คอลัมนิสต์

ล้วงลึก'ย้ายข้ามห้วย'มท.ไปทำเนียบฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ล้วงลึก'ย้ายข้ามห้วย'จาก'สิงห์มหาดไทย'ไป'สำนักนายกฯ' : ขยายปมร้อน โดยวัฒนา ค้ำชู, สมถวิล เทพสวัสดิ์


                ชาวสิงห์คลองหลอดรู้ดีกันแทบทุกคนเมื่อก้าวย่างสู่เดือนเมษายน ต้องมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็นประจำทุกครั้งไป เรียกเป็นว่าเป็นฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายเล็ก หากก้าวสู่ช่วงเดือนตุลาที่มีข้าราชการเกษียณราชการเป็นจำนวนมากเรียกว่าเป็นฤดูกาลโยกย้ายใหญ่ ถือเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวกระทรวงมหาดไทยมายาวนาน

                เวลาหมุนเปลี่ยนเมื่อ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” มานั่งเป็น "รมว.มหาดไทย" ภาพลักษณ์ที่ออกมามีลักษณะเป็นมือใหม่หัดขับได้ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนานทำให้หลายฝ่ายที่เป็นเหล่าข้าราชการคิดไปต่างๆ นานาหลายเหตุผล คิดว่าแนวโน้มอาจจะยกไปปรับจัดทัพใหญ่ในฤดูกาลย้ายใหญ่เป็นแน่แท้ แต่อีกกระแสชัดเจนเกิดจากปัญหานายใหญ่คนแดนไกลต้องการให้ชะลอปรับ ครม. เป็นเหตุให้การทำคลอดจัดแถวข้าราชการคลองหลอดเป็นไปอย่างล่าช้า เพื่อสยบรอยร้าวในพรรคที่มีกระแสของคนในพรรคเพื่อไทยที่ไม่พอใจการบริหารงานของ "จารุพงศ์” ยึดรูปแบบทำงานคิดเก่า ทำเก่าไร้แผนสานงานใหม่ รอแค่วันปรับรัฐมนตรีรอบใหม่ค่อยปลดระวางให้ไปนั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีเก้าอี้เดียว เพื่อป้องกันบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

                แม้ก่อนหน้าการจัดแถวข้าราชการในยุคของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” เคยรับบัญชีรายชื่อจากหัวหน้ากลุ่มก๊วนจากภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และภาคใต้ ก่อนหน้านี้แล้วจัดสรรโควตาเก้าอี้ใหญ่ไปตามระเบียบเมื่อขอมาก็จัดให้ไปแบบจัดเต็ม จัดหนักไปเรียบร้อยในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันปัญหาเริ่มเกิดขึ้น ครั้นไปดูบัญชีรายชื่อที่ “จารุพงศ์" แต่งตั้งโยกย้ายเสนอต่อที่ประชุม ครม. ให้ความเห็นชอบเซ็นผ่านการตรวจสอบจาก “วิบูลย์ สงวนพงศ์” ปลัดกระทรวงมหาดไทย รับจากนายใหญ่คนแดนไกลสายตรงผ่านน้องรัก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จำนวน 5 ราย

                เริ่มจาก “แก่นเพชร ช่วงรังษี” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่เหลือเวลาอีก 2 ปีกว่าจะเกษียณอายุราชการในปี 2558 ในอดีตเคยนั่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ อุดรธานี สุดท้ายต้องไปนั่งเก้าอี้เป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย

                ตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีกระแสข่าวลือเก้าอี้หักมาตลอด เนื่องจากทำงานไม่เข้าตาฝ่ายการเมืองในเรื่องการบริหารเม็ดเงินงบประมาณ หรือแม้แต่ระเบียบบริหารงานบุคคลที่ตั้งสารพัดคณะกรรมการกลั่นกรองงานแทบทุกเรื่อง ซึ่งอดีตไม่เคยมีทำให้งานบริหารงบส่งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่คล่องตัว

                โดยปรับอดีตลูกหม้อเคยนั่ง "รองอธิบดี สถ." อย่าง "วัลลภ พริ้งพงษ์” รองปลัดกระทรวงมหาดไทย สิงห์ไร้สีจบจากอินเดียมานั่งพิสูจน์ฝีมือ ก่อนเกษียณในปี 2558

                ขณะที่ “ธงชัย ลืออดุลย์” ผู้ว่าฯ บึงกาฬ สิงห์ทองรามคำแหง เลื่อนไปนั่งเป็น "ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์" รอเกษียณราชการในปี 2558 มีความชำนาญงานด้านการข่าวพร้อมเปิดทางให้กับ “พงศธร สัจจชลพันธ์” ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ไปนั่ง ผู้ว่าฯ บึงกาฬ แทน

                แต่ที่แปลกใจของบรรดาชาวสิงห์ รายชื่อที่เหลือหลุดโผไม่ว่า “ธานินทร์ สุภาแสน” สิงห์ขาวเชียงใหม่ ศิษย์เก่ารุ่นพี่ร่วมสถาบันเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แล้วยังเป็นคนสนิทกับเจ๊แดง “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” หรือแม้แต่ “วันชัย สุทธิวรชัย” ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี เป็นสิงห์ขาวเกษียณราชการในปี 2559 ที่หลุดโผถูกเด้งครั้งนี้มีอยู่ 2 บัญชี

                บัญชีแรกเป็นวงใหญ่มีรายชื่อพ่อเมืองภาคเหนือ-อีสานอยู่ครบชุดเกือบ 10 ราย แต่ได้ตัดทอนลงเป็นบัญชีที่ 2 วงเล็กมีอยู่แค่ 5 ราย ส่วนที่รอดพ้นบ่วงกรรมไปก็ได้ส่งสัญญาณเรียกคุย พร้อมให้โอกาสทำงานต่อแต่อนาคตรอลุ้นใหญ่กันอีกครั้ง

                ตำแหน่งสำคัญ "อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์" ของ “อภินันท์ จันทรังษี” ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ เป็นสิงห์ทองรามคำแหง เกษียณราชการในปี 2559 พื้นเพเป็นคนนครศรีธรรมราช ได้รับการบำเหน็จความดีความชอบกระโดดข้ามห้วยจากกระทรวงมหาดไทย ไปสำนักนายกรัฐมนตรี คงปฏิเสธไม่ได้ในส่วนของสายสัมพันธ์ของกลุ่มคนเมืองคอนด้วยกันเกื้อหนุน

                ไล่เรียงตั้งแต่หัวเรือใหญ่อย่าง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” รมช.พาณิชย์ หรือ “อารี ไกรนรา” หรือแดงสะตอ บุคคลหลักเหล่านี้ช่วยผลักดันเรียกได้เป็นกลุ่มนครศรีฯ คอนเนกชั่น จึงเป็นที่มาของการมีวันนี้เพราะพี่ให้น้องหนุน

                การโยกย้ายครั้งนี้หากมองเพียงผิวเผินดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ "ฝ่ายบริหาร" เมื่อเห็นว่าจุดไหนปฏิบัติแล้วเกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขโดยนำคนที่ตัวเองไว้ใจไปนั่งกำกับดูแล หากการปรับเปลี่ยนโยกย้ายยึดหลักธรรมาภิบาลเปิดโอกาสให้แก่ข้าราชการที่เติบโตมาในกระทรวงก็คงไม่เกิดข้อครหา

                แต่มติ "คณะรัฐมนตรี" ที่แต่งตั้ง "อภินันท์" ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ไปเป็น "อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์" สำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่ "นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบและเสนอให้พิจารณา

                ถือเป็นการโยกย้าย "ข้ามห้วย" นำคนนอกมานั่งกำกับดูแลข้าราชการอีกหน่วยงาน

                ซึ่งการโยกย้ายในลักษณะนี้ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อบรรดาข้าราชการที่เติบโตมาในสายงานของตัวเองและหวังจะเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ที่สำคัญการกระทำลักษณะนี้เป็นการทำลายระบบราชการที่อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์โดยรวมกับประชาชนและสังคม !

                แต่การโยกย้าย "ข้ามห้วย" ในสมัยของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก หากจำได้เรื่องการโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรมจนเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องร้องต่อเนื่องกันมาจนกลายเป็นข่าวใหญ่ทุกวันนี้

                คือการโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" จาก "เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ" (สมช.) ไปเป็น "ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ" แล้ว "นำคนนอกหน่วย" อย่าง "พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี" ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ไปนั่งเก้าอี้ "เลขาธิการ สมช." แทนจากนั้นก็ให้ "พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์" พี่ชายคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาทักษิณ มาเป็น "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ก่อนเกษียณอายุราชการ

                หากมองอีกแง่โดยคิดว่าเป็นการโยกย้ายข้าราชการใน "หน่วยงานความมั่น" ที่ลักษณะการทำงานมีความใกล้เคียงกันก็สามารถมองได้

                แต่ถามถึง "ความชอบธรรม" หรือ  "ชอบด้วยกฎหมาย" คำพิพากษาของ "ศาลปกครองกลาง" ที่สั่งให้ "สำนักนายกรัฐมนตรี" คืนตำแหน่ง "เลขาธิการ สมช." ให้ "ถวิล" โดยเร็วถือเป็นคำตอบอยู่แล้ว

                หลังจากนั้นก็ยังเกิดเหตุการณ์ "ย้ายข้ามห้วย" ขึ้นอีกเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 มติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้โยกย้าย "พล.ต.อ.วิเชียร" จาก "เลขาธิการ สมช." ไปเป็น "ปลัดกระทรวงคมนาคม" ครั้งนี้ถือว่ากระโดดไปไกลจากสายงานที่เคยรับผิดชอบ แล้วให้ "พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร" จาก "รองเลขาธิการ สมช." ขึ้นมาเป็น "เลขาธิการ สมช."

                และมติคณะรัฐมนตรีในวันเดียวกันก็เห็นชอบ "โยกย้ายข้ามห้วย" อีกหนึ่งกระทรวง คือย้าย "พนิตา กำภู ณ อยุธยา" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ และอดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปเป็น "ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ"

                ปมการโยกย้ายครั้งนั้นถูกมองว่าเพื่อแก้ปัญหาศึกภายในพรรคระหว่าง "ประวัฒน์ อุตตะโมต" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย น้องชาย "พนิตา กำภู ณ อยุธยา" ที่มีปัญหากับ "สันติ พร้อมพัฒน์" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องจากไม่พอใจที่ "สันติ" ไปย้ายพี่สาว

                ดังนั้น มติคณะรัฐมนตรีที่แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการข้ามห้วยกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไปแล้ว !


..................

(หมายเหตุ : ล้วงลึก'ย้ายข้ามห้วย'จาก'สิงห์มหาดไทย'ไป'สำนักนายกฯ' : ขยายปมร้อน โดยวัฒนา ค้ำชู, สมถวิล เทพสวัสดิ์) 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ