คอลัมนิสต์

จีทูจี “เก๊”  กลโกงจำนำข้าวยกแก๊ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จีทูจี “เก๊”  กลโกงจำนำข้าวยกแก๊ง

 

          การเปิดระบายข้าวจีทูจี ที่รัฐบาลแจงว่าส่งมอบข้าวแล้ว แต่กลับพบว่าไม่ได้ส่งออกไปประเทศจีนตามที่ระบุ เป็นอีกคดีทางการเมืองที่ประชาชนให้ความสนใจและติดตามไม่น้อย สำหรับคดีที่อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ถูกมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ชี้มูลว่ามีพฤติการณ์ไม่ระงับยับยั้งการทุจริตและความเสียหาย กรณีนโยบายประชานิยม โครงการรับจำนำข้าวเกวียนละ 1.5 หมื่นบาท กลายเป็น “ต้นตอ” ของการสร้างความเสียหายระดับประเทศ ทั้งจากปริมาณข้าวในสต็อกที่ขาดทุนจากส่วนต่างของต้นทุนรับจำนำ และการทุจริตภายในโครงการรับจำนำข้าว 
          โดยเฉพาะการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ  หรือจีทูจี !
          ย้อนกลับไปถึงไทม์ไลน์สำคัญของคดีดังกล่าว โดยเฉพาะช่องโหว่ที่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” กลบไม่มิด เริ่มต้นหลังการเปิดรับจำนำข้าวทุกเมล็ด เป็นนโยบายประชานิยมที่ได้เสียงฮือฮาตอบรับจากประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรอย่างคับคั่ง 
          จนมีข้าวเข้าสู่โกดังของรัฐบาลเกือบ 40 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 
ด้วยปริมาณข้าวในสต็อกที่ล้น รัฐบาลจึงเลือกใช้วิธีการ “ระบาย” ผ่านการเปิดซื้อขายแบบจีทูจี เพราะกระบวนการเปิดประมูลลักษณะนี้ ความน่าเชื่อถือมีสูงอยู่แล้ว ข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ ยังเป็นการตัดคู่แข่งขันไปโดยปริยาย ไม่ต้องมีการประมูล เพราะถือเป็นเครดิตของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะว่าไปแล้วนับเป็นวิธีการซื้อขายที่ง่าย ทว่าตรวจสอบยากสุด
          การเปิดระบายข้าวสต็อกรัฐในครั้งนั้น ไทยตกลงทำสัญญาซื้อขายกับ รัฐวิสาหกิจจีน คือ บริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp. & exp. Corp. (จีเอสเอสจี) และบริษัท Hainan grain and oil industrial trading company (ไห่หนาน) จำนวนทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 
          สัญญาที่ 1 เป็นการขายข้าวเก่ากับจีเอสเอสจี ปริมาณ 2 ล้านตัน จำนวนเงินกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท สัญญาที่ 2 เป็นข้าวใหม่กับ จีเอสเอสจี ปริมาณ 2 ล้านตัน จำนวนเงิน 2.89 หมื่นล้านบาท สัญญาที่ 3 ข้าวนาปรังปี 2555 กับจีเอสเอสจี ปริมาณ 2.3 ล้านตัน จำนวนเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท และสัญญาที่ 4 ข้าวนาปี 2554/2555 ข้าวนาปรัง 2555 กับไห่หนาน ปริมาณ 6.5 พันตัน จำนวนเงินราว 847 ล้านบาท
          แต่แล้วจีทูจีก็มาติดกับ เมื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น นำข้อมูล “เส้นทางระบายข้าวจีทูจี” มาอภิปราย ก่อนจะยื่นหนังสือต่อป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการระบายข้าว เนื่องจาก พบข้อสังเกตในประเด็นของการเปิดระบายข้าวจีทูจี ที่รัฐบาลแจงว่ามีการส่งมอบแล้ว แต่กลับพบตัวเลขปริมาณการส่งออกข้าวในขณะนั้นไม่มีตัวเลขส่งออกไปจีนตามที่ระบุ
นอกจากนี้ตามหลักการที่ควรปฏิบัติในขั้นตอนเปิดประมูลจีทูจี ผู้รับมอบข้าวจากฝ่ายจีนก็จะต้องเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในวงการค้าข้าวรับรู้ว่าการลงนามควรเป็นของ บริษัท COFCO Corporation (คอฟโก) เท่านั้น แต่บริษัทที่เข้ามาลงนามซื้อขายกับรัฐบาลไทยกลับเป็น บริษัทขายอุปกรณ์เครื่องเขียนและกีฬาในจีน 
          อีกประเด็นที่ทำให้เกิดข้อสังเกตคือ หลักฐานสเตทเมนท์ ธนาคาร บัญชีของกรมการค้าต่างประเทศ ที่เปิดเพื่อรับเงินที่ได้จากการขายข้าว ซึ่งเป็นรายรับของการซื้อขายข้าวจีทูจีกับจีน แต่ยอดโอนเงินกลับมีต้นทางอยู่ในเมืองไทย
          หลังจากหลักฐานทยอยออกมาต่อเนื่อง อนุกรรมการสอบสวน ป.ป.ช. จึงรับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว พร้อมตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการซื้อขายรัฐต่อรัฐ ที่มีการร้องเข้ามาว่าเป็นเรื่องเอกชนตั้งบริษัทโดยไม่ชอบเพื่อการค้าข้าวโดยเฉพาะ ที่สำคัญมีคนได้ประโยชน์จากกรณีนี้ 
          มาถึงวันที่ 16 มกราคม 2557 คณะอนุกรรมการป.ป.ช.ได้รวบรวมข้อมูล หลักฐาน พร้อมไต่ส่วนพิจารณาจากพยานหลักฐาน พบว่าในการซื้อขายข้าวจีทูจีระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีน ไม่มีการส่งออกข้าวออกนอกราชอาณาจักรจริง จึงมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น และพวกรวม 15 ราย ซึ่งรวมถึงผู้แทนเจรจาฝ่ายสาธารณรัฐประชาชนจีน และกลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้แทนฝ่ายจีน ได้แก่ นายรัฐนิธ โสจิระกุล นายสมคิด เอื้อนสุภา และนายลิตร พอใจ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด
          นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงจากการไต่สวนของป.ป.ช.เกี่ยวกับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าเงินที่ชำระค่าซื้อขายข้าวกับหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน ส่วนใหญ่เกี่ยวพันกับ บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด รวมทั้งนายรัฐนิธ ยังเป็นผู้ช่วย ส.ส.ในลำดับที่ 3 ของนางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (ภรรยานายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง) ส่วนนายนิมล รักดี ปรากฏข้อมูลว่าเป็นมือขวา “เสี่ยเปี๋ยง” หรือนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร  อดีตพ่อค้าข้าวชื่อดัง ผู้ก่อตั้งบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด
          ท้ายสุด ป.ป.ช.รวบรวมหลักฐานทั้งหมด มัดตัวบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด มีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของกลุ่มสยามอินดิก้า และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ “เสี่ยเปี๋ยง” รวมทั้งสิ้น 662 รายการ มูลค่าประมาณ 7,000 ล้านบาท 
เวลานี้ “เสี่ยเปี๋ยง” ถูกลงโทษจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ ฐานความผิดยักยอกทรัพย์ จากที่กรมการค้าต่างประเทศร้องทุกข์ข้าวในโครงการขายให้อิหร่านหาย เป็นระยะเวลา 6 ปีไม่รอลงอาญา ปรับ 1.2 หมื่นบาท และคืนข้าวที่ยักยอก รวม 2.1 หมื่นตัน หรือชดใช้เป็นเงิน 229.87 ล้านบาท
          ส่วนความผิดของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ และพวก ในคดีขายข้าวจีทูจี ป.ป.ช.ชี้มูลพบการกระทำผิดมีการแบ่งหน้าที่กันทำงานเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทไม่ต้องแข่งขันราคากับผู้เสนอรายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศ หรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำไปขายในประเทศ หรือขายให้บริษัทสยามอินดิก้า นำไปขายต่ออีกทอด ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสืบทรัพย์เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไป.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ