
อีกเคสบีบหัวใจ "ยายป่วยโควิด" อยู่ลำพัง ทีมกู้ชีพรุดช่วย พาขี่หลังออกจากบ้านทุลักทุเล
อีกเคสบีบหัวใจ "ยายป่วยโควิด" อยู่ลำพัง อาการเริ่มหนัก หายใจเหนื่อย-อ่อนแรง ทีมกู้ชีพรุดช่วย พาขี่หลังออกจากบ้านสุดทุลักทุเล
วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 นับว่าเป็นอีกเคสที่สะเทือนใจชาวโซเชียล หลังเพจเฟซบุ๊ก "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital" ได้โพสต์เล่าเรื่องราวของทีมกู้ชีพนฤบดินทร์ที่เดินทางเข้าช่วยเหลือคุณยายป่วยโควิด-19 อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพัง
โดยเพจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้โพสต์ภาพพร้อมระบุข้อความว่า "ความหวัง" ต้องไม่สิ้นหวัง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขอแสดงความชื่นชมต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถของนักฉุกเฉินการแพทย์สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
ที่ได้เข้าช่วยเหลือคุณยาย วัย 98 ปี ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 และมีคนภายในครอบครัวติดเชื้อ เหลือเพียงคุณยายที่อาศัยในบ้านเพียงลำพัง ทำให้มีอาการหายใจเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ให้ได้มีโอกาสจากความหวัง จากความพยายามในการเข้าช่วยเหลืออย่างเต็มที่ของ "กู้ชีพนฤบดินทร์"
ซึ่งจากภาพจะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องสวมชุด PPE พร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือ โดยการเดินเท้ากว่า 2 กิโลเมตร ทางเข้าเป็นบ่อกุ้งติดคันดิน ทำให้มีความยากลำบากในการเข้ารับตัว เพื่อให้เข้ามาได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นผลสำเร็จ ในขณะนี้คุณยายได้รับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างปลอดภัยแล้ว #เราพยายามเต็มที่ #พยายามถึงที่สุด
ทั้งนี้เพจ "คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี" ยังออกประกาศเตือนว่า เนื่องจากมีผู้ใช้ Facebook ส่วนบุคคลได้อ้างอิงและทำการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อ Social Media โดยระบุข้อมูลแหล่งอ้างอิงจากแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี เรื่อง การปฏิบัติตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการอ้างอิงคำแนะนำในการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นด่างและกรด การนั่งตากแดด 15-20 นาที ในช่วงเวลา 10.00 - 11.00 น. รวมถึงการรับประทานวิตามินและอาหารเสริมเพื่อป้องกันโควิด-19
โดยผู้ใช้งาน Facebook ได้ทำการแอบอ้างข้อมูล ทำให้มีประชาชนจำนวนมากทำการแชร์และส่งต่อข้อมูลออกไปในวงกว้าง อาจสร้างความเข้าใจผิดได้ โดยข้อความดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันอย่างชัดเจน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขอชี้แจงว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้มาจากแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงจากคณะฯ แต่ประการใด ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ จึงไม่ควรที่จะมีการแชร์ข่าวปลอมซึ่งจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องได้