คอลัมนิสต์

อีกหนึ่งบทเรียนจากถ้ำหลวง...เสียงสะท้อนจากคนเสพสื่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีกหนึ่งบทเรียนจากถ้ำหลวง...เสียงสะท้อนจากคนเสพสื่อ : รายงาน  โดย...  พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร

 

          ตลอดช่วง 17 วันของการนำเสนอข่าวหมูป่าติดถ้ำ สื่อในประเทศทุกสำนัก รวมทั้งสื่อต่างประเทศทั่วโลกมากมายหลายร้อยชีวิต ต่างรวมตัวกันที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย อดหลับอดนอน ลุยน้ำ ย่ำโคลน ปีนป่าย จนเหนื่อยล้าหรือเจ็บป่วย และกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ใกล้ชิดเหตุการณ์มากที่สุดและได้มุมที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพและเก็บข่าวมานำเสนอ

          ภารกิจที่หนักที่สุดครั้งนี้ของสื่อทั้งภาคสนามและที่สำนักข่าว ควรได้รับการชื่นชมอย่างปราศจากข้อกังขาใดๆ เหมือนกับการนำเสนอข่าววิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ๆ ของประเทศที่ผ่านมาทุกครั้ง

          ข่าวที่สื่อนำเสนอเท่าที่ประมวลได้ประกอบด้วย ข่าวการรายงานสถานการณ์ ข่าวการวิเคราะห์สถานการณ์ ข่าวรายละเอียดหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ ข่าวรายละเอียดของทีมหมูป่า ข่าวรายละเอียดของถ้ำ ข่าวผู้บัญชาการเหตุการณ์และผู้บริหารหน่วยงาน ข่าวเทคโนโลยีวิศวกรรมและเครื่องมือกู้ภัย ข่าวประวัติของบุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ ข่าวครอบครัวและญาติทีมหมูป่า ข่าวการเสียชีวิตของผู้ช่วยเหลือ ข่าวผู้นำและคนทั่วโลกที่ให้ความสนใจเหตุการณ์ ข่าวสื่อต่างประเทศ ข่าวอาหารการกินหน้าถ้ำ ข่าวอาสาสมัคร กู้ภัย-ซักรีด-รถรับจ้าง-ล้างห้องน้ำ-ทำความสะอาด ข่าวผลกระทบพื้นที่ข้างเคียงถ้ำ ข่าวการบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ ข่าวหน่วยงานที่สนับสนุนเครื่องมือและกำลังคน ข่าวและภาพจากสื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลก ข่าวหลังภารกิจสิ้นสุด ฯลฯ

          นอกจากนี้ยังมีข่าวประเภทสร้างสีสัน เช่น ข่าวองค์เจ้าเข้าทรง ข่าวพิธีเปิดปากถ้ำ ข่าวแก้บน รวมไปถึงข่าวสื่อเมาสุรา เป็นต้น

          การนำเสนอข่าวจากสื่อนับว่ามีความหลากหลาย โดยเฉพาะในบางแง่มุมเกินความคาดหมายของของผู้ชม ผู้ฟังหรือผู้อ่านข่าวด้วยซ้ำไป แต่ข่าวที่ผู้คนทั่วไปมักไม่ได้เห็นคือเบื้องหลังความเป็นอยู่และการทำข่าวด้วยความลำบากยากเย็นของสื่อเอง

          ท่ามกลางข่าวสารเหตุการณ์หมูป่าติดถ้ำที่มีการนำเสนออย่างเข้มข้นและแข่งขันเพื่อชิงพื้นที่ข่าวกันอย่างดุเดือดนั้น กลับมีข่าวหลายชิ้นที่วิจารณ์การทำงานของสื่อด้วยกันเอง รวมทั้งข่าวการถูกตำหนิจากผู้บัญชาการเหตุการณ์และผู้เกี่ยวข้องถึงการปฏิบัติงานของผู้สื่อข่าวบางสำนักที่ปรากฏตามข่าว ทำให้น่าสงสัยว่าการปฏิบัติงานของผู้สื่อข่าวบางสำนักนั้นเกินเลยกว่าภารกิจของสื่อหรือไม่ เพราะการวิจารณ์การทำงานของสื่อจากสื่อด้วยกันเองนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

          ในมุมมองของผู้เสพข่าวและไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์จริง เห็นว่าความผิดพลาดจากการนำเสนอข่าวเนื่องจากสถานการณ์พาไปโดยมิได้มีความตั้งใจนั้น เป็นเรื่องที่น่าจะยอมรับได้ เพราะผู้เสพข่าวทั่วไปมักจะให้ความสนใจต่อเรื่องสถานการณ์การช่วยเหลือหมูป่า มากกว่าความผิดพลาดเล็กน้อยของสื่อและการทำงานของสื่อในสถานการณ์คับขัน แข่งกับเวลาและบีบบังคับ นั้นเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้และไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหยิบยกมาซ้ำเติมกันมากจนเกินไป

          แต่บางเหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวเชิงลบต่อสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามของเจ้าหน้าที่ หรือการนำโดรนขึ้นไปเกาะติดข่าวจนใกล้ชิดเครื่องบินซึ่งมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุนั้น น่าจะเกินเลยจากการทำงานภายใต้กรอบกติกาของสื่อ จะเป็นด้วยอารมณ์พาไปหรือการถูกกดดันด้วยนโยบายการ “จิกข่าว” ของผู้บริหารสื่อนั้นๆ ก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องที่สื่อควรทบทวน เพราะแม้ว่าจะได้ข่าวสดๆ จากเหตุการณ์จริงอย่างใกล้ชิด ก็มิได้หมายความว่าสื่อจะได้รับความชื่นชมจากสังคมเสมอไป หากสื่อนั้นมิได้ปฏิบัติตามกติกาและจรรยาบรรณของอาชีพสื่อ หรือข้อห้ามเฉพาะของสถานการณ์นั้นๆ

          นอกจากนี้ ความสับสนต่อเรื่องการนำคลิปเสียงการสื่อสารทางวิทยุของการปฏิบัติงานในพื้นที่มาออกอากาศของสื่อบางสำนัก และมีการเรียกร้องหาจริยธรรมจากสื่อ ยิ่งทำให้ผู้เสพสื่อรับลูกไม่ทันต่อข่าวที่ได้รับ ซึ่งองค์กรกำกับสื่อควรเป็นคนกลางออกมาทำความเข้าใจเพื่อให้คนทั่วไปได้รับทราบเสียโดยเร็ว มิฉะนั้นจะเข้าตำราปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งตะข้อง

          ในมุมมองของคนนอกวงการคนหนึ่งเห็นว่า การแข่งขันนำเสนอข่าวสำคัญเพื่อให้ตรงใจคนดู คนฟัง หรือเรียกเรตติ้งนั้นกลายเป็นมาตรฐานในทางปฏิบัติและสื่อต่างๆ รวมทั้งผู้รับข่าวสารคงเห็นว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เพราะการนำเสนอข่าวในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ลักษณะการเสนอข่าวแบบถึงลูกถึงคนที่มีความเข้มข้นมากเกินไปของสื่อบางสำนักด้วยวิธีการที่กระตุ้นอารมณ์ผู้เสพข่าวผนวกกับความเป็นห่วงเด็กทั้ง 13 คนนั้น ย่อมสร้างความกังวลและความเครียดต่อผู้เสพข่าวไม่มากก็น้อย

          นอกจากนี้การเสนอข่าวจริงร่วมกับการเสริมแต่งด้วยความเห็นและการหยิบข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่ขาดความน่าเชื่อถือมาใช้นั้น เป็นความล่อแหลมที่อาจส่งผลให้ความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือของข่าวลดลง รวมทั้งสร้างความสับสนต่อผู้รับข่าวได้ เช่นกัน

          หากมองด้วยสายตาที่เป็นธรรมในฐานะคนที่ไม่ใช่สื่ออาชีพ เห็นว่าการรายงานข่าวของสื่อแม้ว่าจะเกาะติดกันแทบจะทุกนาที แต่ก็เป็นเรื่องที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนทั่วไป จึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้เสพข่าวที่จะเลือกว่าสื่อสำนักใดน่าจะมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

          ในบรรดาข่าวที่นำเสนอ สิ่งที่น่าจะเพิ่มเติมควรเป็นข่าวเชิงวิเคราะห์ ซึ่งจะให้ประโยชน์ต่อคนทั่วไปและผู้ที่กำลังแก้ไขสถานการณ์ในถ้ำ ส่วนข่าวที่มักไม่ค่อยมีการนำเสนอคือความสำคัญในการยกระดับความสำนึกของประชาชนต่อความปลอดภัยในภาพรวม ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเร็วไปที่จะได้เห็นข่าวลักษณะนี้ในช่วงเวลาวิกฤติ แต่หลังจากนี้ไป เรื่องของความปลอดภัยควรจะได้รับความสนใจจากภาครัฐและสื่อ รวมทั้งการตอบรับจากสังคมมากขึ้นกว่าเดิม

          มุมมองในฐานะคนภายนอกเห็นว่าอาชีพสื่อย่อมมีความผิดพลาดได้เช่นเดียวกับอาชีพอื่น และบทเรียนที่ได้รับในครั้งนี้นอกจากภาครัฐและประชาชนทั่วๆ ไปจะต้องเรียนรู้และเอาจริงเอาจังต่อมาตรการความปลอดภัยของคนในชาติแล้ว สื่อเองคงต้องเผชิญกับความท้าทายในการนำบทเรียนครั้งนี้ไปปิดช่องว่างต่อประเด็นการนำเสนอข่าวและวิธีการนำเสนอ เพื่อมิให้เกิดความสับสนต่อผู้รับข่าวสารในสภาวะที่คนส่วนมากต้องการข้อมูลที่เที่ยงตรงและเชื่อถือได้ รวมไปถึงความท้าทายเรื่องจรรยาบรรณของสื่อที่มีการพูดถึงกันอย่างหนาหูตลอด 17 วันที่ผ่านมา

          หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้จบลง สื่อควรได้รับการขอบคุณจากคนทั่วไปเช่นเดียวกับบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ แม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานเพราะอาชีพบังคับ แต่การเสียสละความสะดวกสบายเพื่อนำเสนอข่าวที่ถูกต้องฉับไวเพื่อให้คนทั้งโลกได้รับรู้ข่าวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่คนทุกอาชีพจะทำได้แบบเดียวกับอาชีพสื่อ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ