ข่าว

อนุกรรมการเยียวยา "แพ้วัคซีน" ย้ำจ่ายเงินช่วยเหลือตามอาการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คณะอนุกรรมการ พิจารณาเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผลกระทบจากการ"ฉีดวัคซีน"โควิด-19เผยแนวทางการพิจารณาเน้นช่วยเหลือเบื้องต้นให้เร็วที่สุดตามระดับความรุนแรงและความต่อเนื่องยาวนานของผลข้างเคียง 


10 มิ.ย.2564 นางลักษณา ศังขชาต อนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับเขตพื้นที่เขต4 สระบุรี  กล่าวถึงขั้นตอนกระบวนการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้พิจารณาหรือพิสูจน์ว่าผลข้างเคียงเกิดจากวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ แต่ภารกิจคือการช่วยเหลือเบื้องต้นและพิจารณาให้รวดเร็วที่สุด ดังนั้นก็จะดูจากเอกสารทางการแพทย์ ประวัติสุขภาพ ช่วงเวลาที่เกิดปัญหา ถ้ามีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วช่วงเวลาที่เกิดอาการไม่นานเกินไป ก็พิจารณาให้หมด


"ถ้ามีหลักฐานชัดว่ามีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จัดหาโดยรัฐ ล็อตที่เท่าใด ฉีดที่ไหน อาการเกิดตอนไหน เคยมีอาการมาก่อนหน้านี้หรือไม่ อนุกรรมการฯก็จะวินิจฉัย โดยนอกจากดูประวัติทางการการแพทย์ว่าเป็นอย่างไรแล้ว ยังจะพิจารณาไปบริบททางสังคมหรือเศรษฐกิจครัวเรือนด้วย อย่างเช่น กรณีที่มีผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ฉีดวัคซีนไปไม่นานแล้วมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน พอดูคำร้องก็เห็นชัดว่าเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้หารายได้หลัก ต้องดูแลบิดามารดา จึงพิจารณาได้ทันทีตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้" นางลักษณา กล่าว  

 


นางลักษณา กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ทาง สปสช. มีหลักเกณฑ์กำหนดช่วงอัตราไว้อยู่แล้ว เช่น เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร อัตราจ่ายคือระหว่าง 2.4-4 แสนบาท รองลงมา เช่น อาการเล็กน้อย ปานกลาง หรือรุนแรงแต่รักษาได้ทันที ก็จะชดเชยลดหลั่นลงไปตามระดับความรุนแรงและความยาวนานต่อเนื่อง 

 


"การช่วยเหลือนี้ไม่ใช่การช่วยค่ารักษาแต่เน้นไปที่ชดเชยการขาดรายได้ เราจะดูว่าเขาเจ็บป่วยต้องหยุดงานหรือไม่ ขาดโอกาสการหารายได้หรือไม่ แล้วจะพิจารณาให้สอดคล้องกับแต่ละเคส สมมติถ้าอาการเล็กน้อย เป็นผื่นอยู่หลายวัน อาจจะชดเชยการหยุดงานให้วันละ 500 บาท หรือถ้าต้องไปรักษาพยาบาลต่อเนื่อง นอนโรงพยาบาลกี่วันก็จะมีผลต่อการคำนวณ เราก็อาจจะเพิ่มค่าพาหนะ ค่าเดินทางให้อีก หรืออาการรุนแรงแต่ได้รับการรักษาและหายอย่างรวดเร็ว ไม่มีอาการต่อเนื่องก็จะเริ่มที่ 7,000 บาท บวกวันนอนว่าอีกกี่วัน เป็นต้น" นางลักษณา กล่าว

 


ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯของเขต 4 สระบุรี ได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว 8 กรณี และจะมีคำร้องเข้ามาอีกในอนาคต ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯจะเร่งพิจารณาให้โดยเร็วที่สุด โดยขณะนี้จะมีการประชุมสัปดาห์ละครั้ง


 

 

สำหรับอัตราการช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง โดยสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ