ข่าว

รวมคำถาม "ซิโนแวค" ประสิทธิภาพ ภูมิคุ้มกัน ความจำเป็นวัคซีน โควิด-19 เข็ม 3

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หมอศิริราชตอบคำถาม "ซิโนแวค" ไขข้อข้องใจ ประสิทธิภาพ - ภูมิคุ้มกัน ความจำเป็นวัคซีน โควิด-19 เข็ม 3

25 มิถุนายน 2564 เกาะติดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ (เมษายน 2564) ในประเทศ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน เมื่อเวลา 12.30 น. (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) พบ ผู้ป่วยรายใหม่ 3,644 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 2,803 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 648 ราย จากเรือนจำ / ที่ต้องขัง 162 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 31 ราย ขณะที่ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 207,428 ราย หายป่วยแล้ว 165,680 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 44 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,725 ราย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 24 มิถุนายน 2564 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 8,657,423 โดส โดยวันที่ 24 มิถุนายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 188,929 ราย และ เข็มที่ 2 จำนวน 68,174 ราย

วัคซีน โควิด-19, โควิด-19, ซิโนแวค, ประสิทธิภาพ, เข็ม 3

วัคซีน โควิด-19, โควิด-19, ซิโนแวค, ประสิทธิภาพ, เข็ม 3

ด้านกระแสสังคม โลกออนไลน์ ประชาชน ชาวเน็ต เริ่มเกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน โควิด-19 มีการเปรียบเทียบผลการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะประสิทธิภาพ ซิโนแวค รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องฉีดเข็มที่ 3 และกังวลใจว่าที่ฉีดไปแล้วนั้นมันโอเคหรือไม่ แพทย์หญิง กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวบรวมคำถามทั้งหมดไขข้อข้องใจ

1. วัคซีน โควิด-19 ซิโนแวค มีประสิทธิภาพดีพอไหม โดยเฉพาะต่อสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ซึ่งมีทีท่าจะระบาดเพิ่มมากขึ้น? 

วัคซีน ซิโนแวค ผลิตจากเชื้อตายซึ่งเป็นเทคโนโลยีเก่า ระดับภูมิคุ้มกัน RBD-IgG ที่วัดได้หลังฉีดไม่ได้สูงเท่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น mRNA และจำเป็นต้องฉีดอย่างน้อยสองเข็ม จึงจะเห็นระดับภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน และ เมื่อตรวจด้วยวิธี live virus neutralizing antibody (NT) ก็พบระดับที่สูงประมาณพอควรต่อเชื้อดั้งเดิมและมีระดับ NT ต่อสายพันธุ์ UK หรือสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) มีระดับลดลงประมาณ 10 เท่า แต่ยังอยู่ในระดับที่ป้องกันได้ ส่วน NT ต่อสายพันธุ์อินเดีย ยังอยู่ระหว่างการศึกษา

 

"แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การวัดระดับภูมิคุ้มกันนั้น เป็นตัวแทนบ่งชี้การตอบสนองของร่างกาย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบแน่นอนว่าระดับภูมิคุ้มกันที่วัดด้วยวิธีที่แตกต่างกันแต่ละวิธีนี้ ต้องมีระดับเท่าใดจึงจะป้องกันโรคโควิด-19 ได้ และที่ไม่ทราบว่าระดับเท่าใดจึงจะป้องกันโรครุนแรงและเสียชีวิตได้ แต่คาดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ระดับสูงมาก เป็นที่ทราบจากการศึกษาระยะที่ 3 ทุกวัคซีนป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้สูงเกือบ 100% แต่ป้องกันการติดเชื้อรวมๆ ได้แตกต่างกัน ซึ่งสัมพันธ์กับระดับ NT ดังนั้น แม้แต่การตรวจ NT ซึ่งตรวจได้ยากเย็น ทำเฉพาะในงานวิจัย ยังไม่สามารถบอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรครุนแรงและเสียชีวิตได้เลย ซึ่งต้องใช้การศึกษาใน phase 3 , 4 หรือเมื่อมีการใช้จริง ส่วนใหญ่เป็น case-control study จึงจะบอกประสิทธิผลในเรื่องนี้ได้"

 

แล้วการตรวจเลือดที่มีในโรงพยาบาลทั่วๆ ไป พอจะบอกภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และควรตรวจหลังฉีดวัคซีน โควิด-19 ไหม?

การตรวจที่มีที่ใช้ทั่วๆ ไปในโรงพยาบาลต่างๆ เป็นเทคนิคที่ออกแบบมาเพื่อใช้วินิจฉัยโรค ทำให้ไม่แม่นยำในการจะมาบอกว่ามีภูมิคุ้มกันที่ปกป้องการติดเชื้อหรือป้องกันโรครุนแรงได้หรือไม่ มีหลายคนฉีดวัคซีนแล้วไปตรวจภูมิคุ้มกันที่มีใช้ตามโรงพยาบาลต่างๆ แล้วพบว่า ไม่มีภูมิ ซึ่งน่าจะเกิดจากการตรวจไม่ไวพอ เกิดผลลบปลอม เกิดความกังวลโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ ในโครงการวิจัยต่างๆ นั้น พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ววัด NT ได้เกือบ 100% ขอแนะนำว่าไม่ควรไปตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่มีโฆษณาตามโรงพยาบาลต่างๆ เพราะไม่แม่นยำ ทำให้ท่านเกิดความกังวลไปคิดว่าวัคซีนที่ฉีดนั้นเป็นน้ำเปล่าหรือเปล่า และกระวนกระวายที่จะไปฉีดวัคซีนเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น

 

แล้วหากไม่ตรวจระดับภูมิคุ้มกันจะรู้ได้อย่างไรว่าวัคซีน โควิด-19 ที่ฉีดมีประสิทธิภาพ?

อันนี้ต้องอาศัยการศึกษาในประชากรที่ฉีดวัคซีนแล้วว่ามีโอกาสเกิดโรคหรือเกิดโรครุนแรงน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ มีผลการศึกษาที่พบว่าวัคซีน โควิด-19 ซิโนแวค ป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้ 100% ในการศึกษาในบราซิล และป้องกันการเข้าไอซียูได้ 89% ในชิลี ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีสายพันธุ์กลายพันธุ์ P1 ซึ่งถือเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างดื้อตัวหนึ่ง สำหรับการป้องกันสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) นั้น มีข้อมูลซึ่งฉีดในวงกว้างที่เกาะภูเก็ตประเทศไทยเรานี่เอง และพบว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคการติดเชื้อได้ประมาณ 90% และไม่มีใครป่วยหนักหรือเสียชีวิตในโครงการนั้น แต่คาดว่าน่าจะป้องกันรุนแรงได้มากกว่า 90% แน่

 

แล้วกับ สายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ล่ะ?

ต้องรอข้อมูลจากประเทศที่มีสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ระบาดและใช้วัคซีน โควิด-19 ซิโนแวค เป็นหลัก ได้แก่ อินโดนีเซีย และ จีน ซึ่งมีข้อมูลออกมาเบื้องต้นว่า ที่ประเทศอินโดนิเซียนั้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีน ซิโนแวค ไปแล้ว แม้มีติดเชื้อก็มีอัตราป่วยที่ลดลงมาก ในประเทศจีนมีรายงานเบื้องต้นว่า ซิโนแวค สามารถป้องกันการนอน รพ. จากสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ได้ 96% แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด สำหรับประเทศไทยเรานั้นสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ยังระบาดในวงไม่กว้างนัก ทำให้ยังไม่สามารถคำนวณประสิทธิผลจากวัคซีน ซิโนแวค ต่อสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ได้ แต่หากดูตัวอย่างในประเทศอังกฤษสำหรับวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า และ ไฟเซอร์ พบว่า แม้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่อสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ต่ำกว่าต่อสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) ไปบ้าง แต่พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการนอน รพ. ซึ่งหมายถึงรุนแรง ยังคงมีประสิทธิภาพที่สูงมากและพอๆ กัน (92% และ 96%) ผลทั้งหมดนี้ บ่งชี้ไปในทางที่ว่า ถ้าวัคซีนป้องกันสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) ได้ ก็น่าจะป้องกันสายพันธุ์เดลตา (สายพันธุ์อินเดีย) ได้ โดยเฉพาะต่อโรครุนแรง

 

คราวนี้มาถึงคำถามว่า แล้วเข็มที่ 3 ต้องฉีดไหม?

แม้ว่าวัคซีน ซิโนแวค น่าจะป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยเฉพาะชนิดรุนแรงได้ดี แต่ประสิทธิภาพนี้จะอยู่ได้ไม่นานมาก เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันจะตกลงตามระยะเวลา ต้องเข้าใจกันก่อนว่าวัคซีนทุกชนิดจะต้องมีการฉีดกระตุ้นหลังจากครบ 2 เข็มแล้วอย่างแน่นอน วัคซีนที่ทำให้สร้างภูมิเริ่มต้นที่ระดับสูงหน่อย ช่วงเวลาก่อนที่จะต้องฉีดซ้ำก็อาจจะทิ้งช่วงได้ยาวกว่า มีการคำนวณว่าค่าครึ่งชีวิตของระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่นาน 108 วัน สำหรับวัคซีน ซิโนแวค ซึ่งให้ระดับ NT ไม่สูงมาก ถ้าต้องการให้ระดับ NT คงอยู่ในระดับเดิม ควรฉีดกระตุ้นหลังจากเข็มที่ 2 แล้ว อย่างน้อย 3 - 4 เดือน ซึ่งการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะมีผลดีในการป้องกันกลายพันธุ์ซึ่งมีระดับ NT ตั้งต้นจะต่ำกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมด้วย

"ในขณะนี้ วัคซีนทุกชนิดกำลังมีการพัฒนารุ่นใหม่ให้สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ ก็เหมือนที่เราต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ต้องอัปเดตสายพันธุ์ทุกปีเช่นกัน แต่จากการศึกษาเบื้องต้นโดยวัคซีน mRNA พบว่า ใช้วัคซีนรุ่นเดิมฉีดเป็นเข็มที่ 3 ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ครอบคลุมไปยังเชื้อกลายพันธุ์ได้มากขึ้นได้ด้วย"

 

แล้วควรใช้อะไรฉีดกระตุ้นดีควรสลับหรือเปลี่ยนชนิดของวัคซีนไหม?

ในเบื้องต้นตอบได้ว่า การเปลี่ยนชนิดวัคซีน โควิด-19 น่าจะทำให้ร่างกายเก่งขึ้นในการสร้างภูมิคุ้มกันที่นำเสนอในหลายรูปแบบ และสำหรับวัคซีน ซิโนแวค จะมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันระบบเซลล์ไม่ค่อยดี ดังนั้น การเปลี่ยนชนิดน่าจะช่วยในเรื่องนี้ได้ด้วย แต่ว่าจะใช้วัคซีนชนิดใดมากระตุ้นดีกว่ากันยังเป็นคำถามวิจัย น่าจะได้คำตอบใน 1 - 2 เดือนนี้

หรือควรสลับชนิดของวัคซีนตั้งแต่เข็มที่ 2 เลยจะดีกว่าไหม?

การสลับชนิดของวัคซีน โควิด-19 ในเข็มที่ 2 อาจจะทำให้ภูมิคุ้มกันสูงกว่าการใช้วัคซีนชนิดเดิม ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นบ่งชี้ไปในทางนั้น แต่ยังต้องรอข้อมูลการศึกษาให้มากขึ้นโดยเฉพาะข้อมูลประสิทธิผล และการสลับว่าเอาวัคซีนใดฉีดก่อน วัคซีนใดฉีดหลัง จึงจะให้ผลการกระตุ้นภูมิที่ดีกว่ากัน เพราะผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อฉีดในอันดับที่แตกต่างกันอาจไม่เหมือนกัน รวมทั้งต้องมาดูวิธีการบริหารจัดการว่า หากมีการฉีดสลับจะสามารถทำได้โดยไม่มีข้อผิดพลาดหรือไม่ และระยะห่างของเข็มที่ 1 และ 2 ควรเป็นอย่างไรถ้าสลับชนิดกัน จำเป็นต้องรอผลการศึกษาก่อนจะมีคำแนะนำออกมาอย่างเป็นทางการ องค์การอนามัยโลกยังไม่แนะนำให้เปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 1 และ 2 จนกว่าจะมีข้อมูลการศึกษามากกว่านี้ แต่สำหรับผู้ที่มีอาการข้างเคียงรุนแรงหรือแพ้วัคซีนตัวแรก ก็สามารถเปลี่ยนชนิดของวัคซีนในเข็มที่ 2 ได้เลย

 

 

อย่างนี้เราควรไปจองวัคซีนสำหรับเข็ม 3 เอาไว้เลยไหม?

ตอนนี้ยังมีวัคซีนจำกัด ควรให้ความสำคัญกับการให้ทุกคนได้รับการฉีด 2 เข็มก่อน ซึ่งจะทำให้ทุกคนมีความปลอดภัยระดับหนึ่งก่อน แล้วค่อยมาคิดถึงเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ซึ่งยังพอมีเวลา ผู้ที่ฉีดวัคซีน แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม อาจจะทิ้งช่วงได้นานกว่าสักหน่อยก่อนจะต้องฉีดเข็มที่ 3 ทุกท่านที่ฉีด ซิโนแวค ไปแล้ว 2 เข็ม ขอให้สบายใจว่าอย่างน้อยเรามีเกราะที่ป้องกันโรคได้แล้วชั้นหนึ่ง ค่อยมาคิดเรื่องฉีดเข็มที่ 3 กัน ซึ่งไม่จำเป็นต้องรีบมาก โดยน่าจะห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 - 4 เดือน หลังเข็มที่สอง เราก็ยังพอมีเวลาเพื่อรอให้ผลการศึกษาต่างๆ ออกมาก่อน แล้วมาวางแผนกันอย่างเป็นระบบ แต่ในระหว่างนี้ ผู้รับผิดชอบต้องรีบจองวัคซีนเผื่อไว้เลย เพราะวัคซีนเป็นสิ่งที่ต้องจองนาน และควรจองให้มีหลากหลายชนิดไว้ก่อน เพื่อให้เป็นตัวเลือกในการฉีดต่อไป

อ่านข่าว - เปิด 6 "สถานที่เสี่ยง" ชลบุรี ใครสัมผัส - เดินทางไป เช็กอาการ "โควิด-19" ด่วน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ