คอลัมนิสต์

พลิกปูม'วสันต์'กับวลี'สีทนได้ค่ะ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลิกปูม “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาล รธน.กับวลี“สีทนได้ค่ะ” : ขยายปมร้อน โดยทีมข่าวสำนักข่าวเนชั่น

               “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาโชว์โวหารให้เห็นเด่นชัดอีกครั้ง กับเสียงวิจารณ์และโต้แย้งกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยับยั้งการโหวตลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ของรัฐสภาเอาไว้ก่อน
 
               “หากสภาไม่ดำเนินการตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบกันเอาเอง แต่ศาลก็มีดุลพินิจและอำนาจที่จะตรวจสอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนด"
 
               พร้อมกับถ้อยคำสุดแสนคมอีกหลายประโยค "เรื่องพลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน เปลี่ยนการปกครอง จะรออัยการสูงสุดอย่างเดียวหรือ”
 
               และกับข้อกังขาที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของอำมาตย์ “วสันต์" ก็ย้อนกลับผู้สื่อข่าวได้อย่างแสบสันต์ว่า "หัวหน้าอำมาตย์ตัวจริงก็คือนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศไทย"
 
               ตบท้ายกับมุก “สีทนได้ค่ะ” กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นหลังมีคำสั่งดังกล่าว
 
               สำหรับ “วสันต์” ปัจจุบันอายุ 65 ปี เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง หลังจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็เข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
               สมัยที่อยู่ปี 2 เป็นนักร้อยกรองที่มีฝีมือดีคนหนึ่ง เพราะคุ้นเคยกับ "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" กวีซีไรต์ ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นพี่
 
               "วสันต์" จบนิติศาสตรบัณฑิต แค่เพียงอายุ 20 ปีเท่านั้น แถมได้ (เกียรตินิยมดี) อีกด้วย มีเพื่อนร่วมรุ่นคือ “กล้านรงค์ จันทิก" ซึ่งปัจจุบันเป็นกรรมการ ปปช.
 
               จากนั้นมีผู้ใหญ่นำไปฝาก "ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช" อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อฝึกเป็นทนายความและตอนที่ "วสันต์" เป็นทนายความอยู่ที่สำนักงานกฎหมายของ "อาจารย์เสนีย์ ปราโมช" อ.เสนีย์ ได้เอาใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาวางไว้บนโต๊ะทนายความ เพราะต้องการชักชวนทนายในสำนักงานให้สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
 
               แต่สำหรับ "วสันต์" ไม่ได้กรอกใบสมัคร เพราะไม่มีความคิดที่จะไปทำงานด้านการเมือง
 
               จากนั้น "วสันต์" ไปเรียนกฎหมายต่อและได้เนติบัณฑิตไทย โดยมีอายุยังไม่เต็ม 21 ปี ด้วยซ้ำ เพื่อนร่วมรุ่นคือ "อภิชาต สุขัคคานนท์" ประธาน กกต. คนปัจจุบัน
 
               ต่อมาเขาได้สอบเป็นผู้พิพากษา ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญมามากมาย เช่น ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา, ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 7 เมื่ออายุครบ 60 ปี ก็ได้มาเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นตำแหน่งหลังสุดในศาลยุติธรรม
 
               ในช่วงเกิดวิกฤติตุลาการปี 2534-2535 "วสันต์" เป็น "โฆษกฝ่ายกบฏตุลาการ” ถือโทรโข่ง คุมม็อบผู้พิพากษาที่มาร่วมชุมนุมต่อต้าน "ประภาสน์ อวยชัย" รมว.ยุติธรรมในขณะนั้น ที่แทรกแซงการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาและการโยกย้ายผู้พิพากษา
 
               สำหรับตัวเขาขณะนั้นเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่ผลจากการที่ออกมาต่อต้าน "รมว.ยุติธรรม" ทำให้เขาได้รับผลกระทบถูกย้ายไปอยู่ที่อื่น
 
               "วสันต์" เป็นองค์คณะในการตัดสินคดีที่ดินรัชดาฯ ที่จำคุก "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" 2 ปี และเป็นองค์คณะในคดี ปปช.ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองอีกด้วย ซึ่งคดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งตัดสินจำคุกกรรมการ ปปช. 2 ปี แต่รอลงอาญา
 
               และเคยไปให้ความเห็นในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า การจัดคูหาเลือกตั้งต้องเป็นความลับ ไม่ใช่ใครก็เข้าไปยืนชะเง้อดูได้ ซึ่งความเห็นของเขาก็มีส่วนทำให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2550 ถูกเพิกถอนเป็นโมฆะ
 
               นอกจากนี้เขาเคยไปเป็นพยานจำเลยในคดีที่ "น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ" ตกเป็นจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทในคดีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากยื่นฟ้อง สืบเนื่องจาก "น.ต.ประสงค์" เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์แนวหน้า วิจารณ์การตัดสินคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่ให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" หลุดในคดีซุกหุ้น
 
               “วสันต์” เป็นที่รู้จักของสังคม เมื่อกลางปี พ.ศ. 2549 หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดที่มี "พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ" เป็นประธาน พ้นจากตำแหน่งไปเนื่องจากการจัดการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยกฎหมาย จากคำตัดสินของศาลอาญา
 
               โดย "วสันต์" ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา เข้าชิงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่ไปตกในขั้นตอนสุดท้าย คือ การคัดเลือกจากวุฒิสภา ทั้งที่เขาแสดงวิสัยทัศน์สุดมัน ตรงไปตรงมา ถูกใจประชาชน แต่กลับถูกเตะตัดขาไม่สามารถหลุดเข้าเป็น 5 เสือ กกต.ได้
 
               ทั้งนี้ในการแสดงวิสัยทัศน์ของเขาต่อคณะกรรมการที่วุฒิสภาตั้งขึ้นเพื่อคัดเลือกบุคคลเป็น กกต. ได้เรียกเสียงฮือฮาอย่างมาก เมื่อเขาได้ตอกกลับคณะกรรมการของวุฒิสภาที่จะให้เขายื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อวุฒิสภา ว่าทำไมตัวเขาต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อวุฒิสภาด้วย ในเมื่อวุฒิสภาก็ไม่ได้เหนือไปกว่าเขา อีกทั้งกรรมการองค์กรอิสระที่วุฒิสภาเป็นผู้คัดเลือก ก็เกิดปัญหาขึ้นมากมาย และเขาก็แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.อยู่แล้ว
 
               ต่อมา "วสันต์" ได้รับเลือกให้เป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2551 จนถึงวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2554 และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 ในการประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เลือก "วสันต์" เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทน "ชัช ชลวร" ที่ได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา
 
               สำหรับเสียงวิจารณ์ที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับเรื่องโดยตรงกรณีที่มีผู้ร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 โดยไม่ต้องรอให้อัยการสูงสุดส่งเรื่องมาให้หรือไม่นั้น
 
               “ขอให้คุณไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เขียนว่า ผู้ทราบให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ชัดเจนว่า อัยการเป็นเพียง "ทางผ่าน" แต่คนวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2550 เพิ่มเข้าไปอีกหน่อยว่าให้อัยการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่คนวินิจฉัยก็เป็นศาลรัฐธรรมนูญอยู่ดี ความหมายจึงยังเหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ทำไมคนที่ทราบถึงการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจะยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้" วสันต์แจงพร้อมกับบอกว่า "ที่ให้ไปดูมาตรา 68 ฉบับภาษาอังกฤษแล้วจะชัดเจน" นั้น ก็เพราะกฤษฎีกาเป็นผู้แปลจากต้นฉบับภาษาไทยและได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก

........

(หมายเหตุ : พลิกปูม “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" ประธานศาล รธน.กับวลี“สีทนได้ค่ะ” : ขยายปมร้อน โดยทีมข่าวสำนักข่าวเนชั่น)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ