ข่าว

ทบทวน "ก่อนฉีดวัคซีนโควิด" เทียบกันชัดๆผลข้างเคียง "ซิโนแวค"- "แอสตร้าเซนเนก้า"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทบทวน "ก่อนฉีดวัคซีนโควิด" เราต้องปฏิบัติตัว เตรียมความพร้อมอย่างไรบ้าง เทียบกันชัดๆผลข้างเคียง "ซิโนแวค"- "แอสตร้าเซนเนก้า"

ผ่านไปแล้ว 4 วัน สำหรับการปูพรม "ฉีดวัคซีนโควิด" ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา โดยจำนวนตัวเลขสะสมผู้เข้ารับ "วัคซีนโควิด-19" ผ่านโครงการ "ไทยร่วมใจ" ใน 25 หน่วยความร่วมมือบริการวัคซีนนอกโรงพยาบาลแล้วกว่า 41,572 คน ซึ่งวันนี้เราจะมาทบทวนถึงข้อปฏิบัติ "ก่อนฉีดวัคซีนโควิด" ว่าเราจะเตรียมตัวกันอย่างไรบ้าง รวมไปถึงผลข้างเคียงเทียบชัดๆ ระหว่าง "ซิโนแวค" กับ "แอสตร้าเซนเนก้า

 

 

ข้อมูลจากโรงพยาบาลรามคำแหง ได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติ "ก่อนฉีดวัคซีนโควิด" ระหว่างฉีด และหลังฉีดวัคซีนโควิดเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ไปดูกันว่าการเตรียมตัวไปรับวัคซีน เราต้องมีความพร้อมในด้านใดๆ บ้าง 

 

อ่านข่าว : ไทยร่วมใจ ลงทะเบียน "ฉีดวัคซีนโควิด" กับข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้ ฉีดยี่ห้อไหน

 

ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

 

- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ มียาประจำที่ต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน

 

- 2 วัน ก่อนฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนักๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ ทำใจสบายๆ

 

- หากเจ็บป่วย มีไข้ ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์

 

- ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ และงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

- รับประทานอาหารให้เรียบร้อย หากมียารักษาโรคประจำตัวก็ให้รับประทานได้เลย

 

- ถ้าใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ จุดลงทะเบียน

 

- สำหรับผู้ป่วยที่ทานยากลุ่ม Warfarin และไม่มีประวัติการรักษาหรือมีผล INR ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ภายใน 1 เดือน ก่อนวันฉีดวัคซีน กรุณานำผล INR มาแจ้งด้วยตัวท่านเอง (ถ้าไม่สามารถระบุผล INR ได้ ทางโรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์พิจารณาเลื่อนหรือยกเลิกการฉีดวัคซีนของท่าน)

 

- ฉีดวัคซีนโควิด-19 ห่างจากการฉีดวัคซีนอื่น 4 สัปดาห์

 

- กรณีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ และโรงพยาบาลของดการฉีดวัคซีน

 

 

ระหว่างเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19

 

- เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน ข้อมูลการลงทะเบียน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว

 

- เดินทางมาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลานัด 30 นาที

 

- ใส่เสื้อผ้าหลวมสบายเปิดหัวไหล่สะดวก ง่ายต่อการฉีดวัคซีน

 

- สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง

 

- ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีด

 

- ก่อนรับวัคซีน ไม่จำเป็นต้องหยุดยาใดๆ หรือกินยาอื่นๆ นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์

 

- เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต และค่าออกซิเจนในเลือด ก่อนรับการฉีดวัคซีน

 

- แนะนำให้ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด งดใช้หรือเกร็งแขนข้างที่ฉีด

 

- ปฏิบัติตามคำแนะของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

 

หลังฉีดวัคซีนโควิด-19

 

- พักรอดูสังเกตอาการที่โรงพยาบาลหรือจุดที่ฉีดวัคซีน 30 นาทีอย่างเคร่งครัด 

 

- พยายามอย่าเกร็งแขนข้างที่ฉีดวัคซีน หรือใช้แขนยกของหนักๆ อย่างน้อย 2 วัน

 

- ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมาก ให้รับประทานยาพาราเซตามอลได้ 1 เม็ด และรับประทานซ้ำได้โดยห่างกัน 6 ชั่วโมง (ห้ามรับประทานยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด)

 

- เมื่อพักรอดูอาการครบ 30 นาที เจ้าหน้าที่จะทำการวัดความดันโลหิตอีกครั้งก่อนกลับ และเมื่อกลับบ้านแล้วยังต้องสังเกตอาการของตัวท่านเองต่ออีก 48-72 ชั่วโมง 

 

- หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น ชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

เปรียบเทียบผลข้างเคียง "ซิโนแวค" กับ "แอสตร้าเซนเนก้า"

 

เรื่องนี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัส​วิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการศึกษาของศูนย์ที่จริงได้ฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดในทุกอายุตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป 

 

คุณหมอยง ระบุว่า วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) โดยเฉพาะในเรื่องไข้ ปวดบริเวณที่ฉีด เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ ปวดศีรษะ

 

รูปข้างล่างแสดงให้เห็นเปรียบเทียบการศึกษาของศูนย์เห็นความแตกต่างได้ชัดเจน

 

ทบทวน "ก่อนฉีดวัคซีนโควิด" เทียบกันชัดๆผลข้างเคียง "ซิโนแวค"- "แอสตร้าเซนเนก้า"

 

ทบทวน "ก่อนฉีดวัคซีนโควิด" เทียบกันชัดๆผลข้างเคียง "ซิโนแวค"- "แอสตร้าเซนเนก้า"

 

อาการที่เกิดขึ้นจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะพบว่า อายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุและผู้หญิงจะมีอาการมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเมื่อดูอาการข้างเคียงเปรียบเทียบกับวัคซีนที่ฉีดในต่างประเทศโดยเฉพาะวัคซีนในกลุ่ม mRNA แล้วไม่ต่างกันเลย ส่วนวัคซีนซิโนแวคอาการข้างเคียงดังกล่าวน้อยกว่ามาก

 

ดังนั้น ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถ้ามีไข้หรือปวดศีรษะ ท้องเสียอาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว คล้ายไข้หวัดใหญ่ ถือเป็นอาการที่พบได้ หลังการฉีดวัคซีน หากเมื่อกลับไปถึงบ้านถ้ามีอาการดังกล่าวรับประทานยาพาราเซตามอลได้เลย ไม่ต้องรอให้ไข้ขึ้นสูงหรือปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัวและสามารถทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง อาการดังกล่าวจะอยู่ประมาณ 1-2 วันก็จะหายเป็นปกติ

 

นอกจากว่ามีอาการมาก เช่น ไข้สูงติดต่อกันหลายวัน หรือสูงมาก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง และรับประทานยาแล้วไม่หาย ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ ถ้าทุกคนเข้าใจ จะได้ไม่เกิดวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนในกลุ่ม virus Vector  หรือ mRNA วัคซีนจะมีอาการข้างเคียงได้มากกว่าวัคซีนชนิดเชื้อตาย ตามหลักฐานเชิงประจักษ์

 

อ่านข่าว : ด่วน ยอด "โควิดวันนี้" 2,290 ราย ข่าวดีรักษาหายเกินครึ่งหมื่

 

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลรามคำแหง , เฟซบุ๊ก คุณหมอยง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ