ข่าว

เจ้าฟ้านักเขียนของพสกนิกรไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทรงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เยาวชนและคนไทยรักการอ่านการเขียน

เจ้าฟ้านักเขียนของพสกนิกรไทย

         “ชื่อ แว่นแก้ว นี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็กๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อ แว่นแก้ว”

           ด้วยพระราชจริยวัตรของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สนพระราชหฤทัยในการอ่านหนังสือและการจดบันทึกมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ อีกทั้งยังทรงต่อยอดมาสู่การ “ทรงพระอักษร” ในรูปแบบต่างๆ วันนี้แม้ว่าจะมีพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ นานัปการที่เป็นประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ ทว่าพระองค์ยังทรงมีงานอดิเรกที่ทรงใช้เป็นวิธีการพักผ่อนพระอิริยาบถในยามที่ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจ งานอดิเรกที่โปรดปรานและเป็นที่ประจักษ์แก่พสกนิกร ก็คือ “งานพระราชนิพนธ์” ดังในบทกลอนซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์

          "หนังสือนี้มีมากมายหลายชนิด           นำดวงจิตเริงรื่นชื่นสดใส

          ให้ความรู้สำเริงบันเทิงใจ                   ฉันจึงใฝ่ใจสมานอ่านทุกวัน

          มีวิชาหลายอย่างต่างจำพวก              ล้วนสะดวกค้นได้ให้สุขสันต์

          วิชาการสรรหามาสารพัน                   ชั่วชีวันฉันอ่านได้ไม่เบื่อเลย"

          ...บทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เจ้าฟ้านักเขียนของพสกนิกรไทย

          พระอุปนิสัยรักการเรียนรู้ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ดังพระราชนิพนธ์ เรื่อง “แม่” ปรากฏข้อความตอนหนึ่งว่า...“ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง “ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ” แล้วสมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์อังกฤษให้ท่องให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี๋ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้ นอกจากจะเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้วสมเด็จแม่ยังทรงจัดให้ลูกๆ เรียนพิเศษวิชาต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งภาษา เลข ดนตรี วาดรูป และแม้ว่าท่านไม่นิยมความฟุ่มเฟือย (ข้าวของทุกอย่างต้องใช้อย่างประหยัด) เรื่องการใช้จ่ายในเรื่องการเล่าเรียน การซื้อหนังสือ ท่านจ่ายอย่างไม่อั้น เพราะวิชาความรู้ทำให้เราสามารถทำงานช่วยคนหมู่มาก ช่วยบ้านเมืองได้ สมบัติใดๆ ย่อมไม่ประเสริฐเท่าการกระทำคุณงามความดี เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและวิชาความรู้”

เจ้าฟ้านักเขียนของพสกนิกรไทย

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียน รวมถึงพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังภาพชินตาพสกนิกรเวลาที่เสด็จพระราชดำเนิน ณ ที่แห่งใด นอกจากกล้องถ่ายภาพส่วนพระองค์แล้ว จะทรงมีปากกาหรือดินสอ และสมุดบันทึกส่วนพระองค์เล่มเล็กๆ เพื่อทรงบันทึกเรื่องราวต่างๆ อยู่เสมอ 

เจ้าฟ้านักเขียนของพสกนิกรไทย

          ไม่อาจปฏิเสธว่าพระราชจริยวัตรดังกล่าว นำมาซึ่งแรงพระราชหฤทัยในการพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่างๆ นับจากเริ่มเล่มแรกจนปัจจุบันมีกว่า 100 เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เช่น เกล็ดหิมะในสายหมอก ทัศนะจากอินเดีย มนต์รักทะเลใต้ ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น “จารึกปราสาทหินพนมวัน” ที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ นับเป็นงานพระราชนิพนธ์ชิ้นแรกที่ทรงอ่านและทรงแปลจารึกภาษาเขมรโบราณ คำแปลจารึกบางส่วนทั้งในส่วนของภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส...“ศักราช ๘๑๓ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนมาฆะมีอาชญาธูลีเชง (พระบรมราชโองการ ?) ของพระกัมมรเตงอัญศรียโศวรัมมเทวต่อมรเตญโกลญวนํและวาปโค ซึ่งเป็นโกลญวีมาและวาปศรี ซึ่งเป็นปติปรัตยะให้ฉลองห้องพระเพลิงและพระศาลา (ถ้า) คนผู้ซึ่งต้องทำตามพระอาชญาธูลีเชงของพระกัมมรเตงอัญศรีนทรวรัมมเทวะและพระอาชญาธูลีเชงของพระกัมมรเตงอัญศรียโศวรัมมเทวะ เข้ากับฝ่ายอธรรมก็จะเสวยนรกเพราะการฝ่าฝืนนั้น…” 

เจ้าฟ้านักเขียนของพสกนิกรไทย

          หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น สมเด็จแม่กับการศึกษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระราชกรณียกิจพระราชจริยวัตรด้านการศึกษา ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น หยกใสร่ายคำ ความคิดคำนึง เก็จแก้วประกายกวี และหนังสือทั่วไป เช่น “ครัวสระปทุม” เป็นไดอารี่พิเศษ ประจำปี 2550 ที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วยพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะที่ทรงประกอบอาหารในวังสระปทุม พร้อมลายพระหัตถ์พระราชนิพนธ์ตำรับอาหาร เช่น ยาพอกหัวเด็ก, มัตสยาเกษียรสมุทร, ซุปฟักทอง วัตเตนเมียร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพระฉายาลักษณ์ขณะทรงชิมอาหาร นำเสนอทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรืออย่าง “นิทานเรื่องเกาะ” และ “เรื่องของคนแขนหัก” เป็นต้น และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ต่างๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์

          ในหนังสือพระราชนิพนธ์ต่างๆ นอกจากพระนาม "สิรินธร" แล้ว พระองค์ยังทรงใช้นามปากกาในการพระราชนิพนธ์หนังสืออีก 4 พระนาม ได้แก่ "ก้อนหินก้อนกรวด" เป็นพระนามแฝงที่ทรงหมายถึง พระองค์และพระสหาย สามารถแยกได้เป็น ก้อนหิน หมายถึง พระองค์เอง ส่วนก้อนกรวด หมายถึง กุณฑิกา ไกรฤกษ์ พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เราตัวโตเลยใช้ว่า ก้อนหิน หวานตัวเล็ก เลยใช้ว่า ก้อนกรวด รวมกันจึงเป็น ก้อนหิน-ก้อนกรวด” นามปากกานี้ ทรงใช้ครั้งเดียวตอนพระราชนิพนธ์บทความ “เรื่องจากเมืองอิสราเอล” เมื่อปี 2520

          "แว่นแก้ว" เป็นนามปากกาที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเอง มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า "ชื่อ แว่นแก้ว นี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็กๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อ แว่นแก้ว" พระนามแฝง แว่นแก้วนี้ ทรงเริ่มใช้เมื่อปี 2521 เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน

          ส่วน "หนูน้อย" มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า "เรามีชื่อเล่นที่เรียกกันในครอบครัวว่า น้อย เลยใช้นามแฝงว่า หนูน้อย" โดยทรงใช้เพียงครั้งเดียวในบทความเรื่อง “ป๋องที่รัก” ตีพิมพ์ในหนังสือ 25 ปีจิตรลดา เมื่อปี 2523 และ “บันดาล” มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า "ใช้ว่า บันดาล เพราะคำนี้ผุดขึ้นมาในสมอง เลยใช้เป็นนามแฝง ไม่มีเหตุผลอะไรในการใช้ชื่อนี้เลย" ทรงใช้ในงานแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่ทรงทำให้ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2526

          นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงเป็นจำนวนมาก บทเพลงพระราชนิพนธ์ที่ดังและนำมาขับร้องบ่อยครั้ง ได้แก่ เพลง ส้มตำ รวมทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้แก่ เพลงรัก และเพลงเมนูไข่ 

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หาได้โปรดการทรงพระอักษรและการอ่านเพียงอย่างเดียว หากแต่พระองค์ท่านยังทรงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เยาวชนและคนไทยรักการอ่าน การเขียน ดังจะเห็นได้ว่า พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

          ...ในโอกาสเฉลิมพระชนมายุ 63 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2561 ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

++++++++++++++

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ