คอลัมนิสต์

ทำไมต้องเลิกใช้ "พาราควอต"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ - รู้ลึกกับจุฬา

 

              กระแสต้านสารเคมีกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต” ปะทุขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการวัตถุมีพิษอันตราย ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายซึ่งเป็นที่จับจ้องของภาคประชาสังคม 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และโกลไฟเซตในสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เนื่องจากให้เหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ

        

 

            ต่อมาเครือข่ายสนับสนุนการห้ามใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรง โดยมีสมาชิกกว่า 600 องค์กรภาคประชาสังคม มีการเคลื่อนขบวนประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นแถลงการณ์ขอให้มีทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้สารอันตรายดังกล่าว จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องออกมารับข้อเสนอ และแจ้งว่าจะใช้กรอบพิจารณาใหม่ภายใน 60 วัน

 

ทำไมต้องเลิกใช้ "พาราควอต"

               ต่อประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร.นพดล กิตนะ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย ระบุว่างานวิจัยชิ้นหนึ่งของทางคณะมีการใช้พื้นที่จังหวัดน่านเป็นพื้นที่ศึกษาการปนเปื้อนของสารฆ่าวัชพืชในสัตว์ พบว่ากว่าร้อยละ 90 ของสารเคมีที่มีการใช้คือสารฆ่าหญ้า ประกอบไปด้วยไกลโฟเซต อาตราซีน และพาราควอต

             ประเด็นสำคัญที่ควรมีการพิจารณาคือ การปนเปื้อนและการสะสมในร่างกาย เพราะสารเหล่านี้มีความเป็นพิษสูง มักมี­­ข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์อยู่บ่อยครั้งว่ามีคนกินยาฆ่าหญ้า ซึ่งประกอบด้วยสารดังกล่าวเพื่อฆ่าตัวตาย

           “ทางการแพทย์รับรู้ว่ากินแล้วตาย แต่ที่ต้องให้ความสนใจในปัจจุบันคือกินแล้วไม่ตาย แต่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลทางการแพทย์ว่าการปนเปื้อนเหล่านี้ส่งผลระยะยาวต่อสมอง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสมองให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคพาร์กินสัน โรควัวบ้า มันอันตรายมากกว่าที่คิด”

            ผศ.ดร.นพดล ชี้ว่าสารพาราควอตซึ่งเป็นสารฆ่าหญ้ามีการตรวจพบในกบ ปู หอย แม้ว่าจะเป็นสารที่เน้นใช้กำจัดวัชพืช แต่ก็มีการสะสมไปที่ตัวสัตว์ ข้อมูลในจังหวัดน่านพบว่ามีการปนเปื้อนพาราควอต 24-56 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมในปูนา และ 12.6–1,233.8 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมในกบหนอง

              ขณะที่ตัวเลข MRL (Maximum Residue Limit) กำหนดไว้ว่าต้องมีการปนเปื้อนในสัตว์ไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น

              “ตัวเลข MRL กำหนดโดย Codex Alimentarius Commission เกิดจากการร่วมมือกันของหน่วยงานองค์การอาหารการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กับองค์การอนามัยโลก (WHO) พูดถึงว่าสารเคมีทางการเกษตรเมื่อใช้เสร็จแล้วควรมี Good Agricultural Practice (GAP) ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้แบบแผนที่ดีในการทำเกษตรกรรม” แต่ตัวเลขเกิด MRL ที่ตรวจพบสะท้อนว่าไม่มี GAP

              ผศ.ดร.นพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า สารเคมีดังกล่าวเป็นสารปนเปื้อนในดินที่มีการสลายตัวช้ามาก มีค่าครึ่งชีวิตมากกว่า 10 ปี หมายความว่าต้องใช้เวลากว่า 10 ปี สารเคมีที่อยู่ในดินจึงจะลดไปครึ่งหนึ่ง ยิ่งหากในอดีตมีการใช้สารเคมีต่อเนื่อง ก็จะกินเวลาการย่อยสลายนาน

            ทั้งนี้ ผศ.ดร.นพดล บอกด้วยว่าจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่าสิ่งมีชีวิต เช่น ปูนามีน้ำหนักลดลง มีการทำงานของเอนไซม์กำจัดพิษเพิ่มขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างสัณฐานในส่วนกระดองท้องและก้ามปู ส่วนกบหนองมีดัชนีความสมบูรณ์ร่างกายลดลง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน

              ยิ่งไปกว่านั้นอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อร่างกายมนุษย์เมื่อมีการบริโภคเป็นทอดๆ ต่อมา เช่น การนำปูนามาแปรรูปเป็นน้ำปู ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านของคนในพื้นที่ก็อาจทำให้มนุษย์ได้รับการปนเปื้อนสารพาราควอต ดังนั้นผลกระทบของสารเคมีดังกล่าวมีมากกว่าที่คิด

             “สารเคมีทั้ง 3 ตัวที่มีการศึกษา ทั้งพาราควอต อาตราซีน ไกลโฟเซต มีผลกระทบไม่มากก็น้อย ไม่ได้มีตัวไหนปลอดภัยกว่าตัวไหน บางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่าเราสามารถลดการใช้สารเคมีได้ อย่างพื้นที่การเกษตรในจังหวัดน่านแม้จะเป็นพื้นที่รวม แต่ก็มีเกษตรกรรายหนึ่งที่ใช้วิถีเกษตรอินทรีย์ ใช้น้ำหมัก ใช้การปรับปรุงที่ดิน ผลผลิตมากกว่าคนอื่น 2 เท่า แต่รายได้เท่ากันเพราะต้องพักหน้าดิน ตากดิน รอช่วงเก็บเกี่ยวถัดไป”

            ผศ.ดร.นพดล ชี้ว่าตัวอย่างของเกษตรกรรายนี้แสดงว่าการใช้วิถีทางการเกษตรอินทรีย์ก็สามารถมีรายได้เหมือนรายอื่นๆ และยังมีสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดี เสริมสร้างมูลค่าทางสุขภาพ ซึ่งเป็นมูลค่าที่คนมักจะไม่ค่อยพูดถึง

            “เกษตรกรพื้นที่ตัวอย่างที่ใช้วิถีเกษตรอินทรีย์เขาต้องลงเองหมด ต้องขวนขวายมากทีเดียว ถ้าใช้สารเคมีมันนอนอยู่บ้านเฉยๆ ภาครัฐเองก็ต้องเข้าไปช่วยบ้าง ถ้าเราวางเป้าหมายไว้ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาหารต้องมีคุณภาพ ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอาหารปลอดภัย ภาครัฐก็ต้องมีส่วนช่วยมากกว่านี้ ทั้งในแง่การณรงค์ให้เห็นว่าวิถีเกษตรอินทรีย์เป็นทางเลือกที่ดี และการสนับสนุนในแง่อื่นๆ” ผศ.ดร.นพดลทิ้งท้าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ