คอลัมนิสต์

'ทินพันธุ์ นาคะตะ'ครูการเมืองทหาร

'ทินพันธุ์ นาคะตะ'ครูการเมืองทหาร

13 ต.ค. 2558

'ทินพันธุ์ นาคะตะ'ครูการเมืองทหาร : กระดานความคิด โดยบางนา บางปะกง

              เชื่อว่านักข่าวสายรัฐสภารุ่นใหม่ จะไม่รู้จักชื่อ ศ.ร.อ.ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อย่างแน่นอน เพราะท่านหายไปจากแวดวงการเมืองไทยนานเกือบ 20 ปีแล้ว

              พลันที่ พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิก สปท.สาย “บ้านพี่ใหญ่” ให้สัมภาษณ์สื่อว่า จะเป็นผู้เสนอชื่ออาจารย์ทินพันธุ์ต่อที่ประชุม สปท. ให้ดำรงตำแหน่งประธาน สปท.

              ย้อนไปสมัย “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อาจารย์ทินพันธุ์เป็นนักวิชาการค่ายนิด้า ที่โดดเด่นมาก และมีบทบาทในหมู่นายทหารหลายรุ่น

              จริงๆ แล้ว อาจารย์ทินพันธุ์ เป็นอดีตนายทหาร จปร.5 โดยเริ่มจากเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อยทหารบกรุ่นที่ 12 (จปร.5) จบแล้วก็เข้าเรียนหลักสูตรผู้บังคับหมวดกองร้อยทหารปืนใหญ่

              จากนั้นอาจารย์ทินพันธุ์สมัครไปประจำการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 นครศรีธรรมราช เป็นเวลา 3 ปี ได้ย้ายกลับมาเป็นนายทหารปกครองโรงเรียนนายร้อย จปร. ก่อนลาออกไปเรียนต่อปริญญาโท หันหลังให้อาชีพทหาร

              ถึงกระนั้น นายทหาร จปร.5 ก็ยังนับเอาอาจารย์ทินพันธุ์เป็นเพื่อนร่วมรุ่น โดยเฉพาะ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ถือว่าเป็นเพื่อนรักเพื่อนเรียนกันมาแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย

              เมื่อจบปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ สหรัฐ แล้วก็เป็นอาจารย์สอนที่นิด้า ช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน ปี 2516-2519

              หลัง 6 ตุลาคม 2519 ดร.แสง สงวนเรือง เพื่อนอาจารย์นิด้า พาอาจารย์ทินพันธุ์ไปพบกับนายทหาร “ยังเติร์ก” (จปร.7) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องบ้านเมือง

              ว่ากันว่า อาจารย์ทินพันธุ์เป็นหัวเรือใหญ่หว่านล้อมกลุ่มยังเติร์กให้เชื่อว่าแนวทางขวาจัดเป็นอันตรายต่อประเทศ ในที่สุดคณะทหารหนุ่มก็หนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ล้มรัฐบาลธานินทร์

              ต่อมา เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมารอง ผบ.ทบ. ตั้งคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ด้วย พล.อ.สัณห์ เคยเรียนปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่นิด้า จึงชวนอาจารย์ทินพันธุ์มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ

              อาจารย์ทินพันธ์อยู่กับ พล.อ.เปรม จนถึงปี 2531 และได้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

              เรื่องเล่าของอาจารย์ทินพันธุ์ยังมีอีกยาว ขอรวบรัดเอาไว้แค่นี้ก่อน และอยากแนะนำให้รู้จักความคิดความอ่านของท่านสักนิด

              ในหนังสือ “การเมืองไทย ระบบที่ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา” โดยบทที่ว่าด้วยทหารกับการเมือง อาจารย์ทินพันธุ์ยกตัวอย่างกรณี พล.อ.เกรียงศักดิ์ กับประชาธิปไตยแบบไทย

              “หลังการรัฐประหาร พ.ศ.2520 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ สัญญาว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรภายใน 1 ปี และมีการเลือกตั้งในไม่กี่เดือน หลังจากการยึดอำนาจ โดยที่ทหารหนุ่มที่สนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ขึ้นมายอมรับการมีเสรีภาพ และประชาธิปไตยได้ ถ้าสิ่งดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างเสถียรภาพทางการเมืองขึ้นมาได้ เพราะต้องการคลี่คลายความตึงเครียดที่เกิดจากนโยบายขวาจัดของรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ก็ต้องไม่กระทบกับผลประโยชน์ของกองทัพด้วย”

              จากยุคที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นนายกฯ สืบต่อมาจนถึงยุคของ พล.อ.เปรม รวม 12 ปี ที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” อาจารย์ทินพันธุ์สรุปว่า

              “12 ปีของการมีเสรีภาพและระบอบรัฐสภาจะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เป็นเพราะความริเริ่มดังกล่าวของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ การเมืองระบบเปิดทำให้เกิดการพัฒนาของสถาบันต่างๆ และค่อยๆ ทำให้ทหารอยู่ในกรอบกติกาพอสมควร ทั้งนี้รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2531 ซึ่งทหารยังไม่อาจถอนตัวจากการเมืองได้และยังคงมีบทบาทในฐานะคนกลาง และผู้สนับสนุนรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เต็มใจให้พรรคการเมืองต่างๆ เข้าควบคุมรัฐได้อย่างเต็มที่นัก”

              ประชาธิปไตยครึ่งใบ กำลังจะหวนคืนมา และอาจารย์ทินพันธ์ุก้าวเข้ามาเป็นนักปฏิรูปใต้ร่มเงาทหารอีกครั้ง