คอลัมนิสต์

เปิดเสรีสะสม “เงินประกันสังคม”  ..สิทธิอนาคต เอา-ไม่เอา?(จบ)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 
          กลายเป็นปัญหาค้างคาว่าคนไทย 13 ล้านคนที่จ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือนนั้น จะเอาอย่างไรกับอนาคตตอนเกษียณ ?

          ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมา มีการแตกแยกความคิดเห็นออกเป็น 2 ฝ่ายด้วยกัน โดยฝ่ายแรกส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและเครือข่ายคุ้มครองผู้ประกันตนเสนอให้จัดเก็บเงินเพิ่มเนื่องจากเงินในกองทุนที่มีอยู่กว่า 1.6 ล้านล้านบาทนั้น หากผ่านไปสักยี่สิบสามสิบปีจะไม่พอจ่ายให้มนุษย์เงินเดือนที่เริ่มทยอยเกษียณจากการทำงาน

          ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า เงินจำนวนมหาศาลสะสมอยู่ในกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในไทยนั้น หากมีการบริหารจัดการที่ดี ปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันยุคสมัย ที่สำคัญคือรัฐบาลไม่เอาเปรียบรีบเติมเงินที่ค้างชำระไว้เข้ามาให้ครบจำนวน ก็จะยิ่งมีเงินไปลงทุนเพิ่มพูนดอกเบี้ยและกำไรทุกปี ทุกวันนี้สามารถเอาเงินไปลงทุนได้กำไรมาประมาณปีละ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท ไม่จำเป็นต้องให้สมาชิกหักเงินเพิ่มจากที่ต้องกัดฟันจ่ายทุกเดือนอยู่แล้วประมาณ 500-750 บาท

          ย้อนความเป็นมาข้อเสนอของ “สำนักงานประกันสังคม” หรือ “สปส.” ที่เสนอให้ปรับเงินสมทบของผู้ประกันตนจากเพดานของฐานเงินเดือนเดิมที่กำหนดไว้สูงสุดแค่ 15,000 ให้จ่าย 750 บาท หมายความว่าใครก็ตามไม่ว่าเงินเดือนสูงเพียงใดก็จ่ายแค่ 750 บาท เป็นฐานคิดจากเงินเดือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมื่อค่าแรงขั้นต่ำประมาณวันละไม่เกิน 100 บาท โดยคำนวณว่าผู้จ่ายเงินสมทบต่อเนื่อง 15 ปีขึ้นไปเมื่ออายุครบ 55 ปี จะมีเงินบำนาญชราภาพเข้ากระเป๋าอย่างน้อยเดือนละ 3,000-7,500บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สมทบ ในอดีตเชื่อกันว่าเงินจำนวนนี้มีให้ผู้สูงวัยใช้สอยประมาณวันละ 100-200 บาท ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน...
          

 

เปิดเสรีสะสม “เงินประกันสังคม”  ..สิทธิอนาคต เอา-ไม่เอา?(จบ)


          ผ่านไป 20 ปี ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ข้าวแกงพุ่งขึ้นจากจานละ 15 บาท เป็น 40 บาท หากใครเกษียณแล้วได้เงินใช้วันละประมาณ 200 บาทคงต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก !?!

          ช่วงเดือนตุลาคม 2560 “นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล” เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ให้ข้อมูลสื่อมวลชนถึงเหตุผลที่อาจต้องประกาศอัตราเก็บเงินสมทบใหม่ จากเดือนละ 750 เพิ่มเป็น 1,000 บาท โดยคำนวณเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เปลี่ยนเป็น 20,000 บาท

          หมายความว่าผู้มีเงินเดือนเกิน 2 หมื่นบาทขึ้นไป ต้องเพิ่มการจ่ายเงินสมทบขึ้นเป็น 1,000 บาท เงินเดือน 16,000 ไม่ถึง 20,000 บาท เก็บเงินสมทบ 800 บาท ส่วนผู้มีเงินเดือนไม่ถึง 16,000 บาท เก็บเท่าเดิม 750 บาท

          การเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นเดือนละ 200-300 บาทนั้น ฝ่ายสนับสนุนมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นต้องรีบทำ เพราะห่วงว่าเงินกองทุนอาจหมดภายในไม่กี่สิบปีข้างหน้า หลังจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือ “ไอแอลโอ” วิเคราะห์ว่าในปี 2557 มีคนไทยรอรับบำเหน็จบำนาญรวมกันประมาณ 2 หมื่นคน คิดเป็นตัวเลขเงินไม่เกิน 1.6 หมื่นล้าน และถ้าเก็บเงินแค่ 750 บาทต่อเดือนไปเรื่อยๆ อีก 30 ปีข้างหน้า เงินจะหมดหน้าตัก “กองทุนชราภาพ” กลายเป็น “ติดลบ” เพราะผู้ประกันตนในปี 2587 เพิ่มขึ้นสูงถึง 6 ล้านกว่าคน เตรียมเงินจ่ายไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านล้านบาท         

          หลายฝ่ายพยายามช่วยกันหาวิธีเพิ่มเงินในกองทุน โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้างที่อยากเพิ่มเงินเข้าไป เพราะนายจ้างและรัฐบาลจะได้สมทบเพิ่มด้วย

          ขณะที่อีก “ฝ่ายไม่เห็นด้วย” โดยเฉพาะผู้นำฝ่ายแรงงานหลายกลุ่ม รู้สึกว่าปัญหาที่เงินกองทุนกำลังลดลงเรื่อยๆ ในอนาคตนั้น การแก้ด้วยวิธีการให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพิ่ม ไม่ได้เป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะเนื้อแท้ของปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงรัฐบาลยังค้างจ่ายเกือบ 6 หมื่นล้านบาท ตามกฎหมายแล้วนายจ้างและลูกจ้างจ่ายร้อยละ 5 รัฐร่วมสมทบร้อยละ 2.75 หมายความว่ารัฐจ่ายน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมนัก ตามหลักการแล้วต้องจ่ายเท่ากัน 3 ฝ่าย

          ปัญหาตอนนี้คือ รัฐจ่ายน้อยกว่าและยังค้างจ่ายถึง 6 หมื่นล้านบาท !

          เม็ดเงิน 6 หมื่นล้านบาทนั้น หากนำไปลงทุนจะมีเงินรายได้เข้ามาเพิ่มอีกทุกปี และการบริหารจัดการกองทุนที่ผ่านมาติดขัดเพราะขั้นตอนของระบบราชการและผู้มีอำนาจตัดสินใจส่วนมากเป็นข้าราชการด้วย

          นักวิชาการพยายามเสนอให้จ้างมืออาชีพเข้ามาบริหารเงินกองทุนเหล่านี้ และให้เพิ่มสิทธิต่างๆ ทั้งเรื่องว่างงาน เจ็บป่วย ชราภาพ ฯลฯ หากมีแผนการลงทุนที่ดีน่าจะพอเพียงกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ควรใช้วิธีเก็บเงินเพิ่มโดยบริหารงานยังไม่ดีพอ ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานที่ถูกหักเงิน 500-750 บาทต่อเดือน ถือเป็นภาระที่หนักอึ้งอยู่แล้ว หากต้องเพิ่มขึ้นไปอีกจะยิ่งทำให้เดือดร้อนมากขึ้น

          ฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในข้อเสนอเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้นมีเหตุผลที่น่ารับฟังทั้งคู่ แล้วทางออกคืออะไร ?

          เป็นไปได้ไหมที่จะมีทางเลือกที่ 3 นั่นคือ “เปิดเสรีเงินประกันสังคม” มอบ “สิทธิ” ในการตัดสินใจให้ผู้ประกันตนแต่ละคน มีโอกาสตัดสินใจเลือกทางออกในอนาคตด้วยตนเอง ?

          หากใครพอมีเงินเก็บ อยากจ่ายเพิ่มตามอัตราเงินเดือนเป็น 1,000–2,000 บาท ฝ่ายนายจ้างและรัฐบาลควักเงินสมทบช่วยตามนโยบายการออมเงินแห่งชาติ ถือเป็นเงินออมสำหรับวัยเกษียณ ช่วยสร้างรายได้ประจำ ทำให้ผู้สูงวัยไม่กลายเป็นภาระของครอบครัวหรือภาระให้รัฐบาลต้องเลี้ยงดู

 

เปิดเสรีสะสม “เงินประกันสังคม”  ..สิทธิอนาคต เอา-ไม่เอา?(จบ)



          “ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์” ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ยืนยันว่า จากตัวเลขประเมินทางคณิตศาสตร์ประกันภัยของผู้เชี่ยวชาญจากไอแอลโอมีความเป็นไปได้สูงมากที่เงินจะหมดในอนาคต เพราะผู้ประกันตนกำลังก้าวเข้าสู่วัยชราพร้อมๆ กัน วัยทำงานเหลือน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ทำงานเพื่อส่งเงินบำนาญให้คนรุ่นเก่า พอถึงเวลาตัวเองเกษียณกลับไม่มีเงินเหลือในกองทุน

          “สิ่งที่ต้องทำคือเร่งเพิ่มสัดส่วนเงินสมทบ คนจีนจ่ายประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน แต่คนไทยจ่ายแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แทบเรียกได้ว่าคนไทยจ่ายน้อยที่สุดในโลก รัฐต้องแก้ปัญหาโดยเก็บเงินสมทบเพิ่ม แต่ไม่ควรเพิ่มมากๆ ครั้งเดียว ต้องทยอยเพิ่มปีละ 2-3 เปอร์เซ็นต์ จนถึงตัวเลขไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ถึงช่วยให้กองทุนอยู่ต่อไปได้”
  
          นักวิชาการข้างต้นเสนอให้ “เปิดเสรีเงินสมทบประกันสังคม” ช่วยแก้ปัญหาเบื้องต้น เพราะกลุ่มที่คัดค้านยืนยันว่าจ่ายมากกว่าเดือนละ 750 บาทไม่ไหว เพราะฉะนั้นต้องเปิดช่องทางเลือก ระบบออป-อิน (opt-in) และออป-เอาท์ (opt-out) หมายความว่า การออกกฎหมายให้สมาชิกทุกคนเพิ่มเงินสมทบรายเดือน แต่ถ้าใครจ่ายไม่ไหวสามารถยื่นเรื่องขอลดได้ แต่ต้องยอมรับสภาพว่าตอนเกษียณจากงาน ตัวเองจะได้เงินน้อยลงไปด้วย

          “วิธีนี้เปิดช่องให้คนลำบากได้มีทางเลือก แต่ผมเชื่อว่าจะมีคนไปลาออกน้อยมาก เพราะเห็นตัวเลขชัดเจนว่า อนาคตเงินสะสมของเขาน้อยลงมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่น นอกจากผู้ที่ลำบากจริงๆ ในทางตรงข้าม ถ้ารัฐบาลเปิดเสรีในลักษณะไม่ได้บังคับตั้งแต่ต้น ใครอยากเพิ่มก็เพิ่มตามความสมัครใจ สุดท้ายอาจไม่ค่อยมีคนมาสมัครจ่ายเพิ่ม เพราะอยากเอาเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นแทน สรุปคือกำหนดให้ทุกคนจ่ายเพิ่มตามสัดส่วนเงินเดือน และเปิดช่องให้มีสิทธิไปยื่นใบสมัครขอลดจำนวนเงินได้อย่างเสรี” ดร.อานนท์ กล่าวแนะนำ

          “สาวิทย์ แก้วหวาน” ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)แสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมาพี่น้องแรงงานไม่ได้คัดค้านเรื่องการเพิ่มเงินสมทบ เพียงแต่มีข้อสงสัยอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1.เงินที่รัฐค้างจ่ายกองทุนอยู่กว่าเกือบ 6 หมื่นล้านบาทนั้น เมื่อไรจะนำมาเติมเข้ากองทุนให้ครบ เพราะทำให้รายได้ของกองทุนขาดหายไป แทนที่จะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนเพิ่มรายได้ กลับสูญเปล่าไปหลายปี

          2.เมื่อเพิ่มเงินสมทบแล้ว จะมีการบริหารผลตอบแทนใหม่ให้ผู้ประกันตนอย่างไร เช่น เงินบำนาญเพิ่มขึ้นเท่าไร ค่าเลี้ยงดูบุตรจ่ายมากกว่า 6 ปีได้หรือไม่ 3.ตอนนี้สัดส่วนเงินที่จ่ายนั้น ลูกจ้างจ่ายร้อยละ 5 ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 750 บาท นายจ้างสมทบร้อยละ 5 เท่ากัน แต่รัฐสมทบแค่ 2.75 ถือว่าไม่ถูกต้องตามจุดประสงค์ของกองทุนประกันสังคม เมื่อไรรัฐจะมาสมทบเพิ่มเป็นร้อยละ 5 เพื่อให้เท่ากันทุกฝ่าย

          “สำหรับข้อเสนอที่จะให้เปิดเงินสมทบเป็นแบบเสรีนั้น พวกเราไม่ได้คัดค้าน หากประกันสังคมจะเปิดช่องให้สมทบเพิ่มได้ เพราะถือเป็นเงินสะสมตอนถึงวัยเกษียณ เพียงแต่อยากให้ชัดเจนว่าสมทบเพิ่มแล้ว เงินจะไปทำอะไรบ้าง ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอเปิดให้ใช้สิทธิอย่างเสรี ใครอยากสมทบเพิ่มก็ได้ ส่วนใครอยากจ่ายแค่ 750 บาทเท่าเดิมก็ได้ ข้อดีคือผู้จ่ายสมทบเพิ่ม จะมีนายจ้างจ่ายเพิ่มด้วย และรัฐต้องเพิ่มตามอัตราส่วนที่ยุติธรรม ตอนนี้เครือข่ายแรงงานกำลังประชุมปรึกษากัน อีกไม่นานจะมีข้อเสนอที่ชัดเจนมากขึ้น เน้นให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์เท่าๆ กัน” นายสาวิทย์กล่าว
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย ด้วยการให้คำมั่นว่า มาตรการเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพียงการปรึกษาหารือ ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนและยังไม่มีมาตรการดำเนินการใดๆ เป้าหมายของรัฐบาลในการเพิ่มอัตราเงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำหรือมนุษย์เงินเดือน

          ทางออกเรื่องนี้อยู่ที่วิธีคิดและวิธีวางแผน จะเลือกวิธี “เก็บเงินเพิ่ม” หรือ “เปิดเสรี” ใครอยากจ่ายก็จ่าย คำตอบตอนนี้ยังไม่มี เพราะ คสช.เลือกวิธีถอยหลบมุม เหมือนรออะไรบางอย่าง !?!

          วินาทีนี้ สิ่งที่ผู้ประกันตนกว่า 10 กว่าล้านคนอยากได้มากสุด คือ ช่องทางให้ตัวเอง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ “สิทธิในอนาคต” ไม่ว่าจะคำตอบจะเป็นการจ่ายเพิ่มหรือจ่ายเท่าเดิม...
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ