ข่าว

เปิดอุทธรณ์คดี 'แอชตัน อโศก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิด 3 เหตุผล อุทธรณ์คดี 'แอชตัน อโศก' ยันทำการก่อสร้างโครงการ" แอชตัน อโศก" ด้วยความสุจริต ปฏิบัติตามคำแนะนำ และขั้นตอนกฎหมายทุกประการ รวมทั้งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง

 

กรณีเมื่อ 30 ก.ค. ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เจ้าของโครงการคอนโดหรู 'แอชตัน อโศก' อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษความสูง 50 ชั้น มีห้องพักอาศัย 783 ห้อง ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 21 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

 

ในขณะที่บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ผู้บริหารโครงการและผู้ถือหุ้นบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด นั้น

 

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ประชุมลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก ผ่านออนไลน์ โดยมีลูกบ้านเข้าร่วมประชุม 200 คน ทั้งนี้ นายชานนท์ เรียกร้องขอให้ลูกบ้านโครงการแอชตัน อโศก ร่วมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง พร้อมระบุว่าคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวส่งผลกระทบต่อ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ อย่างมาก

 

ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวผู้แทนจาก บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชี้แจงลูกบ้าน ว่า บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ในฐานะผู้ร้องสอด จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 27 ส.ค.2564 โดยจะยื่นอุทธรณ์เพียง 1 ประเด็น

 

คือประเด็นที่ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า การอนุญาตให้โครงการ แอชตัน อโศก ใช้ประโยชน์ที่ดินการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไม่ใช่การใช้ที่ดินตามวัตถุประสงค์การเวนคืนและไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้า การออกใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่อาจถือถือได้ว่าที่ดินของ รฟม. เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการ แอชตัน อโศก

 

ดังนั้น ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการ แอชตัน อโศก จึงไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรคสอง


เปิด 3 เหตุผลยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฯ

 

ส่วนเหตุผลที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดนั้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุว่า มี 3 เหตุผล ได้แก่

 

1. รฟม.ยืนยันในคำให้การมาโดยตลอดว่า รฟม.มีสิทธิอนุญาตให้ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ใช้ที่ดินได้ เนื่องจากที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืน ฯ ยังคงถูกใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ฯ คือ ใช้ในกิจการรถไฟฟ้าและใช้เป็นที่จอดรถยนต์ของผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าได้ตามปกติ ไม่ได้มีผลกระทบต่อการใช้บริการรถไฟฟ้าและประโยชน์สาธารณะ จึงไม่มีลักษณะของการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์นอกขอบเขตวัตถุประสงค์การเวนคืน ฯ ตามที่ได้มีการทำในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ

 

ดังนั้น บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จึงสามารถนำที่ดินของ รฟม. เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งโครงการ แอชตัน อโศก ได้ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ข้อ 2 วรรคสอง อ้างอิงความเห็นของกฤษฎีกา เลขเสร็จที่ 613/2541

 

2.บริษัทฯได้ทำการก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก ด้วยความสุจริต ปฏิบัติตามคำแนะนำ และขั้นตอนกฎหมายทุกประการ รวมทั้งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง

 

3.การเพิกถอนใบอนุญาตต่าง ๆ จะทำให้ลูกบ้านจำนวนกว่า 600 ครอบครัว ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายเป็นอย่างมาก ทำให้สังคมไม่สงบสุข

 

ทั้งนี้ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ คาดว่า การพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดจะใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี ซึ่งคำตัดสินของศาลฯจะมี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องหรือแก้ไขให้ใช้ที่ดินได้ คดีที่ถึงที่สุด และแนวทางที่ 2 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนหรือแพ้คดี ก็ต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลฯ

 

อย่างไรก็ดี มีลูกบ้านสอบถาม นายชานนท์ว่า หาก บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ แพ้คดี บริษัทฯจะชดเชยความเสียหายให้กับลูกบ้านอย่างไร ซึ่งนายชานนท์ ไม่ได้ตอบคำถามนี้แต่อย่างได 
 

ที่มา สำนักข่าวอิศรา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ