คอลัมนิสต์

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทยสานสายสัมพันธ์2ประเทศ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทย สานสายสัมพันธ์ 2 ประเทศยาวมากกว่า 600 ปี

 

          นับว่าเป็นโอกาสสำคัญยิ่ง เมื่อสำนักพระราชวังญี่ปุ่นแจ้งหมายกำหนดการ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ พร้อมด้วย สมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะแห่งญี่ปุ่น จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 5-6 มีนาคม 2560 ในการถวายสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในการนี้จะทรงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อแสดงความเสียพระราชหฤทัย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ด้วย

 

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทยสานสายสัมพันธ์2ประเทศ

 

          หากนับย้อนกลับไปในอดีตถึงความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น จริงๆ แล้วยืนยาวมามากกว่า 600 ปี ตั้งแต่ในสมัยอยุธยา โดยเริ่มต้นจากการค้าขาย ซึ่งนอกจากความสัมพันธ์ในด้านดังกล่าวแล้ว ในด้านความสัมพันธ์ระดับราชวงศ์ของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นก็ยังแน่นแฟ้นมากเช่นเดียวกัน

          นับตั้งแต่ประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ.2430 (ค.ศ.1887) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างน่าพอใจในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยลำดับ นับตั้งแต่การเสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2474 (ค.ศ.1931) ซึ่งเป็นการเสด็จฯ เยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์ไทย

 

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทยสานสายสัมพันธ์2ประเทศ

 

          ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2506 (ค.ศ.1963) หนึ่งปีหลังจากการแก้ไขปัญหาเงินกู้ยืมในสมัยสงครามได้สำเร็จลุล่วง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ทั้งพระราชวงศ์ของญี่ปุ่นและประชาชนชาวญี่ปุ่นได้เฝ้าฯ รับเสด็จอย่างอบอุ่น 

          ถัดมาเพียงปีเดียวในเดือนธันวาคม พ.ศ.2507 (ค.ศ.1964) เจ้าชายอากิฮิโต มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น พร้อมด้วย เจ้าหญิงมิชิโกะ พระชายา (พระยศในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ แทนพระองค์สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต และสมเด็จพระจักรพรรดินี มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นการตอบแทน ซึ่งในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสเชียงใหม่ร่วมกับพระองค์ ซึ่งในการเสด็จฯ ครั้งนั้น มกุฎราชกุมารอากิฮิโตะทรงทราบจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า ชาวเขาเผ่าม้งมีปัญหาด้านโภชนาการ ขาดโปรตีนที่ดี จึงทูลเกล้าฯ ถวายพันธุ์ปลาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เพื่อทรงทดลองเลี้ยงในสวนจิตรลดาจนประสบความสำเร็จ และพระราชทานชื่อปลาว่า “ปลานิล” เป็นการรำลึกถึง “มกุฎราชกุมาร” ผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ด้วยว่า พระนาม “อากิฮิโตะ” หากเขียนด้วยตัวอักษร อากิ กับ ฮิโต จะอ่านได้อีกเสียงหนึ่งว่า “นิง” (nin) ซึ่งใกล้เคียงกับเสียง “นิล” (ตามความเห็นของ ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies) นอกจากนี้ระหว่างการเสด็จฯ ไปเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงเป่าคลาริเน็ตเพลง “Memories of You“ ถวายด้วย ทำให้ทั้งสองพระองค์ประทับพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงขับรถยนต์พระที่นั่งพาทั้งสองพระองค์ขึ้นเขาทอดพระเนตรวิถีชีวิตชาวบ้านและทิวทัศน์ธรรมชาติด้วยพระองค์เอง ยิ่งสร้างความประทับพระราชหฤทัยแก่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นและพระชายามากยิ่งขึ้น

 

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทยสานสายสัมพันธ์2ประเทศ

 

          หลังจาก สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต สวรรคตเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2532 (ค.ศ.1989) มกุฎราชกุมารอากิฮิโต เสด็จขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ได้เสด็จฯ มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2534 (ค.ศ.1991) ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่เสด็จฯ เยือนภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์ และเป็นประเทศในทวีปเอเชียประเทศแรกที่สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จพระราชดำเนินเยือน การเสด็จฯเยือนครั้งนั้นเป็นการเยี่ยมเยือนในฐานะ “พระราชอาคันตุกะของพระมหากษัตริย์” และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นมงคลยิ่งราชมิตราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติสูงที่สุดของประเทศไทยแก่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการผูกสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสองประเทศ

 

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทยสานสายสัมพันธ์2ประเทศ

 

          เพราะพระราชวงศ์ทั้งสองมีความใกล้ชิดกันมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของไทย เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระศพสมเด็จพระจักรพรรดินีโคชุน เมื่อปี พ.ศ.2543

          อีกหนึ่งตัวอย่างของสายสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์จักรีกับพระราชวงศ์เบญจมาศที่แนบแน่น นั่นคือ การที่สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะทรงกระทำฝ่าฝืนกฎราชสำนักโดยการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งเป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 60 ปี พระองค์ทรงเข้าร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ซึ่งปกติตามธรรมเนียมของญี่ปุ่น สมเด็จพระจักรพรรดิจะไม่เสด็จฯ เยือนประเทศใดแบบเป็นทางการ (State Visit) เป็นครั้งที่ 2 เลย ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศแรก เพราะพระองค์มีพระราชประสงค์ย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งของทั้งสองพระราชวงศ์ และในพระราชพิธีนี้พระองค์ประทับตรงกลางระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองราชวงศ์ได้เป็นอย่างดี

          นอกจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะแล้ว สมาชิกราชวงศ์พระองค์อื่นๆ ก็มีความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศไทยเช่นกัน เจ้าชายอากิชิโนะ พระราชโอรสในสมเด็จพระจักพรรดิอากิฮิโตะทรงมีพระราชไมตรีอันแน่นแฟ้นกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์เสด็จเยือนประเทศไทยบ่อยครั้ง และยังได้ทรงศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ของไทยอีกด้วย

 

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทยสานสายสัมพันธ์2ประเทศ

 

          ทั้งนี้ เมื่อ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมอบหมายให้นายชิเคโอะ คาวาอิ ประธานองคมนตรี เป็นตัวแทนพระองค์ไปยังสถานทูตไทยประจำกรุงโตเกียว เพื่อแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นอกจากนี้สำนักพระราชวังอิมพีเรียลของญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ซึ่งมีพระชนมพรรษา 82 พรรษา พร้อมกับสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ แสดงความอาลัยเป็นเวลา 3 วันต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในราชวงศ์ของญี่ปุ่น

          ...ยังไม่นับที่จะเสด็จพระราชดำเนินมาถวายสักการะพระบรมศพด้วยพระองค์เอง ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ที่เสด็จฯ เยือนประเทศไทย

 

จักรพรรดิญี่ปุ่นเสด็จฯเยือนไทยสานสายสัมพันธ์2ประเทศ

 

...............................
ข้อมูล : หนังสือ เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น ปี พ.ศ.2506 โดยฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักพระราชวัง, หนังสือพิมพ์โยมิอุริชิมบุนของญี่ปุ่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ