรคพลังประชาชนถูกยุบ โดยยงยุทธได้ไปหารือกับ “จตุพร พรหมพันธุ์” ประธาน นปช. และมีการพูดคุยกับแกนนำ นปช.คนอื่นและชักชวนไปอยู่พรรคเพื่อชาติ แต่ดูเหมือนแกนนำคนอื่นๆ จะไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็น เหวง โตจิราการ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก่อแก้ว พิกุลทอง โดยทุกคนยังยืนยันที่จะอยู่กับพรรคเพื่อไทย

                ยงยุทธ ติยะไพรัช ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์ ยอมรับเรื่องแนวคิดในการทำพรรคเพื่อชาติ โดยบอกว่า เขาและจตุพร มีแนวคิดตรงกันว่าอยากทำพรรคที่มีความเป็นกลาง เป็นพื้นที่ให้ทุกฝ่ายสามารถมาอยู่ได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทางฝ่ายเสื้อเหลืองด้วยจตุพรเล่าว่าได้คุยกับ “พุทธะอิสระ” ด้วย

                “ผมได้คุยกับหลายคน มีคุณจตุพร มีเพื่อนที่เป็นเสื้อเหลืองด้วยมาคุยกันว่าเราถึงจุดนี้ได้อย่างไร สภาพสังคมแบ่งข้างที่ไทยติดกับดักนี้มาเป็นสิบปีทำไมต้องบังคับให้เลือกข้าง ทำไมไม่มีพรรคที่ทุกฝ่ายมาร่วมกันได้ เรามีแนวคิดอยากให้มีพรรคที่เป็นกลาง แต่เวลาจำกัด เราก็ไปหาดูว่าชื่อพรรคไหน ไปเจอชื่อพรรคนี้(พรรคเพื่อชาติ)ก็โดนใจชื่อเพราะดี ก็เลยไปคุยกันในวง จะเอาพรรคนี้มาเป็นพรรคที่ตอบโจทย์ทางความคิดของพวกเรา”

                “คุณจตุพรกับผมคิดตรงกัน ที่ผ่านมาเราสูญเสียไปมาก วันนี้ถ้าเราไม่ยอมถอย เอาแต่เรื่องเลือกตั้ง เป็น ส.ส. เป็น รมต. เลือกตั้งเสร็จก็ยังแบ่งข้างกันเหมือนเดิม บ้านเมืองเดินต่อไม่ได้”

                ยงยุทธ บอกว่า ชื่อพรรคเพื่อชาตินั้นเป็นชื่อเดิมที่มีการจดทะบียนไว้หลายปีแล้ว ไม่ใช่ตั้งใจให้ชื่อพ้องพรรคเพื่อไทย เพื่อธรรม ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการบริหารพรรคชุดเดิมจะเห็นด้วยหรือไม่ ต้องไปคุยกับกรรมการบริหารพรรคเพื่อชาติก่อน ถ้าเห็นตรงกันก็เดินหน้า แต่ถ้าไม่ก็หาพรรคอื่น คาดว่าปลายเดือนตุลาคมจะมีความชัดเจน

                “ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้ ยังไม่ใช่พรรคเรา และผมยังไม่ได้ไปเป็นสมาชิกพรรค”

                อย่างไรก็ตาม สำหรับจตุพรนั้น อยู่ระหว่างถูกตัดสิทธิเป็นสมาชิกพรรคและถูกตัดสิทธิลงสมัคร ส.ส.เป็นเวลา 10 ปี หลังจากโดนจำคุก

                ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ กกต. พรรคเพื่อชาติ ยื่นตั้งพรรคไว้เมื่อ 18 กันยายน 2556 มีนายเถลิงยศ บุตุคำ และน.ส.รัชชสรา แก้วเกิดมี เป็นเลขาธิการพรรค อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลว่าแกนนำพรรคนี้คือ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” แต่ยงยุทธ แย้งว่า วันนี้ สงคราม ยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยอยู่

                นั่นคือในส่วนของพรรคเพื่อไทย พรรคใหญ่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

ยุทธศาสตร์ 2 ขา !! "เพื่อไทย - เพื่อธรรม"

                ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นอีกพรรคที่จะได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีแรงกดดันทางการเมืองเช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย จึงดูเหมือนว่าไม่ได้มีการคิดหายุทธศาสตร์แก้อย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนเพื่อไทย

                หากจะมีก็คือพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แต่ก็ดูเหมือนจะมาแย่งคะแนนกันมากกว่า

                ในส่วนของพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทยที่ตั้งเป้า ส.ส.ให้มากกว่าครั้งที่แล้วที่มีอยู่ 34 ที่นั่ง เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ดูเหมือนตอนนี้จะแอบซุ่มใช้ประโยชน์จากกติกาใหม่ ด้วยการสะสมอดีตผู้สมัคร ส.ส. ที่คะแนนดีๆ มาไว้ในพรรค เพราะแม้ว่าผู้สมัครกลุ่มนั้นจะไม่ได้ ส.ส.เขต แต่ก็สามารถรวมมาเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ได้

                สำหรับพรรคใหม่ หากเป็นพรรคเล็กที่ไม่มีฐานคะแนนเดิมอยู่เลย จะยิ่งลำบากกับกติกาใหม่ เพราะนอกจากจะไม่มีโอกาสได้ ส.ส.เขตแล้ว โอกาสที่จะสะสมคะแนนรวมให้ได้ถึง 7 หมื่นคะแนนเป็นอย่างน้อยเพื่อให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สักคนก็ไม่ง่าย

                พรรคใหม่ที่อาจจะมีโอกาสอยู่บ้าง คือ พรรคอนาคตใหม่ ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “สุเทพ” แต่การที่มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว แม้กระแสพรรคจะแรง แต่หากผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่เด่น ก็ลำบาก

                ส่วนพรรคใหม่อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” มีการตั้งความหวังไว้ที่พรรคอันดับสอง คือแซงพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้ ก็ต้องรอดูว่าผลจากพลังที่ไปดูดอดีต ส.ส.ที่คะแนนดี รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่นมา จะช่วยให้สมหวังได้หรือไม่

                หลังประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งช่วงปลายเดือนธันวาคม หรือต้นมกราคมปีหน้า จะได้เห็นหมากเกมชัดๆ ของแต่ละพรรค !!

 

=================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์  

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ยุทธศาสตร์ 2 ขา !! "เพื่อไทย - เพื่อธรรม"

(อ่านต่อ...เลือกตั้งไทย กติกาครั้งแรกในโลก!!)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ