คอลัมนิสต์

ประชาชนมาทีหลัง

ประชาชนมาทีหลัง

07 มี.ค. 2555

ประชาชนมาทีหลัง : บทบรรณาธิการประจำวันที่7มี.ค.2555

              ความไม่ละเอียดรอบคอบและการใช้ความพยายามสร้างความเข้าอกเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ นโยบายรัฐบาล รวมถึงในกรณีเกิดผลกระทบต่อประชาชนอันเนื่องจากนโยบายรัฐบาลแล้วจะแก้ไขเยียวยาอย่างไรทำให้ข้อขัดแย้งที่ดูเหมือนว่า ไม่น่าจะไม่มีอะไร ก็เกิดเป็นเรื่องเป็นราวให้โครงการรัฐบาลสะดุดหยุดยั้ง ทั้งที่หากได้ใช้ความพยายามอย่างที่ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีออกพระราชกำหนด 2 ฉบับ ที่ฝ่ายค้านนำไปเป็นเหตุฟ้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาแล้ว

              การสนับสนุนและเร่งเร้าให้นิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม7 แห่ง ที่ถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 และอีก 3 นิคมคือ นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมบางพลี และนิคมอุตสาหกรรมบางปู เร่งสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นน้ำขนาดยักษ์ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ฝ่ายรัฐบาลตัดสินใจโดยที่ไม่มีแผนการที่ชัดเจน มีเพียงความเร่งรีบเพื่อให้นักธุรกิจมีความเชื่อมั่นว่า ปีนี้เอาอยู่ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็คงจะนำความมั่นอกมั่นใจในทำนองนี้ไปบอกนักธุรกิจญี่ปุ่นในโอกาสไปเยือนวันที่ 6 มีนาคม วันเดียวกับที่สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองกลางเช่นกัน

              รัฐธรรมนูญมาตรา 57, 58, 66 และ 67(2) ซึ่งว่าด้วยสิทธิของบุคคลและชุมชนในการรับรู้ข้อมูลและการได้รับการคุ้มครองจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขวางทางน้ำ ที่เกิดจากการขุด ถมดิน ที่ประชาชนประมาณ 50 ราย เข้าชื่อยื่นต่อศาลปกครอง ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาล โดย นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ให้สัมภาษณ์ล่าสุด อ้างเหตุผลเพียงแค่ว่า ได้พูดคุยเจรจากับชาวบ้านก่อนหน้าที่จะตัดสินใจให้นิคมอุตสาหกรรมดำเนินการสร้างกำแพงกั้นน้ำรอบนิคม เพราะลูกหลานชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทำงานในนิคม

              หากเป็นเช่นนั้นจริงก็นับเป็นความเสี่ยงอีกครั้งของรัฐบาลที่ไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายและผลกระทบเพื่อวางแผนป้องกันและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจทั้งนิคมอุตสาหกรรมและชาวบ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบ หากว่าปีนี้น้ำหลากลงมาท่วมอีกครั้ง ไม่ใช่อ้างถึงเพียงแค่ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ยอมรับได้ เพราะกรณีเช่นนี้สุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยกขึ้นภายในชุมชน เช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ชุมชนแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย เพราะฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์และรับได้กับผลกระทบที่เกิดขึ้น

              ถึงแม้ในวันนี้รัฐบาลมีตัวเลขถึง 3.5 แสนล้านบาท เพื่อจัดทำอภิมหาโครงการที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ และน่าจะมีบางส่วนที่เตรียมไว้สำหรับการเยียวยา แต่จะใช้เม็ดเงินเท่าใดถึงจะพอลบบาดแผลที่เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ที่ได้รับความสูญเสียอย่างไม่เต็มใจ เพราะไม่เคยได้เดินไปร้องขอกำแพงเพื่อเบนทางน้ำให้เข้าบ้านตนเอง