ข่าว

"หมอยง" ฉีดวัคซีน Sinovac สลับ AstraZeneca สู้ เดลตา ชีวิตจริงปลอดภัยมั้ย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอยง" ให้ข้อมูลความจำเป็นต้อง "ฉีดวัคซีน" สลับ ซิโนแวค (Sinovac) - แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) กระตุ้นภูมิต้านทานต่อสู้ไวรัสกลายพันธุ์ "เดลตา" เพียง 6 สัปดาห์

13 กรกฎาคม 2564 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ กระทรวงสาธารณสุข "หมอยง" ศ.นพ. ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชาการกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว "การให้วัคซีน โควิด-19 สลับชนิด" ว่า โควิดอยู่กับเรามาปีครึ่ง โดยโรคนี้จะหยุดวิกฤติได้ด้วยวัคซีน หากส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น ลดอาการรุนแรง การป่วยหนักและเสียชีวิต และหากลดการติดเชื้อด้วยได้จะดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราฉีดวัคซีนไม่ถึง 13 ล้านโดส ขอบเขตนี้ยังไม่ถึงเป้าหมาย เพราะปริมาณวัคซีนมีจำกัด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารวัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยการจะทำได้ต้องมีการศึกษาวิจัยรูปแบบของไทย ซึ่งระยะแรก วัคซีนทุกบริษัททุกยี่ห้อผลิตจากต้นแบบสายพันธุ์ไวรัสที่มาจากอู่ฮั่น เพราะกระบวนการผลิตต้องใช้เวลา กว่าจะผลิตได้ใช้เวลาร่วม 1 ปี และระยะเวลานั้นตัวไวรัสก็กลายพันธุ์ หนีออกจากระบบของภูมิต้านทานของเรา จะเห็นได้ว่า บริษัทไหนที่ผลิตวัคซีนออกมาได้ก่อน การศึกษาประสิทธิภาพก็สูง แต่หากบริษัทไหนใช้สายพันธุ์เดิมและมาศึกษาระยะหลัง ประสิทธิภาพก็จะลดลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ

ปัจจุบันไทยมีวัคซีนสองชนิด "เชื้อตาย - ไวรัลแวกเตอร์"

  • สำหรับประเทศไทยเราใช้วัคซีนชนิดเชื้อตาย และไวรัลแวกเตอร์ โดยเชื้อตาย คือ ซิโนแวค (Sinovac) ส่วน ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) เพิ่งเข้ามา ส่วน ไวรัล แวกเตอร์ คือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) โดยไวรัสเชื้อตายผลิตมาจากวิธีเดิมที่ทำมากว่า 50 ปีแล้ว ด้วยการเพาะเลี้ยงไวรัสบนเซลล์เพาะเลี้ยง เช่นเดียวกับ โปลิโอ หรือ เชื้อพิษสุนัขบ้า และฆ่าทำลายด้วยสารเคมี และทำให้บริสุทธิ์ จากนั้นจึงมาฟอร์มให้เป็นวัคซีน และใส่ตัวเร่งภูมิต้านทาน วัคซีนชนิดนี้จึงคลาสสิกใช้มานาน ส่วนไวรัลแวกเตอร์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ใช้ดีเอ็นเอ ที่มีรหัสพันธุกรรมที่แปลโค้ดเดียวกับรหัสพันธุกรรมส่วนของสไปรท์โปรตีนของโคโรน่าไวรัส ใส่ในตัวอะดิโนไวรัสของซินแปมซี เป็นต้น โดยไวรัสนี้ถูกทำหมันแล้ว เมื่อเข้าไปร่างกายก็ไม่เติบโต แต่ขณะเดียวกันจะสร้างโปรตีนคล้ายโคโรน่าไวรัสที่เราใส่เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเราเกิดภูมิต้านทาน จริง ๆ ในไวรัลแวกเตอร์ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่เสียทีเดียว เพราะเคยใช้ในอีโบลา

 

"เชื้อกลายพันธุ์" วัคซีนชนิดเชื้อตายกระตุ้นภูมิน้อยกว่าไวรัลแวกเตอร์

  • ทั้งนี้ ชนิดเชื้อตายการกระตุ้นภูมิคุ้มกันน้อยกว่าไวรัลแวกเตอร์ เดิมที ซิโนแวค (Sinovac) ที่คิดค้นขึ้นมา ต้องยอมรับว่าการกระตุ้นภูมิต้านทานสูงเท่าเทียมหรือสูงกว่าคนที่หายป่วยแล้ว แต่ตอนเริ่มต้นเมื่อใช้วัคซีนชนิดนี้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพสูง แต่ด้วยที่ไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ทุกขั้นตอน จึงต้องการภูมิต้านทานสูงขึ้น จึงหลบหลีกวัคซีนเชื้อตายได้ง่ายกว่า ดังนั้น ปัจจุบันจากการศึกษาวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข้ม ภูมิต้านทานของคนที่หายจากโรคสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม แต่เมื่อติดสายพันธุ์อัลฟา หรือ เดลตา ต้องการภูมิต้านทานสูงขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง และลดลงทุกตัวที่ผลิตจากสายพันธุ์อู่ฮั่น
  • ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงต้องมาพิจารณาว่า หากฉีด ซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม ห่างกัน 10 สัปดาห์ เรารู้ว่าไวรัลแวกเตอร์ 2 ครั้ง ห่างกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์ ภูมิต้านทานที่กระตุ้นขึ้นสูงไม่ดีเท่ากับเกิน 6 สัปดาห์ ยิ่งห่างนานยิ่งดี แต่เดิมคิดว่า ไวรัลแวกเตอร์ หรือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็มเดียวก็เพียงพอป้องกันไวรัสสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่เมื่อเจอ เดลตา วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็มเดียวก็ไม่สามารถป้องกันได้ แต่กว่าจะรอ 2 เข็ม ต้องใช้เวลา 10 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นจึงป้องกันได้

 

ทางออกฉีดวัคซีนสลับชนิดสู้ไวรัสกลายพันธุ์

  • ศ.นพ. ยง กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงต้องหาจุดสมดุลว่าทำอย่างไรให้ประชาชนไทยมีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นเร็ว เหมาะสมที่สุด ในขณะที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ซึ่งเรารู้ว่า วัคซีน ซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันไม่พอในการป้องกัน เดลตา แต่ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็มเดียวก็ไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการทำการศึกษาว่า เช่นนั้นเราฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน และตามด้วยไวรัลแวกเตอร์ ซึ่งการฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน เปรียบเหมือนให้ร่างกายติดเชื้อ และไปสอนหน่วยความจำของร่างกาย และอีกประมาณ 3 - 4 สัปดาห์ เราค่อยกระตุ้นด้วยไวรัลแวกเตอร์ ที่มีอำนาจในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากกว่า ผลปรากฏว่า การกระตุ้นได้สูงกว่าที่เราคาดคิด คือ หากให้ ซิโนแวค (Sinovac) ก่อน และตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเร็ว แม้จะสูงไม่เท่ากับ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 2 เข็ม แต่ได้ภูมิต้านทานที่สูงในเวลาเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้น แทนจะรอไปถึง 12 สัปดาห์

 

หมอยง, เดลตา, ซิโนแวค, Sinovac, ฉีดวัคซีน, แอสตร้าเซนเนก้า, AstraZeneca, ซิโนฟาร์ม, Sinopharm, สลับ

หมอยง, เดลตา, ซิโนแวค, Sinovac, ฉีดวัคซีน, แอสตร้าเซนเนก้า, AstraZeneca, ซิโนฟาร์ม, Sinopharm, สลับ

หมอยง, เดลตา, ซิโนแวค, Sinovac, ฉีดวัคซีน, แอสตร้าเซนเนก้า, AstraZeneca, ซิโนฟาร์ม, Sinopharm, สลับ

"ขณะนี้คนไข้มากกว่า 40 คน ที่ได้ติดตามมา จะเห็นว่ากลุ่มแรกฉีด ซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม ภูมิต้านทานจะสูงเท่ากับคนไข้ที่หายแล้ว โดยหลักก็น่าจะป้องกันโรคได้ แต่ด้วยไวรัสกลายพันธุ์ทำให้ภูมิที่เท่ากัน ป้องกันไม่ได้ แต่หากฉีดแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 2 เข็ม และวัดภูมิคุ้มกัน อีก 1 เดือนหลังจากนั้น ห่างกัน 10 อาทิตย์ วัดที่ 14 สัปดาห์ ภูมิต้านทานจะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ต้องใช้เวลา 14 สัปดาห์ แต่หากเรามาฉีดวัคซีนสลับกัน ด้วยการให้ ซิโนแวค (Sinovac) เข็มแรก และเข็มสองเป็น แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) จะเห็นว่าภูมิคุ้มกันขึ้นมาใกล้เคียงกับ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 2 เข็ม จะเห็นว่า หาก แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 2 เข็ม ภูมิต้านทานขึ้นมาระดับ 900 แต่หาก ซิโนแวค (Sinovac) และตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ภูมิคุ้มกันอยู่เกือบ 800 ขณะที่หาก ซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม อยู่ที่ประมาณ 100 แต่การติดเชื้อธรรมชาติจนมีภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 70 - 80"

 

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยง ยังกล่าวอีกว่า หากสลับชนิดกระตุ้นภูมิขึ้นได้ และมีโอกาสป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ ขณะเดียวกัน การสัมฤทธิ์ผลกระตุ้นภูมิต้านทานเรา จะใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ แต่หาก แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) 2 เข็ม ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ต้องใช้เวลายาวนาน 1 เท่าตัว ดังนั้น สถานการณ์การระบาดที่รุนแรง เรารอเวลายาว 12 สัปดาห์ ไม่ได้ การฉีดวัคซีนสลับเข็ม และใช้เวลาเพียง 6 สัปดาห์ มีภูมิคุ้มกันสูงใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีน 12 สัปดาห์ จึงน่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดของไทยที่มีการระบาดของโรค ประกอบกับตอนนี้ไทยมีวัคซีน 2 ชนิด คือ ชนิดเชื้อตายและไวรัลแวกเตอร์ จึงเหมาะสม ณ เวลานี้ แต่ในอนาคตหากมีวัคซีนอื่นเข้ามา เราก็จะหาวิธีที่ดีกว่า หรือหากไวรัสกลายพันธุ์มากกว่านี้ ก็ต้องมีวัคซีนที่เฉพาะสายพันธุ์นั้น

วัคซีนสลับชนิดมีความปลอดภัยมั้ย

ในเรื่องความปลอดภัยจากการสลับวัคซีน เบื้องต้น มีการศึกษาฉีดวัคซีนสลับชนิดในประเทศไทยมากกว่า 1,200 คน โดยที่ฉีดสลับเยอะสุด คือ รพ.จุฬา และที่ลงบันทึกในหมอพร้อม เรื่องอาการข้างเคียงไม่มีใครใน 1,200 คน มีอาการรุนแรง จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า การให้วัคซีนสองชนิดนี้มีความปลอดภัยในชีวิตจริง ส่วนการศึกษาของเราก็จะออกมาเช่นกัน ขอให้ผู้ปฏิบัติสบายใจได้ว่าเราไม่ได้ฉีดสลับเป็นคนแรก ทั้งนี้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนต่างชนิด อาจเพราะบางคนมีอาการแพ้จากวัคซีนชนิดแรก หรืออาจมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม เรากำลังทำการศึกษาทางคลินิกบันทึกทุกวัน ซึ่งผลจะออกมาภายในสิ้นเดือนนี้

หมอยง, เดลตา, ซิโนแวค, Sinovac, ฉีดวัคซีน, แอสตร้าเซนเนก้า, AstraZeneca, ซิโนฟาร์ม, Sinopharm, สลับ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ