ข่าว

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทราสทูซูแมบ ยาชีววัตถุรักษาโรคมะเร็งเต้านม นวัตกรรมชิ้นแรกโดยนักวิจัยไทยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

          กว่า 30 ปีที่ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงก่อตั้งสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ขึ้นเพื่อนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งของคนไทย จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนา “ยาชีววัตถุ” เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และองค์การเภสัชกรรม ในการพัฒนาต่อยอดผลิตยาชีววัตถุให้เป็นผลสำเร็จ โอกาสนี้ ได้เสด็จในพิธีลงพระนามและลงนามข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, สนธิรัฐ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นต้น เฝ้าฯ รับเสด็จ และเป็นสักขีพยาน ที่พระตำหนักจักรีบงกช จ.ปทุมธานี เมื่อวันก่อน

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

          ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ กราบทูลรายงานว่า ศ.ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นยาที่ทันสมัยและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแบบมุ่งเป้าแต่มีราคาสูงมากจนยากที่ประชาชนจะเข้าถึง ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงทางยาและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงทรงริเริ่มโครงการพัฒนา “ยาชีววัตถุ” พร้อมวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากร สร้างนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูง เพื่อเป็นรากฐานสำคัญและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในเวทีสากล

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

          “ภายใต้การนำของพระองค์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานแรกและแห่งเดียวของประเทศในขณะนี้ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุ ยาตัวแรกคือ ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) เป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึงที่มีบทบาทสำคัญในการบำบัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม เป็นนวัตกรรมชิ้นแรกที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทยในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่ต้องอาศัยการซื้อหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถนำไปศึกษาทางคลินิกเพื่อความปลอดภัยในคนได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ การศึกษาทางคลินิกดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทั้งงบประมาณจากรัฐบาลอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง รวมทั้งในเชิงนโยบายในการให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัยของยา ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสถาบัน เพื่อนำวิทยาการและเทคโนโลยีแบบใหม่ในด้าน เรกูลาเทอรี่ ไซเอ็นซ์ (Regulatory science) มาพัฒนาการประเมินความปลอดภัยในคนอย่างถูกต้องแม่นยำกว่าการใช้หลักการทางสถิติและการแสดงออกในคนไข้เป็นหลัก ซึ่งจะทำให้สามารถนำยาออกสู่การใช้ประโยชน์ได้ในระยะเวลาที่เหมาะสมและปลอดภัย

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

          การลงพระนามและลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในวันนี้ จะเป็นการเปิดมิติใหม่ของความมั่นคงทางยาของประเทศไทย นอกจากนั้นยังแสดงถึงการนำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ และก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับเวทีโลกต่อไป สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการสร้างผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งเป็นการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของประเทศตามยุทธศาสตร์ ไทยแลนด์ 4.0” ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงมธุรส กล่าว

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ -ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

          ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในอนาคตหากเกิดยาตัวนี้ขึ้นมา จะทำให้คนไทยผลิตยารักษาโรคมะเร็งได้ด้วยตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นอกจากนี้ จะสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตยาตัวอื่นๆ ตามมา ซึ่งเป็นตำรับยาของไทย เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเป็นการผลิตระดับอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีกับคนไทยเท่านั้น แต่เกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ ที่สำคัญยาที่ผลิตได้นี้จะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาของคนไทยและราคาไม่แพง

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

          “ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้ายาจากต่างประเทศปีละกว่าหมื่นล้านบาท หากผลิตยาได้จะลดค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 50 แต่คุณภาพยาจะไม่ลดลง สำหรับยาชีววัตถุนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น ไม่ใช่ยาเคมี แต่เป็นยาชีววัตถุ ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง พัฒนาจากเซลล์ ซึ่งนักวิจัยไทยทำได้ ยาชีววัตถุ สร้างจากสิ่งมีชีวิต เช่น ยาชีววัตถุคล้ายคลึง ชนิด โมโนโคลนอลแอนติบอดี ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมชื่อ ทราสทูซูแมบ จะออกฤทธิ์มุ่งเป้า เฉพาะจุดที่มีการเสื่อมสภาพ ถ้ายาเคมีที่รับประทานหรือฉีดเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย การรักษาด้วยยาตัวนี้จะแม่นยำมากขึ้น การพัฒนานี้จะทำให้ประเทศไทยทัดเทียมสากล“ นพ.วิฑูรย์

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

          นพ.วิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการผลิตยาปกติใช้เวลา 10 ปี แต่จากความร่วมมือครั้งนี้ตั้งเป้าจะสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จปี 2567 หลังจากนั้น 1-2 ปี จะทดสอบยานี้กับมนุษย์ ก่อนจะขึ้นทะเบียนตำรับยาและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เป็นขั้นตอนมาตรฐานการผลิตยา นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่พระองค์ได้ผลิตต้นน้ำมาให้ เป็นนักวิจัยที่ทรงสร้างขึ้นมา เพราะสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์มีนักวิจัยที่มีศักยภาพทัดเทียมนานาประเทศ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้สืบสาน ต่อยอด ในเชิงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงต่อสังคมไทย ขณะนี้ทีมนักวิจัยจาก 3 หน่วยงาน ได้เข้าทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ก้าวสำคัญนี้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม   

กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงลงพระนามความร่วมมือพัฒนา "ยาชีววัตถุ"

          ขณะที่ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นสถาบันที่วิจัยสารตั้งต้นยามะเร็งในเชิงลึก องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่ในการผลิตยา ส่วนปตท.มีหน้าที่ในการสร้างโรงงาน โดยเข้ามาเติมเต็มในเรื่องของการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการต่างๆ ขณะนี้กำลังสำรวจที่ตั้งโรงงานและรูปแบบของโรงงาน โดยจะเป็นรูปเป็นร่างในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ความร่วมมือครั้งนี้ คาดหวังเรื่องความมั่นคงในการผลิตยาและเป็นความมั่นคงของประชาชนที่สามารถเข้าถึงยาได้

   ในการนี้ภายหลังทรงลงพระนาม ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี มีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า "การพัฒนายาเป็นเรื่องที่ใช้เวลานาน ต้องใช้ความระมัดระวัง แต่เพื่อประชาชน เราก็ต้องทำ"

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ