ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร ย้ำสายสัมพันธ์ ไทย - อังกฤษ
ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักร ตอกย้ำสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น 2 พระราชวงศ์ 'ไทย - อังกฤษ' ที่มีมากว่า 4 ศตวรรษ และยังคงสืบต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีมิตรสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน โดยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2398 รวมไปถึงในระดับราชวงศ์ที่มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นมายาวนานเช่นกัน ในระหว่างการครองสิริราชสมบัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระสวามี ในฐานะพระราชอาคันตุกะของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวม 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 9 -15 ก.พ. 2515 และระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-1 พ.ย. 2539 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
โดยก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรในฐานะพระราชอาคันตุกะ ระหว่างวันที่ 19 - 23 ก.ค. 2503 และในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อพุทธศักราช 2555 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เพื่อเชิญพระราชสาส์นไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และทรงร่วมในพระราชพิธีเฉลิมฉลอง ในโอกาสที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 18 - 19 พ.ค. 2555 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร อันเป็นการแสดงถึงสัมพันธไมตรีที่ราบรื่นและแน่นแฟ้น ของประเทศไทยและสหราชอาณาจักรที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การแลกเปลี่ยนการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เป็นเครื่องยืนยันของความสัมพันธ์ระหว่างสองพระราชวงศ์ได้เป็นอย่างดี และถึงแม้จะทรงเจริญพระชนมพรรษามากขึ้น แต่ไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างกันมิได้ลดน้อยถอยลงเลย ดังเมื่อครั้งงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี 2549 มีพระประมุขและผู้แทนพระองค์จากประเทศต่างๆ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมงานมากมาย
โดยครั้งนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงร่วมงาน และเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี 2560 อีกครั้งหนึ่งด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริและหลักการทรงงานต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะการสานต่อความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่าง 2 ราชวงศ์ให้ยั่งยืนสืบไป
โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ส่งข้อความพระราชสาส์น แสดงความเสียพระราชหฤทัย ไปยังสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรพระองค์ใหม่ ในการที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ด้วยทรง รู้สึกเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง ต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นับเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของพระประมุขซึ่งเป็นที่รัก ในฐานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อพสกนิกรอย่างแท้จริง
ด้วยความเศร้าพระราชหฤทัยและเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง ต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระประมุขซึ่งเป็นที่รักแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ หน่วยราชการในพระองค์ทำพิธีถวายความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในการพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 บริเวณประตูมณีนพรัตน์ หน้าพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ เชิญแจกันดอกไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และแจกันดอกไม้ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปในพิธีถวายความอาลัยหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมด้วยประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมถวายความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในฐานะที่ประเทศไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นมาช้านาน
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงลงพระนามาภิไธย ถวายความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ณ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญแจกันดอกไม้ ไปถวายความอาลัย
เพื่อให้เห็นประจักษ์ชัดว่าประเทศไทยและสหราชอาณาจักรต่างได้ดูแลรักษาความสัมพันธ์ต่อกันให้แน่นแฟ้นเสมอมา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปยังสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ในโอกาสที่เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2565 ความว่า
“ฝ่าพระบาทในยามที่เรายังคงรำลึกถึงพระราชกรณียกิจอันสูงส่งของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หม่อมฉันในนามของประชาชนชาวไทยขอถวายพระพรชัยมงคลและความปรารถนาดีด้วยใจจริงในโอกาสที่ฝ่าพระบาทเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ
ฝ่าพระบาททรงเป็นที่ชื่นชมจากนานาประเทศในโลกด้วยทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ ทรงเป็นผู้นำด้วยพระจริยวัตรอันเป็นแบบอย่าง อีกทั้งทรงมีบทบาทสำคัญตลอดมา ในการปลูกฝังเสริมสร้างความสำนึกในสิ่งที่เป็นปัจจัยความผาสุกของมนุษยชาติ โครงการในพระราชดำริที่โดดเด่นของฝ่าพระบาทอันเป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัด ได้แก่ มูลนิธิเดอะพรินส์ทรัสต์ ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือเยาวชนผู้ด้อยโอกาสเป็นจำนวนนับล้านคน และพระราชกรณียกิจในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ประการหนึ่งที่ฝ่าพระบาทและหม่อมฉันต่างได้รับมรดกอันล้ำค่าจากพระบรมราชบุพการี อันเป็นเหมือนดวงประทีปนำทาง ด้วยการสืบสานพระราชกรณียกิจของแต่ละพระองค์ ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงต่างได้ตั้งสัตยาธิษฐานให้คำมั่นว่า จะสืบสานและรักษาไว้ซึ่งมรดกนี้หม่อมฉันยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นประจักษ์ชัดว่าประเทศไทยและสหราชอาณาจักรต่างได้ดูแลรักษาความสัมพันธ์ต่อกันให้แน่นแฟ้นเสมอมา ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประชาชนของเราทั้งสองเท่านั้น แต่รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสองด้วย
ประชาชนชาวไทยยังคงรำลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยของฝ่าพระบาท เมื่อปีพุทธศักราช 2531 ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศมกุฎราชกุมาร เพื่อถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชบิดาของหม่อมฉัน ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบหม่อมฉันและประชาชนชาวไทยขอถวายพระพรชัยมงคลให้ฝ่าพระบาททรงมีรัชสมัยอันรุ่งเรือง เปี่ยมด้วยพระบารมียิ่งยืนนาน
(พระปรมาภิไธย) มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว”
และในวันนี้ภาพสายสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างสองพระราชวงศ์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่ 3 พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักร จะยังคงสานต่อให้ยืนยาวสืบต่อไป โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ตามคำทูลเชิญของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ระหว่างวันที่ 4 - 7 พ.ค. 2566 เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน นับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศครั้งแรกอย่างเป็นทางการตั้งแต่การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
การเสด็จฯ เยือนสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันถึงสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศที่มีมากว่า 4 ศตวรรษ และจะยังคงสืบต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน