
เตือน5อุบัติเหตุภัยร้าย'เด็กเล็ก'พร้อมแนะวิธีกู้ชีพฉุกเฉิน
เตือน5อุบัติเหตุภัยร้าย'เด็กเล็ก'พร้อมแนะวิธีกู้ชีพฉุกเฉินเด็กติดในรถ : สายตรวจระวังภัย โดยปฎิญญา เอี่ยมตาล
เหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นกับ “เด็กเล็ก” บ่อยครั้งโดยเฉพาะช่วงเปิดเทอม อันตรายจากรถโรงเรียนจากเหตุเด็กติดในรถตู้ระหว่างกลับบ้าน หรือแม้แต่อุบัติเหตุรถยนต์ตกน้ำ จมน้ำ เหตุเหล่านี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่บางครั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความประมาทก็อาจทำให้เกิดความสูญเสียได้ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แนะแนวทางการปฏิบัติตัวแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อลดความเสี่ยงและลดอัตราการเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยสิ่งแรกที่ควรคำนึงคือ ไม่ควรทิ้งเด็กอยู่ลำพังภายในรถ เพราะเด็กอาจเผลอไปกดกระจกไฟฟ้าเล่น เกิดพลาดหนีบนิ้วมือมือ แขน หรือศีรษะได้รับบาดเจ็บ หรืออาจไปกดล็อกประตูแล้วติดค้างอยู่ในรถเป็นเวลานาน ไม่สามารถออกได้ จนขาดอากาศหายใจในที่สุด นอกจากจะต้องให้ความรู้ต้องสอนวิธีการเอาตัวรอดด้วย
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ (สพฉ.) อธิบายขั้นตอนการช่วยเหลือเด็กที่ติดอยู่ในรถว่า ต้องรีบทุบกระจกเพื่อนำเด็กออกมาให้เร็วที่สุด เพราะเด็กไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เสียชีวิตเพราะความร้อนที่อยู่ในรถ เพียง 5 นาที อุณหภูมิในรถจะเพิ่มสูงขึ้นจนเด็กไม่สามารถอยู่ได้ และยิ่งนานเกิน 10 นาที ร่างกายของเด็กจะแย่ลง และภายใน 30 นาที เด็กอาจหยุดหายใจ ทำให้อวัยวะทุกส่วนหยุดทำงานและเสียชีวิต
“หากพบเห็นเหตุการณ์เด็กหมดสติ ไม่หายใจ ผู้ช่วยเหลือจะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ และในระหว่างที่รอต้องรีบนำเด็กออกมาจากรถ และนำไปอยู่บนพื้นราบที่อากาศปลอดโปร่ง พร้อมกับทำการช่วยฟื้นคืนชีพ แต่ถ้าหากเด็กเกิดอุบัติเหตุ จนอาจได้รับอันตรายที่กระดูกสันหลัง ให้ยกเว้นการเคลื่อนย้ายหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่” นพ.อนุชาระบุ
ทั้งนี้ สพฉ.ได้รายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา พบอุบัติเหตุและภัยที่เกิดขึ้นกับเด็กที่น่าเป็นห่วง 5 เรื่อง คือ 1.อุบัติเหตุยานยนต์ มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุกับเด็กกว่า 3,520 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ หากนำเด็กซ้อนรถจะต้องสวมหมวกกันน็อก 2.พลัดตกหกล้มจากที่สูงหรืออุบัติเหตุสิ่งของล้มทับ โดยช่วงปิดเทอมมีเด็กได้รับอุบัติเหตุกว่า 2,155 ครั้ง 3.เกิดจากการถูกสัตว์มีพิษกัดต่อย โดยมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุกว่า 500 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กอายุระหว่าง 2-8 ปี 4.เกิดจากการพลัดตกน้ำ จมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเด็กไทย ดังนั้นผู้ปกครอง ควรดูแลเด็กไม่ให้ไปเล่นใกล้แหล่งน้ำ และสอนให้เด็กว่ายน้ำและลอยตัวให้เป็น 5. อุบัติเหตุจากไฟดูด ไฟช็อต มีสถิติการเกิด 86 ครั้ง บ้านไหนที่มีปลั๊กไฟอยู่ในระดับล่าง ควรหาอุปกรณ์มาครอบปลั๊กไฟไว้
นพ.อนุชาได้ระบุอีกว่า ผู้ปกครองหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์อยู่ในรถพุ่งตกน้ำจะต้องตั้งสติให้ดี และพึงระลึกไว้เสมอว่า ยังมีเวลา เพราะรถจะไม่จมลงในทันที แต่จะค่อยๆ จมลงอย่างช้าๆ โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ ปลดเข็มขัดนิรภัยของตนเองและเด็ก โดยไม่ควรออกแรงมาก เพื่อเก็บอากาศหายใจที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ จากนั้นให้ยกส่วนศีรษะให้สูงเหนือระดับน้ำที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในรถ ปลดล็อกประตูรถทุกบาน และหมุนกระจกให้น้ำไหลเข้าในรถเพื่อปรับความดันในรถและนอกรถให้เท่ากัน เมื่อความดันใกล้เคียงกันแล้วให้ผลักบานประตูออกให้กว้างสุด แล้วรีบพาเด็กออกจากห้องโดยสาร แต่หากรถเป็นระบบไฟฟ้า จะต้องใช้ค้อนเหล็ก หรือของแข็งที่มีอยู่ในรถ ทุบกระจกด้านข้างให้แตก ไม่ควรทุบกระจกหน้าหรือหลัง เพราะเป็นกระจกนิรภัยจะแตกยากกว่า ซึ่งหากเรียนรู้และปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ ก็จะช่วยให้รอดและปลอดภัยได้ในยามคับขัน