คอลัมนิสต์

ดาวูดีโบห์รา : อีกกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในประเทศไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดาวูดีโบห์รา : อีกกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมในประเทศไทย  : วิถีมุสลิมโลก โดยศราวุฒิ อารีย์ 

           มุสลิมในประเทศไทยมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ มีประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ของมุสลิมไทยได้สร้างคุณูปการต่อประเทศชาติและสังคมไทยในมิติต่างๆ มากมาย คนเหล่านี้เมื่อได้เข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินสยามก็ยึดหลักปักฐานสร้างบ้านแปลงเมืองจนมีลูกมีหลาน กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างกลมกลืน

           มุสลิมเหล่านี้สามารถแบ่งได้อย่างกว้างๆ เป็น 2 กลุ่มครับ กลุ่มแรกคือมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งถือเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่มีอยู่มากที่สุดในประเทศ ส่วนอีกกลุ่มคือมุสลิมกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษได้อพยพมาจากดินแดนส่วนต่างๆ ของโลกมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซีย มุสลิมชวาจากอินโดนีเซีย มุสลิมจามจากเขมร มุสลิมจีนจากยูนนาน มุสลิมปาทานจากปากีสถาน และมุสลิมอินเดีย

           ในบทความนี้ผมขอนำเสนอมุสลิมอินเดียกลุ่มที่เรียกว่า “ดาวูดีโบห์รา” ครับ

           ความจริง “ดาวูดีโบห์รา” เป็นชื่อเรียกคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาทำการค้าและตั้งรกรากอยู่ในสยามประเทศตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่นที่สำแดงผ่านการแต่งกายและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ ทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในนาม “แขกสะระบั่นทอง” หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ “แขกตึกขาว” โดยเรียกตามสีของอาคารในย่านมัสยิดเซฟี อันเป็นศูนย์รวมทางศาสนาของชาวดาวูดีโบห์ราที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นเวลากว่า 100 ปี

           คำว่า “ดาวูดีโบห์รา” เป็นคำที่สมาสขึ้นจากคำสองคำ คือ ดาวูดี และ โบห์รา ซึ่งคำว่า ดาวูดี เป็นคำที่เรียกตามนามของไซยิดนาดาวูด บินกุตุบชาฮ์ (มรณะ ค.ศ.1612) ผู้เป็นดาอีย์มุตลัก (the absolute missionary) หรือผู้นำทางจิตวิญญาณท่านที่ 27 ในศาสนาอิสลามนิกายชีอะฮ์อิสมาอีลียะฮ์ (Ismāʿīlism) ส่วนคำว่า “โบห์รา” มาจากคำ vehru ในภาษาคุชราต หมายถึง การค้าขาย ทั้งนี้ก็เพราะว่าชาวดาวูดีโบห์รามีอาชีพหลักเป็นพ่อค้า

           คนกลุ่มนี้ได้เดินทางไปค้าขายตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก และหนึ่งในประเทศเหล่านั้นก็คือประเทศไทย

           มีข้อสันนิษฐานว่า ชาวดาวูดีโบห์รากลุ่มแรกจากรัฐคุชราต ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของอินเดีย ได้อพยพมายังสยามประเทศประมาณ พ.ศ.2400 ตรงกับช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยส่วนใหญ่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ย่านราชวงศ์ เยาวราช และพาหุรัด

           พวกเขาได้เข้ามาพร้อมสินค้าต่างๆ เช่น เครื่องประดับ เครื่องเงิน แพรภัณฑ์ เครื่องเทศ และเครื่องหอม และตั้งร้านค้าอยู่บริเวณถนนเจริญกรุง พาหุรัด ถนนจักรเพชร และตลาดมิ่งเมือง ซึ่งต่อมากิจการของพวกเขาได้ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น ห้างไนติงเกล (ฝั่งตรงข้ามดิ โอลด์สยาม) ห้างอับดุลราฮิม และห้างขายผ้ามัสกาตี เป็นต้น

           เนื่องจากชาวดาวูดีโบห์รามีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ดังนั้นภาษาที่พวกเขาใช้ในชีวิตประจำวันจึงเป็นภาษาคุชราต แต่ในพิธีสำคัญทางศาสนาจะมีภาษาที่ใช้กันเป็นพิเศษ คือ ภาษาดาวัต (Lisan ud-Dawat) ซึ่งเป็นภาษาที่เกิดขึ้นจากการผสมผสานระหว่างภาษาคุชราต อาหรับ และอุรดู ส่วนใหญ่เราจะพบเห็นการใช้ภาษานี้ได้ในการแสดงธรรม

           ชาวดาวูดีโบห์ราในปัจจุบัน ถึงแม้จะห่างเหินจากรากเหง้าเดิมมาเป็นเวลานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังสามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคำสอนทางศาสนาและการมีกิจกรรมทางศาสนาร่วมกันในวันสำคัญต่างๆ ที่เป็นเสมือนโอกาสอันดีให้ชาวดาวูดีโบห์ราทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ได้มาร่วมรับฟังภาษาดาวัต ซึ่งเป็นภาษาเดิมของพวกเขา

           รวมถึงข้อกำหนดในการแต่งกาย และวิถีการกิน ที่ถือเป็นปัจจัยร่วมในการรักษาอัตลักษณ์ของชาวดาวูดีโบห์ราในประเทศไทยไว้ไม่ให้ลบเลือนไปตามกาลเวลา
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ