ข่าว

ปกป้อง "ล็อกดาวน์" ตัวเอง เตียงผู้ป่วย "โควิด-19" วิกฤติ เกินกำลังแพทย์รับมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมการแพทย์ ยอมรับ เตียงผู้ป่วย โควิด-19 พื้นที่ กทม. ทุกกลุ่มเต็มศักยภาพ ไม่สามารถขยายเพิ่มได้ โดยเฉพาะไอซียู เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนจำกัด

23 มิถุนายน 2564 นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐ ทุกระดับสี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทุกแห่งศักยภาพในการรรับเกือบเต็มที่จะรับผู้ป่วย โควิด-19 รายใหม่แล้ว โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยสีแดงใน กทม. เหลือประมาณ 20 เตียง จากเดิมที่เคยคาดการณ์ว่าการระบาดระลอกเดือนเมษายนจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้วันละ 400 - 500 คน ซึ่งขณะนั้นแต่ละโรงพยาบาลได้ขยายเตียงไอซียูในทุกสังกัดเพิ่มขึ้น รวมถึงการแบ่งโซน 6 พื้นที่ใน กทม. เพื่อดูแลผู้ป่วย และบริหารจัดการเตียงร่วมกัน แต่เนื่องจากในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม. ยังคงเพิ่มขึ้นทุกวัน มากกว่าพันคนในแต่ละวัน ทำให้สถานการณ์เตียงที่จะรองรับผู้ป่วยในทุกระดับสีเกือบวิกฤติ

ขณะเดียวกัน แนวโน้มกลุ่มผู้ป่วย โควิด-19 สีเหลือง อาการหนักขึ้นกลายเป็นสีแดงเพิ่มขึ้นด้วย จึงส่งผลให้อัตราครองเตียงสีแดงเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงเตียงผู้ป่วยสีเขียวด้วย

นอกจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนประมาณ 100 - 200 แห่ง ในพื้นที่ กทม. แม้จะมีห้องไอซียูรองรับได้ 1 - 2 เตียง แต่ปัญหาสำคัญ คือ ขาดบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแล เนื่องจากบุคลากรเหล่านี้ก็มาจากโรงพบาบาลรัฐที่ทำงานนอกเวลา ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รพ.รัฐทุกแห่งตอนนี้ ได้ทำงานเกินกำลังในการดูแลผู้ป่วยทุกคนอยู่แล้ว

ส่วนการแก้ปัญหาขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขและทุกฝ่ายพยายามแก้ปัญหาทุกวิถีทาง ทั้งการแบ่งโซนดูแลผู้ป่วยแต่ละพื้นที่ โดยหลักตอนนี้ คือ ทำอย่างไรให้ลดจำนวนผู้ป่วยอาการรุนแรงลงให้ได้มากที่สุด

 

ล่าสุด เมื่อ 1 - 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ กทม. ออกแนวทาง cummunity isolation คือ การแยกตัวออกจากชุมชนทันที และทำบับเบิลแอนด์ซีลไว้ ขณะเดียวกัน ตอนนี้มีการติดเชื้อ โควิด-19 ในผู้สูงอายุมากขึ้น เบื้องต้น ได้มีการหารือ กทม. จัดทำแนวทาง Nursing home isolation กรณีหากผู้ดูแลและผู้สูงอายุติดเชื้อแต่อาการไม่มาก ให้ช่วยดูแลผู้สูงอายุระหว่างรอเตียง ขณะเดียวกัน จะมีแพทย์ในพื้นที่คอยให้คำปรึกษาเพื่อผ่อนคลายระหว่างการจัดสรรเตียง

ขณะนี้ ผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 - 90 มีโรคร่วม เบาหวาน ความดัน อ้วน และตอนนี้พบผู้สูงอายุติดเตียงมากขึ้น ได้หารือกับ กทม. เร่งฉีดวัคซีน โควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง เพื่อลดป่วย ลดเสียชีวิต

 

นพ. สมศักดิ์ ระบุถึงการพบผู้เสียชีวิตที่มากขึ้น ไม่ได้มาจากระบบการรักษาที่ด้อยประสิทธิภาพ แต่เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นและสะสมมาต่อเนื่อง และยืนยันว่า ยาฟาวิพาราเวียร์ยังเป็นยาหลักและมีเพียงพอ ซึ่งขณะนี้ปรับให้ยาเร็วขึ้น เช่น ผู้ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อยแต่มีโรคร่วมก็ให้ยาทันที ขณะเดียวกัน ได้เพิ่มแนวทางการให้นำยาฟ้าทะลายโจร มารักษาผู้ป่วย โควิด-19 ที่ไม่มีอาการ และย้ำถึงประชาชนให้ล็อกดาวน์ตัวเอง และเคร่งครัดมาตรการทางสังคม แม้การรับประทานอาหารกับคนรู้จักหรือคนในครอบครัว ก็ควรเว้นระยะห่าง เพราะขณะนี้ เราไม่รู้เลยว่าคนรอบข้าง หรือคนที่เราไปเจอ มีใครติดเชื้อบ้าง

นพ. สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี ระบุว่า ขณะนี้ เตียงผู้ป่วยไอซียู โควิด-19 ใน รพ.ราชวิถี เต็มทุกเตียง ทั้งไอซียูเต็มรูปแบบ และไอซียูส่วนต่อขยายที่เพิ่มมา สำหรับผู้ป่วยสีแดง อัตราครองเตียงในห้องไอซียู โควิด-19 เฉลี่ยอยู่ประมาณ 10 - 20 วัน หากตรวจเชื้อซ้ำแล้วพบว่าไม่ติดเชื้อก็จะถูกย้ายไปยังห้องไอซียูทั่วไป โดยตอนนี้ต้องสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วย โควิด-19 ที่มีภาวะฉุกเฉิน ต้องผ่าตัด หรือช่วยเหลือที่เร่งด่วนด้วย

ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล วันที่ 21 มิถุนายน จากกรมการแพทย์ พบว่า ห้องสำหรับผู้ป่วยสีแดง อย่างห้องไอซียูความดันลบ ผู้ป่วยครองเตียง 268 เตียง ว่าง 46 เตียง , หอผู้ป่วยวิกฤติที่ดัดแปลงเป็นห้องความดันลบ ครองเตียง 689 เตียง ว่าง 68 เตียง , ห้องไอซียูรวม ครองเตียง 267 เตียง ว่าง 34 เตียง , ห้องสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง ห้องแยก ครองเตียง 3,529 เตียง ว่าง 527 เตียง , ห้องสามัญ ครอง 6,582 ว่าง 1,458 เตียง และห้องสำหรับผู้ป่วยสีเขียว hospitel ครองเตียง 10,263 ว่าง 3,267 เตียง , เตียงสนาม ว่าง 803 เตียง

อ่านข่าว - ตื่นรู้ "โควิด-19" สุดน่ากลัว ฟาวิพิราเวียร์ - เรมเดซิเวียร์ ประสิทธิภาพต่ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ