คอลัมนิสต์

“สุทธิชัย” คุย “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สุทธิชัยคุย “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA  เปิด “ต่อมเอ๊ะ” คนไทย กระตุก “ต่อมอาย” คนข่าว

 

          ทำไมคนคนเดียว สามารถนำข้อมูลที่ตรวจสอบได้ มานำเสนอต่อสังคม จนสั่นสะเทือนแทบทุกวงการในขณะนี้

          คนคนนั้นคือ “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA กับบทบาทการเปิดโปง ตรวจสอบ นาฬิกาหรู 25 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไทย ที่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครโต้แย้งเขาได้ว่า ข้อมูลของเขานั้นมั่ว เท็จ หรือรับจ้างใครมาทำ

          เช้าวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สุทธิชัย หยุ่น เปิดไลฟ์สดพูดคุยกับ “เดวิด” เจ้าของเพจนี้ โดยเจ้าตัวขอไม่ปรากฏชื่อ และใบหน้า เป็นการพูดคุยข้ามทวีปมาจากแอลเอเลยทีเดียว

          จนพบว่า เรื่องราวอันเข้มข้นคึกคักที่ได้พูดคุยกันนั้น สะท้อนอะไรบางอย่าง ถึงคนหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์นาฬิกาหรูบิ๊กป้อม

 

“สุทธิชัย” คุย “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA 

 

          ทั้งในส่วนของประชาชนที่ได้เรียนรู้การเสพข่าวจากสื่ออย่างมีการตรวจสอบข้อมูล แบบที่เรียกตามชื่อของเพจว่า CSI LA ที่่ C ย่อมาจาก Critical Thinking, S ย่อมาจาก Science และ I คือ Investigative ส่วน LA นั้นคือที่อยู่ของเจ้าของเพจนั่นเอง

          หรือในส่วนของแวดวงสื่อมวลชน กับการทำหน้าที่ไขความจริง ที่อาจเขินจนต้องไปขอคารวะ “เดวิด” ค่าที่ทำให้โลกของการหาข่าวแบบเดิม ถูกวิธีการหาข่าวแบบ Crowdsourcing มากระแทกเข้าอย่างจัง !

          และแน่นอน กับนักการเมืองไทยช่างจุ๊ ! โลกของข้อมูลทำให้พวกท่านอยู่ยาก !!

          CSI LA งานกระตุก “ต่อมเอ๊ะ!”

          สุทธิชัย หยุ่น เริ่มต้นด้วยการเกริ่นว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เพจนี้พยายามทำข่าวสืบสวนสอบสวน ก่อนหน้านี้กับข่าวนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่ถูกฆาตกรรมบนเกาะเต่า เดวิดก็ได้เจาะเข้าไปจนทำให้ตำรวจไทยวุ่นวาย สั่นสะเทือนไปทั่ว

          เดวิดจึงเล่าว่า จากคดีเกาะเต่าทำให้เขาเรียนรู้ว่า เราทำหน้าที่จากการนำความเห็นของประชาชนมาช่วยไขความจริงได้อย่างเดียว แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างไปจบที่ตำรวจ

          แต่ข้อดีคือ ครั้งนั้น ได้ทำให้คนไทยได้สัมผัสกับการสืบเสาะหาความจริงเชิงวิทยาศาสตร์ สิ่งนี้เลยจุดประกายให้ตนเองอยากสร้างเพจนี้ขึ้นมา

          “จากเมื่อก่อนผมก็เป็นโซเชียลมีเดียยูสเซอร์ทั่วไป ไปเพจไหน ไปแสดงความคิดเห็น ผมก็โดนเขาเตะออกมาเพราะผมแสดงความคิดของตัวเองเยอะ ผมก็เลยอยากบอกคนไทยว่า เอ๊ะ ทำไมเราไม่คิดแบบวิทยาศาสตร์”

          ถามว่า ด้วยความที่ร่ำเรียนมาทาง วิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist เขาจึงนำมาใช้ในการทำเพจ CSI LA อย่างเต็มที่

          “อย่างคดีเกาะเต่า ตำรวจบอกว่าพม่าสองคน ตัวเล็กๆ อย่างนั้น มันเป็นอะไรที่คาใจประชาชน ถ้าคุณใช้หลักวิจารณญาน ฟังแล้วมันย้อนแย้งกับความเป็นจริง”

 

 
 

          และการใช้ชีวิตทำงานในอเมริกา ทำให้เห็นถึงความแตกต่างในเชิงการเปิดเผยข้อเท็จจริงแก่ประชาชนเป็นอันมาก อย่างกรณีเกาะเต่า หรือกรณีนาฬิกาหรู ที่เดวิดพยายามทำ คือการสร้างทำให้ประเทศไทยไป 4.0 ได้อย่างแท้จริงเลย

          พร้อมกับบอกคนไทยว่า ในยุคที่เรียกว่า Big Data หรือโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ผู้คนพึ่งพิงข้อมูลในการตัดสินใจ หรือกระบวนการคิดต่างๆ จะอยู่บนฐานของการรวบรวมข้อมูล การมีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ จะช่วยให้เรารอดได้

          “เหมือนคุณพยายามดื่มน้ำจากท่อใหญ่ๆ ท่อฉีดน้ำของดับเพลิงคือมันเยอะมาก แต่ถ้าคุณรู้จักแยกแยะ คุณจะรู้ว่าอันไหนมันมีพิษ มันมีประโยชน์ จะได้แยกแยะได้ว่าอันไหนเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ สามารถดื่มได้”

          “ระบบการศึกษาไทย ยังไม่สอน Critical Thinking เท่าไหร่ ซึ่งที่จริงต้องเป็นการสอนตั้งแต่วัยเด็ก ที่อเมริกาเขาให้ความสำคัญมาก”

          และนี่คือ เซนส์ของการทำ investigative reporting การรายงานข่าวเชิงสืบสวน ที่แท้จริง

          Crowdsourcing กับ “ต่อมอาย” คนข่าว

          งานของเดวิดหนนี้ ต้องพูดเลยว่า แวดวงที่สะเทือนที่สุด อาจจะเป็นแวดวง “คนทำข่าว” หรือสื่อไทยกระแสหลักก็ว่าได้

          เพราะเพจ CSI LA ที่เราได้เห็นข้อมูลต่างๆ หลั่งไหลออกมานั้น เดวิดทำเองเดียวทั้งหมด !! ทั้งหาข้อมูล ทั้งวิเคราะห์ ทั้งนำเสนอ ทั้งทำกราฟฟิก ได้ทันทีเลย

          และวิธีการที่ช่วยให้เขาได้ข้อมูลมาก็คือ Crowdsourcing ที่เป็นการกระจายปัญหาไปยังกลุ่มคนเพื่อช่วยกันค้นหาคำตอบ

 

“สุทธิชัย” คุย “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA 

 

 

          โดยภาพนาฬิกาแต่ละเรือนนั้น เดวิดมีทั้งที่หามาเอง และคนที่เป็นแฟนเพจช่วยกัน และช่วยกันหาคำตอบว่านาฬิกาแต่ละเรือนนั้นยี่ห้ออะไร รุ่นไหน ราคาเท่าไหร่

          กับ 25 เรือนที่ออกมาตามหน้าข่าว เดวิดยืนยันว่า ทุกภาพชัดเจนว่าเป็น เรือนไหน ยี่ห้ออะไร รุ่นไหน ราคาเท่าไหร่ แถมยังแอบบอกว่า ที่จริงยังมีีอีกทั้งชัดและไม่ชัด แต่ขอหยุดไว้ที่ 25 เรือนก่อน เพราะแค่นี้ก็เหลือแหล่แล้วสำหรับคนคนหนึ่ง

          ส่วนบรรดาแฟนที่มาให้ข้อมูล เดวิดบอกว่าต่างคนก็ไม่รู้จักกันมาก่อน และหลายคนก็ไม่บอกตัวตนของตนเอง บางกลุ่มคือ กลุ่มคนรักนาฬิกาอยู่แล้ว เช่น กลุ่มโรเล็กซ์ ก็มาช่วยกันให้ข้อมูล

          “พวกนี้เป็นพวกรวมการเฉพาะกิจ เป็นคนที่ผมเรียกว่า แฟนเพจ เช่นส่งมาหลังไมค์ว่าเจออันนี้มารูปนี้ แต่อย่าบอกว่าผมเป็นใครนะครับ”

          จากนั้นเดวิดก็ใช้ความสามารถของตนเอง เปิดเป็นแอพพลิเคชั่นขึ้นมา เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลง่ายขึ้น

          “คนจะได้ส่งสะดวกขึ้น ให้คนอัพโหลดรูปได้ บอกวันเวลาสถานที่ ผมจะได้หาง่ายๆ เพราะตอนแรกคนส่งมาแต่รูป ผมก็ต้องหาที่มา เช็กเอง ลำบากนิดหนึ่ง”

          “ผมถือว่าตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม ไม่ได้เป็นสื่อ ผมพยายามทำให้ตัวเองเป็นพื้นที่ ให้เขามาออกความเห็นได้ เป็นเวที แล้วเราทำหน้าที่ตรวจสอบความแม่นยำ และรวบรวมออกมาเป็นเรื่องราว นำเสนออีกทีหนึ่ง"

          ถึงจะออกตัวว่าไม่ใช่สื่อมวลชน แต่ผลงานของเขาก็ทำให้คนข่าวในกระแสหลักถึงกับเขินอาย เพราะได้แต่นำข้อมูลที่ปรากฏอยู่แล้วในเพจ CSI LA มาเสนอซ้ำ

          แถมวิธีการ Crowdsourcing ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาอีกด้วย

          Fact Checking ดักคอนักการเมืองไทย

          แน่นอน การพูดคุยนี้ มีต้นเรื่องมาจากนาฬิกาหรู ที่สุด เดวิดจึงได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในการพูดคุยไลฟ์สดดังกล่าวนี้ด้วย

          เขากล่าวถึง “บิ๊กป้อม” ซึ่งเพิ่งออกมาระบุว่า พร้อมลาออก หากประชาชนต้องการ ว่า

          “ผมว่าควรจะลาออกตั้งแต่วันแรกแล้ว เพราะเพื่อนผมที่ทำงานที่นี่ เขาบอกเลยถ้าเกิดอธิบายไม่ได้ คุณทำผิดกฎ คุณก็ต้องออกไปดีกว่า ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งมีการขุดคุ้ย และการกระทำมันสำคัญกว่าคำพูด เราอยู่ในยุคข้อมูล การกระทำทุกอย่างมันชัด คำพูดสามารถสร้างได้ พูดได้”

 

“สุทธิชัย” คุย “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA 

 

          พร้อมย้ำว่าโลกข้างนอก เรื่องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าคำพูด โดยเฉพาะด้วยโลกที่เปลี่ยนไปเอื้อต่อการ Fact Checking หรือการตรวจสอบความจริงได้ทันที

          “ที่นี่เขาเอาข้อมูลมายันกันเลย สมัยนี้มันเป็น Fact Checking ตรวจสอบได้ทันที โดยคนสามารถทวิตเข้ามาได้ เขาสามารถใช้ข้อมูลทวิตเตอร์จับความรู้สึกของคนได้เลย”

          อย่างนาฬิกาบอกว่าเป็นของเพื่อน ตายไปแล้ว ฟังได้มั้ย เดวิดบอกว่า

          “ผมทำสำรวจในเพจ คน 99% ไม่เชื่อว่าเป็นของเพื่อน ยืมเพื่อน ซึ่งหลังจากนี้ จะทำโหวตว่าใครอยากให้ท่านลาออกบ้าง”

          อย่างไรก็ดี ถึงตรงนี้ เหมือนว่า คู่สนทนาจะรู้ว่าที่สุดแล้ว เรื่องการตรวจสอบนาฬิกาของ ป.ป.ช. จะออกมาอย่างไร แต่สำคัญกว่านั้น คือ วิธีการของเพจ CSI LA ในการทำความจริงให้ปรากฏ มันได้เพาะเมล็ดพันธุ์ไปสู่คนไทยบ้างแล้วไม่มากก็น้อย

          คนไทยไปไกลถึงแอลเอ

          จากการสนทนา เดวิดบอกกับสุทธิชัย หยุ่น ว่า ตนเองนั้นไปอยู่นิวซีแลนด์ตั้งแต่อายุ 14 แล้วย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาตอนอายุ 18

          จึงทำให้หลายคนไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมหลักคิดของเขาถึงล้ำโลก ที่คนไทยก้าวตามไม่ทัน

          หากแต่มีข้อมูลช่วงปี 2557 ระบุถึงเบื้องหลังเจ้าของเพจนี้ไว้ว่า เดวิด หรือ อนันตศิลป์ ปัจจุบัน อายุ 40 ต้นๆ เป็นเจ้าของธุรกิจออกแบบอัญมณี ทั้งนำเข้าและขายส่ง

          พื้นเพเดิมเป็นชาวชลบุรี หลังจบ ม.3 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ยูซีแอลเอ สาขาเศรษฐศาสตร์ หลังจากมีครอบครัวมีลูก จึงมุ่งไปทางการค้า เน้นงานดีไซน์จากคอมพิวเตอร์

          เมื่อนำมาประกอบการสนทนาข้างต้น เจ้าตัวเล่าว่า เบนเข็มจากธุรกิจจิวเวลรี่ไปเรียนวิทยาศาสตร์ข้อมูล จนจบที่ Northwestern University สาขา Predictive Analytics/Data Science

          ด้วยมันสมอง และหัวคิดที่ก้าวหน้า เขาประสบความสำเร็จ สอบผ่านได้ทำงานเป็น Data scientist เต็มตัวที่บริษัทเทเลคอมยักษ์ใหญ่แห่งอเมริกา อย่าง AT&T โดยทำวิเคราะห์ข้อมูลในหน่วยงานทางด้านวิดีโอโอเปอเรชั่น โดยดูบรอดคาสติ้ง ตรวจสอบว่าลูกค้าสามารถรับโมบายคอนเทนต์ได้ดีขนาดไหน

          แต่งานทั้งหมดที่ทำนั้น ต้องมีใจรักด้วยถึงจะรุ่ง เช่นเดียวกับการทำเพจ CSI LA มาจากความชอบล้วนๆ

 

“สุทธิชัย” คุย “เดวิด” เจ้าของเพจ CSI LA 

 

          “ต้องมีใจรักด้วยนะครับ อย่างซีเอสไอผมเป็นคนชอบข่าว ชอบวิเคราะห์ข่าว ชอบสืบข่าว มันมีแพชชั่น ต้องสอนเด็กไทยว่าอย่าทำอะไรเพื่อเงิน และทำเพื่อความถูกต้องของสังคมด้วย”

          ที่สุดเขาจึงฝากบอกคนที่ยังสงสัยในตัวเขาว่า หากดูจากประวัติแล้ว น่าจะรู้ว่าเขาไม่ได้รับจ้างใครทำเพจนี้ “ผมท้าเลยให้ปรู๊ฟว่าผมเป็นเสื้อแดง ผมให้ล้านนึงเลย แต่ที่ผมทำคือทำให้รู้ว่าความจริงคืออะไร"

          "มีคนเฝ้ามองคุณนะ มีข้อมูลที่ตรวจสอบกันได้นะ แล้วเดี๋ยวนี้มันเป็นระดับโลกแล้ว ไม่ใช่แค่ข้อมูลแคบๆ แค่ในประเทศไทย คนที่อยู่ในสาธารณะ ถูกเก็บไว้หมดในยูทูบ ในอะไรต่างๆ คนก็สามารถเปิดขึ้นมาได้ว่าใครสัญญาอะไรไว้ ใครเคยพูดอะไรไว้ มันไปอยู่ตรงนั้นหมด แล้วภาพก็มีแต่ชัดขึ้นๆ”

          อย่างที่ AT&T ก็ถือเป็นการพิสูจน์ศักยภาพของตนเอง

          “ผมก็ภูมิใจที่เป็นคนไทยคนเดียวเข้ามาถึงตรงนี้ได้ ผมก็อยากจะบอกว่าถ้ามาบอกว่าผมการเมือง ผมเสื้อแดง ก็มาดูประวัติกัน มาศึกษาผมแล้วกันว่า ผมจบอะไรมา ทำงานที่ไหน ถ้าขยันหาจริงก็เจอแล้ว”

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ