คอลัมนิสต์

แผนการแพทย์ดูแล"ทีมหมูป่า"ฟื้นกาย-เช็กโรคติดต่อ-เยียวยาใจ

แผนการแพทย์ดูแล"ทีมหมูป่า"ฟื้นกาย-เช็กโรคติดต่อ-เยียวยาใจ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...  พวงชมพู ประเสริฐ  

 

         "ผู้เข้าเยี่ยมจะให้เฉพาะพบหน้า พูดคุย ห้ามกอดหรือสัมผัสร่างกายผู้ป่วย โดยต้องนั่งห่างจากผู้ป่วย 1-2 เมตร จนกว่าจะทราบผลตรวจเลือด" นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ 

         “ห่วงว่าจะมีการสอบถามเหตุการณ์ในถ้ำบ่อยๆ จากสื่อ หรือในชีวิตของเขาอาจจะต้องถูกทวนเรื่องนี้ซ้ำๆ" นพ.ธรณินทร์ กองสุข 

         หลังจากที่ทีมนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี่รวม 13 คน ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 เมืื่อมีการนำผู้รอดชีวิตออกมาจากถ้ำได้สำเร็จ สิ่งสำคัญอันดับแรกคือต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น จากการติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานาน โดยมีการเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งหากทีมแพทย์ประเมินแล้วว่าสภาพโดยรวมอยู่ในระดับดีจะอนุญาตให้ญาตใกล้ชิดเข้าเยี่ยมได้ แต่ห้ามกอดและสัมผัสร่างกายจนกว่าจะทราบผลเลือดที่ส่งตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ขณะเดียวกันต้องเฝ้าระวังและเยียวยาทางด้านจิตใจด้วย 

 

แผนการแพทย์ดูแล\"ทีมหมูป่า\"ฟื้นกาย-เช็กโรคติดต่อ-เยียวยาใจ

     
          นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1  กล่าวว่า รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์จะให้การดูแลผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากการติดอยู่ในถ้ำหลวงที่ชั้น 8 อาคารอุบัติเหตุ ซึ่งจัดเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Cohort ward) จัดระบบควบคุมการติดเชื้อตามมาตรฐาน ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันควบคุมโรค เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจะได้รับการตรวจร่างกายจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ประเมินภาวะอุณหภูมิร่างกาย การขาดน้ำ ขาดสารอาหาร ตรวจเอกซเรย์ปอด เก็บเลือด ปัสสาวะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการค้นหาการติดเชื้อ รวมทั้งตรวจพิเศษอื่นๆ ตามการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ
 

แผนการแพทย์ดูแล\"ทีมหมูป่า\"ฟื้นกาย-เช็กโรคติดต่อ-เยียวยาใจ

 

         สำหรับการเจาะเลือดตรวจเพื่อดูใน 1 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ดูเม็ดเลือดว่าเป็นอย่างไร มีการติดเชื้ออะไรหรือไม่และอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายเป็นอย่างไร โดยมีความเป็นห่วงในเรื่องของความผิดปกติทางเมทาบอลิก (Refeeding Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะหลังจากอดอาหารหรือขาดอาหารมานาน แล้วกลับมาได้รับอาหารใหม่ที่จะมีความเสี่ยงมากจากการอดอาหารมามากกว่า 10 วัน  ในส่วนนี้สามารถตรวจเลือดและทราบผลได้ที่รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รวมถึงการติดเชื้อบางโรคด้วย เช่น โรคฉี่หนู  โรคเมลิออยโดซิส เป็นต้น    และ 2.ส่งเลือดตรวจที่ผ้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์หรือห้องแล็บของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังว่ามีการติดโรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติิซ้ำจากสัตว์ในถ้ำมาสู่ผู้รอดชีวิตหรือไม่  ซึ่งหากผลออกมาเป็นลบทั้งหมดคือไม่ติดเชื้อใดๆ จะทราบภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากจำเป็นต้องมีการตรวจยืนยันซ้ำอีกครั้งจะทราบผลใน 48 ชั่วโมง 

 

แผนการแพทย์ดูแล\"ทีมหมูป่า\"ฟื้นกาย-เช็กโรคติดต่อ-เยียวยาใจ

 

          “เมื่อแพทย์ดูแลรักษาและประเมินร่างกายแล้วว่าอยู่ในระดับที่เรียบร้อยดี คือ ความดันดี หายใจได้ในระดับปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ ไม่มีการติดเชื้อในปอดภายใน 24 ชั่วโมงก็จะอนุญาตให้ญาติใกล้ชิดเข้าเยี่ยมได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ที่รักษา โดยผู้เข้าเยี่ยมจะให้เฉพาะพบหน้าพูดคุย ห้ามกอดหรือสัมผัสร่างกายผู้ป่วย โดยต้องนั่งห่างจากผู้ป่วย 1-2 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดโรคที่ผู้ป่วยอาจจะติดมาจากในถ้ำมายังญาติจนกว่าผลการตรวจเลือกยันยันจากจุฬาฯจะแล้วเสร็จ” นพ.ธงชัยกล่าว 
 
         แผนเยียวยาจิตใจ   
         ในส่วนของการดูแลเฝ้าระวังและเยียวยาจิตใจ นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทีมสุขภาพจิตมีการปรึกษาหารือกันตลอด เบื้องต้นต้องให้ทีมแพทย์ที่ดูแลทางร่างกายดูแลจนพ้นวิกฤติทางกายไปก่อน ทีมสุขภาพจิตชุดใหญ่จึงจะเข้าไปดูแลต่อ แต่ระหว่างดูแลด้านร่างกายจะมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นของรพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ให้การดูแลด้วย โดยประเมินเรื่องสภาวะจิตใจ ความเครียดความกังวลต่างๆ ว่าอยู่ในระดับใด มากน้อยเพียงไร และวางแผนให้การดูแลเยียวยาจิตใจตามปัญหาที่พบ  ระยะต่อจากนั้นอาจจะมีการประเมินซ้ำอย่างละเอียดประมาณ 1 เดือน หรือ 3 เดือน เพื่อให้เด็กรู้ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร
    

แผนการแพทย์ดูแล\"ทีมหมูป่า\"ฟื้นกาย-เช็กโรคติดต่อ-เยียวยาใจ


         นพ.ธรณินทร์ กล่าวว่า ในแต่ละวิกฤติจะมีความแตกต่างกัน และมีผลต่อสภาพจิตใจที่แตกต่างกัน เช่น ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ถูกข่มขืน การฟื้นตัวจะแตกต่างกัน กรณีการติดอยู่ในถ้ำยังไม่เคยเจอ คิดว่าอาจจะเหมือนการติดในตึกถล่ม กลุ่มวิชาการที่หารือมีการทบทวนองค์ความรู้ว่าควรจะเป็นอย่างไร แบบไหน ต้องเรียนรู้ไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาภายในถ้ำไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่เฉพาะความมืด ความกลัว ความกังวลอาจจะยังไม่มากนักสำหรับเด็กที่เคยเข้าไปในถ้ำนั้นมาหลายครั้งและพอจะทราบว่าภายในถ้ำมีความมืด และดูจากภาพเด็กๆ ที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านี้ที่ไม่ได้พบความรุนแรง สภาพร่างกายดี มองในเชิงบวกอาจจะไม่มีบาดแผลทางจิตใจมาก เมื่อได้รับการดูแลเยียวยาจากทีมสุขภาพจิตในระยะหนึ่งอาจจะกลับมาเป็นปกติได้
    
         อย่างไรก็ตามตอนนี้พวกเขากลายเป็นคนของประเทศ การดำรงชีวิตอาจจะไม่ง่าย อาจจะต้องถูกจับตามองตลอดเวลา หากปรับตัวไม่ได้จะเกิดปัญหาต่อเขาได้ สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือภาวะเครียดรุนแรงหลังประสบภาวะวิกฤติในชีวิต ซึ่งนอกจากการเผชิญภาวะวิกฤติในถ้ำแล้ว เมื่อออกมาข้างนอกเจอชีวิตที่เปลี่ยนไป ทั้งสื่อสนใจ คนทั่วไปสนใจ  ครอบครัว พ่อแม่ก็มีการเปลี่ยนไป บางคนอาจจะสอบถามเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น บางครอบครัวจะปกป้องมากขึ้น ซึ่งทีมสุขภาพจิตจะต้องมาสร้างความเข้าใจเชิงบวกแก่ครอบครัวมากขึ้น เช่นเดียวกันจะต้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่สื่อให้ความสนใจมากขึ้นด้วย
    
         “ห่วงว่าจะมีการสอบถามเหตุการณ์ในถ้ำบ่อยๆ จากสื่อ หรือในชีวิตของเขาอาจจะต้องถูกทวนเรื่องนี้ซ้ำๆ ถ้าเด็กๆ และโค้ชมองว่าการติดในถ้ำเป็นเรื่องความกล้าหาญ หรือเรื่องการผจญภัยก็คงไม่เป็นอะไร แต่หากมองว่ามันคือเรื่องทุกข์ทรมาน จะเกิดผลในแง่ลบต่อจิตใจ  รวมถึง การที่ชีวิตเปลี่ยนหากปรับตัวไม่ได้จากการถูกจับจ้องตลอดจะทำให้เครียดมากทั้งในระยะสั้น ระยะยาว จึงต้องเตรียมให้น้องๆ พูดคุยในเชิงบวก และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพจิตให้มาก เพราะการถามซ้ำๆ ในภาษาสุขภาพจิตจะเรียกว่าเป็นการบาดเจ็บทางจิตใจซ้ำๆ หวนนึกถึงเหตุการณ์ซ้ำ เรื่องนี้คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องคุยกับเด็กก่อน เพราะสภาพจิตใจ ความเข้มแข็งของแต่ละคนแตกต่างกัน เรื่องนี้ไม่ควรเร่งรัด ต้องรอให้พร้อม” นพ.ธรณินทร์กล่าว 
 
         โรคที่จะต้องมีการเฝ้าระวังพิเศษ
         โรคฉี่หนู 
         โรคเมลิออยโดสิส
         โรคสครับไทฟัส หรือโรคไข้รากสาดใหญ่
         โรคฮิสโตพลาสโมสิส 
         โรคไข้เอนเทอริคโรคมาลาเรีย 
          เป็นต้น 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม