
ปัญญาชนไทย : เราจะไปทางไหนกัน?
ปัญญาชนไทย : เราจะไปทางไหนกัน? : กระดานความคิด โดยบางนา บางปะกง
ประเด็นร้อนทางการเมืองที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในบางสื่อ และไม่เป็นข่าวเลยในอีกหลายๆ สื่อคือ การเคลื่อนไหวของเครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย ออกแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” และเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเอง
เรื่องมันเกิดจากนักวิชาการกลุ่มหนึ่งทำงานร่วมกันใน “ชุดโครงการวิจัยความเปลี่ยนแปลงชนบทในสังคมไทย : ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว” ที่มี ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหัวหน้าโครงการ และได้นัดหมายสรุปผลงานวิจัยร่วมกันที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2558
บังเอิญว่า ช่วงนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการเรียนการสอนในสถาบันอุดมศึกษา อาจารย์กลุ่มดังกล่าวจึงถือโอกาสแถลงข่าวเรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร”
ต่อมาทางกองทัพมอบอำนาจให้ พ.ท.อภิชาต กันทะวงศ์ ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อนักวิชาการกลุ่มนี้ในข้อหา “ร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” แล้ววันที่ 11 พฤศจิกายน ทางตำรวจ สภ.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ก็ออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัว เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
ด้วยเหตุนี้ จึงมีแถลงการณ์เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ออกมาเผยแพร่ผ่านสื่อใหม่และสื่อเก่า
“เสรีภาพ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความงอกงามในทางความรู้ การแสดงความเห็นจากมุมมองหรือวิธีคิดที่แตกต่างบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง จะนำไปสู่ความเข้าใจใหม่ในเรื่องต่างๆ ซึ่งทำให้มนุษย์และสังคมมีความรู้และสติปัญญามากขึ้น สามารถจัดการปัญหาและเผชิญหน้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์จำนวนมากในมหาวิทยาลัยจึงไม่ได้เป็นการสอนให้ท่องจำและยึดมั่นในวิธีคิดและอุดมการณ์แบบใดแบบหนึ่งโดยปราศจากการโต้แย้ง”
ปฏิกิริยาข้างต้นจากปัญญาชนไทยเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และขึ้นชื่อว่า ปัญญาชนในโลกใบนี้ ไม่มีใครจะยอมวางตัวเฉย เมื่อเห็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรับรู้ข่าวสารของประชาชนโดยผู้มีอำนาจรัฐ แต่มีข้อยกเว้นสำหรับปัญญาชนไทย พ.ศ.นี้
ย้อนไปในยุคสงครามเย็น ระหว่างปี 2500-2515 ปัญญาชนไทยได้จุดประกายการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ จากจุดเล็กๆ จนขยายไปเป็นการรวมตัวของพลังมวลชนขนาดใหญ่
ตัวอย่างสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้ผลิตนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ โดยกลุ่มปัญญาชนสยาม แล้วนำไปสู่การตั้งกลุ่มปริทัศน์เสวนา
จากกลุ่มปริทัศน์เสวนา ได้มีการรวมกลุ่มตามสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น กลุ่มเศรษฐศาสตร์, สภาหน้าโดม ธรรมศาสตร์, สภากาแฟ ม.ก., ชมรมคนรุ่นใหม่ รามคำแหง และกลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ จุฬาฯ
ด้านหนึ่งเกิดการรวมตัวกันเป็นศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2513 โดยมี 11 สถาบันเข้าร่วมคือ จุฬาฯ, เกษตรศาสตร์, เชียงใหม่, ธรรมศาสตร์, ศิลปากร, รามคำแหง, มหิดล ฯลฯ โดยทำกิจกรรมเพื่อสังคมในช่วงแรก และขยับก้าวสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในรั้วมหาวิทยาลัย
จุดเปลี่ยนของขบวนการนักศึกษาปัญญาชนไทยคือ การเคลื่อนไหวนอกรั้วมหาวิทยาลัย ได้แก่ คัดค้านการขึ้นค่ารถเมล์ในกรุงเทพฯ, รณรงค์ให้คนไทยใช้สินค้าไทย ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นโดยจัดสัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น, คัดค้านคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับ 299 ที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารก้าวก่ายอำนาจตุลาการ ฯลฯ
จุดแตกหักคือ การเรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนอำนาจการปกครองให้ประชาชน และต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือน
สังคมไทยในปัจจุบัน ความแตกแยกทางความคิดของประชาชน 2 กลุ่ม ที่มีมาตั้งแต่ปี 2549 ได้ทำให้เกิด “สงครามความเชื่อ” และเอื้อให้ “อำนาจนิยม” อยู่เหนืออำนาจประชาชน
การเคลื่อนไหวของปัญญาชนไทยใน พ.ศ.นี้ จึงถูกมองด้วยสายตาหวาดระแวงจากประชาชนอีกฟากฝ่ายหนึ่ง ฉะนั้น “เสรีภาพ” ที่พวกเขาเพรียกหาอยู่นั้น ก็อาจถูกตั้งคำถามว่า เสรีภาพของใคร?
สุดท้ายสังคมไทย คงต้องเริ่มต้นด้วยคำถามเดิมๆ “เราจะไปทางไหนกัน”