คอลัมนิสต์

ยังไงกันแน่ !! "ปลดล็อก" หรือ "ล็อกเพิ่ม" ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การปลดล็อกแบบมีเงื่อนไขของ คสช.จะเป็นการปลดล็อกจริงๆ หรือเป็นการ "ล็อกเพิ่ม" เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคำสั่ง 53/2560 !!

                ในที่สุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้า คสช. ก็ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า จะปลดล็อกพรรคการเมือง เพื่อให้แต่ละพรรคขยับเขยื้อนเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้งที่ "บิ๊กตู่" ยืนยันว่าจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้า

                แต่อย่าคิดว่า คสช.จะปลดล็อกให้มีการเคลื่อนไหวกันอย่างอิสรเสรี เพราะจะเป็นการปลดล็อก “แบบมีเงื่อนไข”

                “หากจะปลดก็ต้องปลดเป็นกิจกรรมไป ถ้าปลดล็อกทั้งหมดรับรองได้หรือไม่ว่าจะไม่มีปัญหา ต้องพิจารณาหารือกันว่าจะปลดล็อกอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ให้อิสรเสรี” ประโยคแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่แสดงท่าทีเกี่ยวกับการปลดล็อกพรรคการเมือง

 

ยังไงกันแน่ !! "ปลดล็อก" หรือ "ล็อกเพิ่ม" ??

 

                อีกประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงคือ กติกาในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ “บิ๊กตู่” ส่งสัญญาณว่าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

                “เรื่องการปลดล็อกที่จะหาเสียง ขอถามว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรในการหาเสียง มีหาเสียงในสิ่งที่ดีๆ หรือไม่ ด่ากันโจมตีกันไปมา แทนที่จะพูดในสิ่งที่พรรคจะทำอะไร ตัวเองจะทำอะไร ถ้าเป็นแบบนี้มันไปไม่ได้ จะกลายเป็นว่าเริ่มบรรทัดฐานตั้งแต่การเลือกตั้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเข้าไปเป็นรัฐบาล เป็นฝ่ายค้าน ขอถามว่าพื้นที่ฝ่ายค้านจะได้อะไร ฉะนั้น บางอย่างต้องมีการร่วมมือกันทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล”

                “มันด่ากันตามถนนหนทางเดินกันทั่วไปหมด รับได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้ก็ต้องช่วยผม ให้ทุกคนออกมารับประกันว่าการหาเสียงจะต้องประกาศนโยบายที่ตรงตามกฎหมายกำหนด ไม่ใช่มองว่ากฎหมายที่ออกมาเป็นการบังคับ มาตัดสิทธิ มาเพิ่มภาระ แล้วที่ผ่านมาไม่มีเรื่องพวกนี้แล้วเป็นอย่างไร ก็ลองมีเสียบ้างไม่ได้หรือ ประเทศนี้ต้องมีกฎเกณฑ์ มีกฎหมาย กติกา”

                และคีย์เวิร์ดที่สำคัญของหัวหน้า คสช. เกี่ยวกับเรื่องการหาเสียง คือ “การหาเสียงจะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป แต่บางอย่างอาจไม่ต้องขอ การปลดล็อกมันต้องเป็นแบบนั้น บางอย่างต้องขอ บางอย่างไม่ต้องขอ ซึ่งต้องหาวิธีในการกำหนดให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ก่อนจะไปถึงประชาธิปไตยตีกันเละ”

                เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนอย่างยิ่ง

                มีข้อมูลว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความเข้มงวดขึ้น ไม่สามารถหาเสียงได้อย่างเสรีเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมีการกำหนดรายละเอียดไว้หมดว่าให้ทำอะไรได้ อย่างไร อะไรที่ห้ามทำ

                “ขอให้นึกถึงภาพการรณรงค์ทำประชามติเมื่อปี 2559 หรือการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา ผู้สมัครจะถูกจำกัดมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทุกพรรค ทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่ ไม่ใช่ลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอาเหมือนเมื่อก่อน” แหล่งข่าวกล่าว

                ทั้งนี้ข้อจำกัดในการหาเสียง จะมีตั้งแต่เรื่องป้ายหาเสียง ที่จะมีการกำหนดขนาดและจำนวน โดย กกต.จะทำหน้าที่ในการติดป้ายหาเสียงเหล่านั้นในพื้นที่ที่กำหนด ไม่ใช่ติดได้ทั่วไปอย่างที่ผ่านมา

                “เรื่องรถหาเสียง และเวทีหาเสียง อาจจะไม่มีให้เห็น โดยเฉพาะเวทีเพราะการปราศรัยบนเวทีก็จะมีการโจมตีกัน” แหล่งข่าวกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูด

                ทั้งนี้ เมื่อไปดูกติกาที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา ก็ยิ่งจะเห็นข้อจำกัดในการหาเสียงชัดเจนขึ้น

                ในร่างกฎหมายจะเขียน “เปิดช่อง” ไว้ว่าให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกประกาศกำหนดวิธีการหาเสียงเพื่อให้เกิดความเที่ยงธรรมและเป็นระเบียบเรียบร้อย

                ย้อนกลับไปดูเงื่อนไข “ล็อกพรรคการเมือง” ของ คสช. ตอนนี้จะเป็นไปตาม 2 คำสั่ง คือประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

                ข้อห้ามดังกล่าวไปผูกอยู่ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 คือ คำสั่งแก้กฎหมายพรรคการเมือง ตามมาตรา 44 ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา ซึ่งล็อก “พรรคการเมืองเก่า” ไม่ให้จัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทําคําประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของพรรค รวมถึงเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรค 

                โดยกำหนดให้สามารถทำได้ภายใน 90 วัน หลังจากมีการยกเลิกประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 และ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ไปแล้ว

 

ยังไงกันแน่ !! "ปลดล็อก" หรือ "ล็อกเพิ่ม" ??

 

ยังไงกันแน่ !! "ปลดล็อก" หรือ "ล็อกเพิ่ม" ??

                อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า คสช.จะคงสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนไว้เหมือนเดิม โดยมีการเสนอให้คงมาตรการนี้ไว้จนถึงหลังเลือกตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง เพราะลำพังแค่ที่ผ่านมายังมีคนออกมาเคลื่อนไหว เช่น กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หากปลดล็อกก็จะยิ่งวุ่นวายมากขึ้น

                ส่วนคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมนั้น ทาง คสช.จะปลดล็อกให้ แต่จะอนุญาตให้เฉพาะประชุมเพื่อดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองเท่านั้น เช่น เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เพื่อกำหนดนโยบาย โดยไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง

                สำหรับขั้นตอนการดำเนินการเพื่อปลดล็อกดังกล่าว จะเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับ 53/2560 ข้อ 8 ที่กำหนดไว้ว่าเมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ ครม.เสนอ คสช.แก้ไขหรือยกเลิกประกาศ คสช. หรือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นเดือนนี้หรือเดือนหน้า

                นอกจากเรื่องการแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่ง คสช. ยังกำหนดให้จัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง โดยให้หารือกับ กกต. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และประธาน สนช. โดยอาจจะเชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง มาร่วมหารือด้วย ที่ “วิษณุ เครืองาม” เคยบอกว่า เวทีนี้จะได้ข้อสรุปเรื่องวันเลือกตั้งว่าจะเป็นเมื่อใด

                รอดูรายละเอียดชัดๆ อีกครั้งว่า การปลดล็อกแบบมีเงื่อนไขของ คสช.จะเป็นการปลดล็อกจริงๆ หรือเป็นการ “ล็อกเพิ่ม” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคำสั่ง 53/2560 !!

 

================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ