ข่าว

ผู้ปกครองจนเฉียบพลัน "หนี้" พุ่ง เด็กหลุดระบบการศึกษาแล้ว 10%

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กสศ. เผย เปิดเทอมใหม่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาแล้ว 10 % ต้องเร่งช่วย ยกเคส "ภูเก็ต" ผู้ปกครองตกงาน รายได้หายวับจากหลักหมื่นเหลือหลักพัน หนักกว่าสึนามิถล่ม ขณะที่ "รศ.สังศิต" เสนอรัฐบาลตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา 50,000 ล้านบาทต่อเดือน เร่งแก้วิกฤต

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า วิกฤตโควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน จนถาวร และเกือบจน ในปีการศึกษา 2564 พบว่า จะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่อีกเดือนเศษ จะเพิ่มเป็น 10,000 คน และคาดการณ์ว่า สิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ  65,000 คน

 

ผู้ปกครองจนเฉียบพลัน  "หนี้" พุ่ง เด็กหลุดระบบการศึกษาแล้ว 10%

(ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ)

 

โดยระบบประถมศึกษาอาจหลุดไม่มาก เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับราว 4% ส่วนมัธยมศึกษาตอนต้น 19-20% มัธยมศึกษาตอนปลาย 48% และในจำนวนนี้โอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้มีเพียง 8-10 %

 

ที่ผ่านมา กสศ. อุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษ อยู่ที่ปีละ 3,000 บาท แต่ต้นทุนการศึกษานั้น มีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร อยู่ประมาณ 2,058 – 6,034 บาท ทำให้การเรียนต่อเป็นไปไม่ได้

 

 

กสศ. เสนอประนอมหนี้ช่วยผู้ปกครอง

 

ขณะที่นโยบายการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว ใช้อัตราเดิมมา 10 กว่าปี ไม่มีการปรับเพิ่มท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รายได้ลด หนี้นอกระบบเพิ่ม ดังนั้นจะต้องเร่งแก้ปัญหาจริงจัง โดยการปรับเงินอุดหนุนรายหัว ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียนให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง เพราะตอนนี้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 2,000 – 3,000 บาท ไม่เช่นนั้น ในภาคเรียนที่ 2 จะเห็นการหลุดจากระบบมากกว่านี้  ทางกสศ. ขอเสนอให้มีการประนอมหนี้การศึกษา เรียนฟรีแบบไม่มีค่าเทอม และหาทางช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง

 

"ค่าน้ำมันรถไปกลับ วันละประมาณ 40 บาท เดือนละ 800 บาท ผู้ปกครองมีรายได้ 1,077 บาทต่อคนต่อเดือน จะไปรอดหรือครับ นี่เป็นปัญหาหนักมาก เด็กที่เพิ่มมากขึ้น 7 -8  แสนคนที่ยากจน ถ้าเอาเส้นรายได้ 1,021 บาท จะมีเด็กยากจนพิเศษ 9 แสนคน ถ้าใช้เส้นแบ่ง 1,388 บาท จะเกิดเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เด็กเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่เราช้อนได้เพียง 10-15% เท่านั้น ทั้งนี้ กสศ. จะมีการประชุมบอร์ดเพื่อกำหนดทิศทางใน 3 ปีข้างหน้า ในท่ามกลางวิกฤติดโควิดที่ไม่ลดลง จะกำหนดบทบาทภารกิจ อย่างไรเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ครอบครัวเปราะบางยากจนให้ดียิ่งขึ้นให้ได้"

 

 

 

โควิดทำภูเก็ตสาหัสกว่าสึนามิ

 

ขณะที่ นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย โครงการจัดการศึกษา  เชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โรคระบาดครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าสึนามิมาก ภูเก็ตเคยเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับต้นของโลก ปี 2562 ทำรายได้กว่า 440,000 ล้านบาท รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 33,000 บาท

 

ผู้ปกครองจนเฉียบพลัน  "หนี้" พุ่ง เด็กหลุดระบบการศึกษาแล้ว 10%

(อัญชลี วานิช เทพบุตร)

 

แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เก็บข้อมูลตัวเลข พบรายได้ของประชากรภูเก็ตเหลือเพียง 1,961 บาท ต่ำกว่าเกณฑ์คนจนทั่วประเทศ ของข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาท

 

หลายกรณีพ่อแม่จนเฉียบพลัน เคยเป็นพนักงานโรงแรม แต่รายได้เป็นศูนย์ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เด็กหลายคนสอบติดโรงเรียนรัฐ ต้องวางเงิน 3,000 – 4,500 บาท เมื่อไม่มีต้องถูกลบชื่อ ออกให้เด็กคนอื่นๆ เรียน หรือเด็กบางคน เคยเรียยนโรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ แต่วันนี้ต้องลาออก เปลี่ยนที่เรียน ยิ่งไปกว่านั้นบางกรณียังต้องค้างค่าเรียน ออกก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้วุฒิการศึกษา แม้จะขอทำสัญญาประนอมหนี้  ขอวุฒิการศึกษาเด็กก่อนก็ยังไม่ได้ บางโรงเรียนไม่ให้เด็กเข้าห้องสอบ เพราะไม่ได้จ่ายค่าเทอม

 

วิกฤตแบบนี้แล้วเราจะทิ้งเด็กได้อย่างไร ต้องให้เด็กเข้าเรียนก่อน ที่ภูเก็ตถ้าเปรียบเทียบสภาพคน วันนี้เป็นตายเท่ากัน เราต้องช่วยเคสระยะสั้น เฉพาะหน้าก่อน ช่วยเด็กที่กำลังจะจมน้ำให้ได้ ต้องมาช่วยเป็นการด่วน ไม่ใช่หลุดจากระบบแล้วเอื้อมมือช่วย

 

"สังศิต" เสนอรัฐบาลตั้งกองทุนหมุนเวียนการศึกษาด่วน

 

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ วุฒิสมาชิก ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า การที่จะให้นักเรียนต้องหยุดเรียนเพราะขาดแคลนเงินทอง พ่อแม่ตกงาน ครอบครัวมีลูก 2-3 คน แต่มีมือถือเครื่องเดียวเรียนออนไลน์ก็ไม่ได้ จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต ต้องหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว  รัฐบาลควรทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา เช่น ให้งบประมาณเดือนละ 5 หมื่นล้าน ตลอด 1 ปี รวมประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี คาดว่าประมาณปี 2566 รัฐบาลจะคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ เศรษฐกิจภาพรวมของโลกและประเทศไทยดีขึ้น

 

ผู้ปกครองจนเฉียบพลัน  "หนี้" พุ่ง เด็กหลุดระบบการศึกษาแล้ว 10%

(รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์)

 

"การจัดตั้งกองทุนเราดูแลแบบตรงเป้า ผมคิดว่าภาครัฐไม่ควรทำงานคนเดียว ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนเป็นจิตอาสาสำรวจความขาดแคลน สำหรับเงิน 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของรัฐบาล ตัดงบก่อสร้าง งบกองทัพ รัฐบาลหาเงินได้แน่นอน" รศ.สังศิต กล่าว

 

แน่นอนที่ว่าสถานการณ์โควิด ทำให้ทั่วโลกระส่ำระส่าย แต่สำหรับผลกระทบที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดกับเด็กเยาวชนไทยเช่นนี้ หากไม่เร่งแก้ไขก็จะกลายเป็นมีปัญหาสังคมอื่นๆ ที่จะลุกลามได้อีก.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ