คอลัมนิสต์

“รมว.เมติ”แจงญี่ปุ่น พร้อมหนุน“ไทยแลนด์4.0”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“รมว.เมติ”แจงญี่ปุ่น พร้อมหนุน“ไทยแลนด์4.0”

              ในการเยือนไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวน 570 ราย ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายนนี้ นำทีมโดย นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น เพื่อศึกษาลู่ทางการลงทุนในไทย ตามการชักชวนการลงทุนของรัฐบาลไทยกับนานาชาติ เพื่อให้ร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 

             สำหรับญี่ปุ่นการลงทุนในไทยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจะถือเป็นการลงทุน “ระลอก 2” ต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) เมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นฐานการลงทุน “อุตสาหกรรมยานยนต์” สำคัญของญี่ปุ่นในอาเซียน 

               วันที่ 12 ก.ย.60 ซึ่งเป็นการเยือนประเทศไทยวันที่สอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์พิเศษ “เทพชัย หย่อง” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยระบุถึงความสำคัญของประเทศไทยต่อการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในอาเซียน โดยมีรายละเอียดการสนทนา ดังนี้ 

         เทพชัย : การเยือนไทยของท่านและคณะครั้งนี้สร้างความสนใจและความคาดหวังอย่างมากกับรัฐบาลไทย ถึงขั้นรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ บอกว่าการเยือนครั้งนี้เหมือนเป็น “จุดเริ่มต้นของความการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไทยและญี่ปุ่น” โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ท่านเองมองความสำคัญของการเยือนไทยครั้งนี้อย่างไร

           เซโกะ : เดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสต้อนรับคณะท่านสมคิดที่ประเทศญี่ปุ่น และได้หารือกัน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ปีนี้เป็นปีที่ครบรอบ 130 ปีความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ท่านสมคิดได้เชิญนักลงทุนญี่ปุ่นมาเยือนไทย เราก็ตอบรับคำรับเชิญของท่าน

              โดยเฉพาะไทยขณะนี้เร่งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นโอกาสที่บริษัทญี่ปุ่นจะช่วยเหลือไทยให้ดำเนินการสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะพลังงานที่ไทยมี น่าจะเกื้อหนุนให้ญี่ปุ่นเองสามารถผลักดันเศรษฐกิจของตัวเองก้าวขึ้นอีกระดับหนึ่งเช่นกัน

             วิชั่นครั้งนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคณะที่เข้าร่วมถึง 570 ท่าน ไม่เฉพาะท่านสมคิดเท่านั้น แม้แต่ตัวผมเองก็ตื่นตาเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนั้น 570 ท่านที่มา หลายบริษัทเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็มีเอสเอ็มอีร่วมเดินทางมาครั้งนี้ ไม่เฉพาะบริษัทใหญ่จากโตเกียวเท่านั้น ความพิเศษครั้งนี้มีบริษัทญี่ปุ่นเอสเอ็มอีกระจายอยู่เมืองอื่นๆ ร่วมเดินทางมาด้วย เพราะฉะนั้นด้วยจำนวนผู้ประกอบการครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการญี่ปุ่นและไทยได้เป็นอย่างดี การเดินทางครั้งนี้ยังจะทำให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเห็นรูปธรรมในการดำเนินนโยบายเรื่องนี้ของไทย

         เทพชัย :  เข้าใจว่าอาจจะสงสัยในหมู่นักลงทุนญี่ปุ่นว่ารัฐบาลไทยจริงจังกับนโยบาย 4.0 นโยบายอีอีซีแค่ไหน หลังจากมีโอกาสพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดว่ามีความมั่นใจมากขึ้นไหม และนายกฯ ไทยพูดทำนองว่าอยากให้รีบมาลงทุน 3-6 เดือนข้างหน้า คิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ไหม

             เซโกะ : ลำดับแรกสุด ท่าน ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กับท่านประยุทธ์ มีความไว้เนื้อเชื้อใจกันเป็นอย่างดี โดยท่านอาเบะ พบกับท่านประยุทธ์ ในการประชุมจี 7 ได้หารือกันใกล้ชิด ท่านอาเบะอยากให้ไทยมีเสถียรภาพทางการเมือง นอกจากนั้นที่ผ่านมาท่านประยุทธ์ได้ตอบรับข้อเสนอต่างๆ รับข้อคิดเห็นจากนายกฯ ญี่ปุ่น ไปดำเนินการเป็นรูปธรรม สิ่งที่ผ่านมาให้เห็นถึงความเชื่อถือของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีต่อรัฐบาลไทย

             นอกจากนั้น นายกฯ ประยุทธ์ ยังกล่าวย้ำว่า ในอนาคตจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอีอีซี เพราะมีกฎหมายรองรับไว้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอีกกี่ครั้ง ก็จะไม่กระทบต่อนโยบายของอีอีซี คำพูดเหล่านี้ทำให้เกิดความมั่นใจขึ้น โดยนักธุรกิจที่มาฟังก็ล้วนแต่ได้ยินท่านประยุทธ์กล่าวย้ำเรื่องนี้ ทำให้มีความมั่นใจ

            เทพชัย : เท่าที่ท่านรัฐมนตรีเมติ พูดคุยกับนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ร่วมเดินทางมาด้วย คิดว่ามีความสนใจลงทุน หรือศึกษาการลงทุนด้านไหนเป็นพิเศษ

            เซโกะ:  ลำดับแรกสุดต้องเรียนให้ทราบว่า สำหรับ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ไทยถือเป็นซัพพลายเชนที่มีความสำคัญ และมีเสถียรภาพมากที่สุดสำหรับผู้ประกอบการญี่ปุ่น สิ่งที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นคาดหวังคืออยากให้เกิดการ “สร้างมูลค่าเพิ่ม” (Value Added) ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เกิดขึ้น

ส่วนความประทับใจถัดมามองไปที่ “ธุรกิจไอที” มองว่าผู้ประกอบการชาวไทยน่าจะนำเอาเทคโนโลยีไอทีที่เปลี่ยนแปลงเป็นระบบอัตโนมัติ หรือโรบอต (หุ่นยนต์) มาใช้ในการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น แต่ความประทับใจสำคัญที่สุดของมิชชั่นครั้งนี้ คือผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาจากหลากหลายสาขา และเป็นจำนวนมาก น่าจะทำให้เกิดการลงทุนในไทย ช่วยเหลือประเทศไทย พัฒนาเศรษฐกิจ 4.0

             เทพชัย : ก่อนคณะของท่านจะมากรุงเทพฯ ท่านได้ไปเมืองมะนิลา ฟิลิปปินส์ และกำลังจะไปฮานอย เวียดนาม ก็ชัดเจนว่าขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคพยายามดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น เวลาท่านมองประเทศไทย มองว่าอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง

             เซโกะ : ต้องเรียนว่าสำหรับญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียนเป็นคู่ค้าและเป็นมิตรที่สำคัญ ยิ่งกระแสปัจจุบันอเมริกา ไม่เข้าร่วมทีพีพี (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ทำให้อาเซียนจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสร้างความแน่นแฟ้นด้านเศรษฐกิจหลายๆ ด้านกับญี่ปุ่น

              ในบรรดาประเทศอาเซียน ไทยอดีตที่ผ่านมาถือเป็น “ซัพพลายเชน” ที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ การจะสร้างซัพพลายเชนขึ้นมาใหม่ เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นหลังจากนี้นโยบายสำคัญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคงจะเป็น “ฮับ” (ศูนย์กลาง) ที่สำคัญในการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศอาเซียน สำหรับกลยุทธ์ไทยจะมีความสำคัญมากที่สุดในอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับญี่ปุ่น

            เทพชัย : ไทยมีจุดอ่อนอะไรไหมในสายตาท่านที่จะต้องทำให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

              เซโกะ: ไม่ใช่จุดอ่อน แต่เป็นเรื่องที่ญี่ปุ่นเองก็มีปัญหา นั่นคือเรื่อง “ทรัพยากรบุคคล” การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นกระแสที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ประเทศญี่ปุ่นก็ขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่จะปรับตัวให้เขากับเรื่องนี้เช่นกัน เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้การมุ่งสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นปัญหาสำคัญของทั้งญี่ปุ่นและไทยที่จะต้องแก้ไข สร้างบุคลากรให้สอดคล้องกับการปฏิรูปอุตสาหกรรมในอนาคต

           การส่งเสริมการสร้างบุคลากรในไทย ญี่ปุ่นได้ช่วยเหลือไทย เช่น สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้นำสายการผลิตมาทำให้เป็นไอที และสอนนักเรียนให้ควบคุมการผลิตทั้งหมด ซึ่งโนว์ฮาวเหล่านี้ได้ถ่ายทอดจากญี่ปุ่นในระดับอุดมศึกษาของไทย

               เทพชัย : ปีนี้ครบ 130 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ท่านรัฐมนตรีมองความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นที่ยืนยาวนี้อย่างไร และคิดว่าอนาคตจากนี้จะเดินไปในทิศทางไหน

              เซโกะ: เรียนให้ทราบว่าแม้ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเพียงแค่ 130 ปีเองก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่านั้น กล่าวคือเมื่อ 600 ปีที่ผ่านมาที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้แนบแน่นเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ ความเป็นคนญี่ปุ่น คนไทยแน่นแฟ้นกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยเฉพาะคนญี่ปุ่นตระหนักดีกว่าคนไทยมีจิตใจงดงาม อบอุ่นมากทีเดียว สิ่งสำคัญที่ทั้งคนไทยและญี่ปุ่นมีคือ สถาบันพระมหากษัตริย์ที่ยกย่องเสมอมา

             จะเห็นได้ว่าวิสาหกิจญี่ปุ่นรักและชื่นชอบประเทศไทย เช่น มหาวิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมา (ปลายปี 2554) จะเห็นว่าบริษัทญี่ปุ่นไม่ได้หนีหายจากประเทศไทย แต่กลับมาฟื้นฟูกิจการในไทย และอยู่ในปัจจุบันอย่างมั่นคง ดังนั้นความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจเชื่อใจกันของไทยและญี่ปุ่นจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยกับญี่ปุ่นขยายเครือข่ายอุตสาหกรรมไปยังภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแน่นอน

  

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ