ข่าว

จำเป็นแค่ไหน "ตรวจภูมิคุ้มกัน" หลังฉีด "วัคซีน โควิด-19" ค่าตรวจเท่าไหร่บ้าง

รู้จัก "ตรวจภูมิคุ้มกัน" หลังฉีด "วัคซีน โควิด-19" จำเป็นแค่ไหน รวมโรงพยาบาลที่เปิดให้บริการ ค่าตรวจเท่าไหร่กันบ้าง

เป็นคำถามคาใจสำหรับใครหลายคนทีเดียวกับเรื่อง "ตรวจภูมิคุ้มกัน" หลังฉีด "วัคซีน โควิด-19" เพื่อคลายความกังวล วันนี้เรามาทำความรู้จักการการตรวจภูมิคุ้มกันในลักษณะต่าง ๆ พร้อมคำอธิบายจากแพทย์ว่า มีความจำเป็นแค่ไหน ?

"ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด" คืออะไร ?

(COVID-19 Antibody Level Test) เป็นการตรวจระดับภูมิทั้งก่อนและหลังรับวัคซีน โควิด-19 หรือตรวจหลังติดเชื้อ โควิด-19 สำหรับผู้ที่ต้องการทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิในร่างกาย

การตรวจภูมิคุ้มกัน โควิด-19 คือ การตรวจเพื่อหาเชิงปริมาณของระดับภูมิต้านทานชนิด IgG , IgM (Total antibody) ในร่างกายที่มีต่อเชื้อ SARS-CoV2 บริเวณหนามโปรตีน (Spike Protein) ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของการนำเชื้อ โควิด-19 เข้าสู่เซลล์ในร่างกาย

โดยในการตรวจภูมิคุ้มกัน โควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบระบบภูมิคุ้มกัน (Antibody) หลังการรับวัคซีน โควิด-19 อีกด้วย โดยการตรวจภูมิคุ้มกัน โควิด-19 ก่อนและหลังฉีดวัคซีน โควิด-19 จะต้องตรวจหลังจากรับวัคซีนไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์

เช็ก 10 โรงพยาบาลให้บริการ "ตรวจภูมิคุ้มกัน" โควิด-19 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564)

1. โรงพยาบาลเจ้าพระยา

ประเภทการตรวจ : ตรวจหาภูมิคุ้มกันแบบ IgG (เจาะเลือด)

ค่าบริการ : 999 บาท (รวมค่าแพทย์ ค่าบริการโรงพยาบาล ค่าบริการพยาบาลแล้ว)

ระยะเวลารอผลตรวจ : 1 ชั่วโมง 30 นาที

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 02-443-5666 , 02-443-8222 (จันทร์ - อาทิตย์ 08.00 - 17.00 น.)

ที่มา : โรงพยาบาลเจ้าพระยา

2. โรงพยาบาลนครธน

ประเภทการตรวจ : Anti-SARS-Cov-2 S Immunoassay

ค่าบริการ : 1,090 บาท (รวมค่าแพทย์ ค่าบริการโรงพยาบาล ค่าบริการพยาบาลแล้ว)

ระยะเวลารอผลตรวจ : 1 ชั่วโมง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 02-450-9999 , 02-000-9999

ที่มา : HealthServ

 

3. โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ 

ประเภทการตรวจ : ตรวจหาภูมิคุ้มกันประเภท IgG และ IgM COVID-19 (เก็บตัวอย่างโดยการเจาะเลือด)

ค่าบริการ : 1,200 บาท (ไม่รวมค่าบริการโรงพยาบาล)

ระยะเวลารอผลตรวจ : ไม่ระบุ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 02-576-6000

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

4. โรงพยาบาลวิชัยเวช

ประเภทการตรวจ : การตรวจแบบอิไลซ่า (ELISA) เป็นวิธีการทดสอบที่มีความแม่นยำและมีความไวสูง ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ใช้วิธีตรวจผ่านการเจาะเลือด เพื่อตรวจหาได้ทั้งแอนติเจน และแอนติบอดี ชนิด IgG และ IgM

ค่าบริการ : 1,200 บาท (ไม่รวมค่าแพทย์และค่าบริการ)

ระยะเวลารอผลตรวจ : 2 วันทำการ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 02-576-6000

ที่มา : โรงพยาบาลวิชัยเวช

5. โรงพยาบาลบางโพ

ประเภทการตรวจ : หาระดับภูมิต้านทาน ในส่วนของ Spike Protein

ค่าบริการ : 1,200 บาท (รวมค่าแพทย์และค่าบริการโรงพยาบาลแล้ว)

ระยะเวลารอผลตรวจ : ไม่ระบุ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : คลินิกอายุรกรรม 02-587-0144 ต่อ 2200 / ศูนย์ตรวจสุขภาพ 02-587-0144 ต่อ 2300

ที่มา : โรงพยาบาลบางโพ

 

6. โรงพยาลอินทรารัตน์

ประเภทการตรวจ : ตรวจหาภูมิคุ้มกัน โควิด-19 (Antibody-SARS-CoV-2-S)

ค่าบริการ : 1,200 บาท (รวมค่าบริการ แต่ยังไม่รวมค่าตรวจอื่น ๆ กรณีมีการปรึกษาแพทย์หรือรักษาเพิ่มเติม)

ระยะเวลารอผลตรวจ : 1 - 2 ชั่วโมง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : แผนกอายุรกรรม 02-481-5555 ต่อ 1700

ที่มา: โรงพยาบาลอินทรารัตน์

7. โรงพยาบาลรามคำแหง

ประเภทการตรวจ : ตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ

ค่าบริการ : 1,200 บาท (รวมค่าบริการ แต่ยังไม่รวมค่าตรวจอื่น ๆ กรณีมีการปรึกษาแพทย์หรือรักษาเพิ่มเติม)

ระยะเวลารอผลตรวจ : ภายใน 1 ชั่วโมง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 02-743-9999

ที่มา: โรงพยาบาลรามคำแหง

8. โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ 

ประเภทการตรวจ : หาระดับภูมิต้านทาน ในส่วนของ Spike Protein

ค่าบริการ : 1,200 บาท (รวมค่าบริการ)

ระยะเวลารอผลตรวจ : ไม่ระบุ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 1218 กด 3 (สาขาบางแค)

ที่มา : โรงพยาบาลเกษมราษฎร์

 

9. โรงพยาบาลวิภาวดี

ประเภทการตรวจ : ตรวจหาภูมิคุ้มกัน Anti-S (RBD) IgG

ค่าบริการ : 1,500 บาท (รวมค่าบริการแล้ว)

ระยะเวลารอผลตรวจ : ไม่เกิน 2 ชั่วโมง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ศูนย์สุขภาพและอาชีวอนามัย โทร.02-561-1111 ต่อ 2110 , 2111

ที่มา : โรงพยาบาลเกษมราษฎร์

10. โรงพยาบาลเมดพาร์ค

ประเภทการตรวจ : หาระดับภูมิต้านทาน ในส่วนของ Spike Protein

ค่าบริการ : 1,500 บาท (รวมค่าบริการพยาบาล และค่าบริการโรงพยาบาลแล้ว แต่ไม่รวมค่าแพทย์กรณีปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม)

ระยะเวลารอผลตรวจ : ประมาณ 2 ชั่วโมง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 02-023-3333

ที่มา: โรงพยาบาลเมดพาร์ค

"ตรวจภูมิคุ้มกัน" โควิด-19 จำเป็นแค่ไหน ?

"หมอยง" ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการตรวจภูมิคุ้มกันผู้ที่ฉีดวัคซีน โควิด-19 แล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปตรวจหาภูมิต้านทานแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันแต่ละห้องปฏิบัติการ น้ำยาที่ใช้ตรวจ หลากหลายชนิดกันมาก ยังไม่มีมาตรฐานกลาง จึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ เช่น หน่วยที่ใช้วัดก็แตกต่างกัน เช่นเป็น AU (Arbitrary Unit) ตามพจนานุกรม Arbitrary แปลว่า โดยพลการ หรือตามอำเภอใจ หน่วยเป็นยูนิตก็มี ยังไม่มีมาตรฐานกลางขององค์การอนามัยโลกที่เข้ามาปรับ หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ก็มี เป็นตัวเลขการทำให้เจือจางก็มี เช่น 1:20 , 1:40 , 1:80 และยังมีการใช้วิธีการตรวจแบบรวดเร็วอีก โดยการหยดเลือดแล้วดูแถบสี ซึ่งความถูกต้องต่ำมาก

 

การแปรผลจะมีการสับสนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าถือแค่ว่าตรวจพบหรือไม่พบ จะพบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตรวจพบ ถ้าทำวิธีที่ไว แล้วเมื่อพบก็บอกไม่ได้ว่าระดับเท่าไหร่ที่จะป้องกันโรคได้ และยิ่งเปรียบเทียบต่างห้องปฏิบัติการ ต่างวิธี จะเห็นว่าตัวเลขแตกต่างกันมาก ทำให้เกิดการสับสนมากในขณะนี้ จึงเป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ประเทศไทยจะต้องสูญเสียเงินทอง ออกต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เมื่อตรวจแล้ว ก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติม ไม่ได้ใช้ตัวเลขดังกล่าวมาตัดสินใจ ในการป้องกันหรือการให้วัคซีนเพิ่มแต่อย่างใด เพียงแต่สร้างความสบายใจหรือไม่สบายใจเกิดขึ้น และเสียเงินทองโดยใช่เหตุ

ข้อมูล : โรงพยาบาลเพชรเวช , Yong Poovorawan

ข่าวยอดนิยม