ข่าว

นายกฯ เร่ง สธ. แก้สายด่วน 1669 หลังทดสอบให้คนโทรแต่ไม่มีใครรับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นายกรัฐมนตรี ตรวจความพร้อมโรงพยาสนาม เอราวัณ 2 บางกอกอารีนา บอก สาธารณสุขเร่งแก้สายด่วน 1669 หลังทดสอบให้คนโทรไปแต่ไม่มีใครรับ ยอมรับไม่สบายใจ ที่เห็นการติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัวเดียวกัน จากเดิมที่คนแรกติด จนติดทั้งครอบครัว

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อมโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 ศูนย์กีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร

ทันทีที่นายกรัฐมนตรีมาถึงได้รับฟังรายงานจากคณะทำงานเพื่อสรุปแนวทางของโรงพยาบาลสนาม ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำงานในขณะนี้ ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายประสานงานอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนกำหนดการทำงานล่วงหน้า รองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดในอนาคต พร้อมกำชับให้มีการประสานงานในส่วนของโรงพยาบาลสนาม กับ โรงพยาบาลอื่นๆ ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อ มีอาการป่วย หรือ จัดเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มสีเหลือง ให้มีความชัดเจนรวดเร็ว และมีความปลอดภัย ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 

นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหมได้นำรถพยาบาล จากโรงพยาบาลทหาร และค่ายทหารต่างๆ ออกมาช่วยทำงานแก้ไขสถานการณ์ในขณะนี้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกทม.ในขณะนี้ 

ขณะเดียวกันภายในห้องนายกรัฐมนตรีตั้งคำถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะว่าหมายเลขสายด่วน 1669 สามารถใช้งานได้จริงหรือไม่เพราะได้ให้คนลองโทรเข้าไป แต่พบว่าไม่มีคนรับสาย จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปดูแลเรื่องนี้โดยเร่งด่วน ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร 

นายกรัฐมนตรี ยอมรับมีความไม่สบายใจ ที่เห็นการติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัวเดียวกัน จากเดิมที่คนแรกติด แต่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้ จนเกิดการแพร่เชื้อไปในครอบครัว ดังนั้นจึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุขทำความเข้าใจ ให้ประชาชนได้รับทราบ ถึงจุดให้บริการด้านสาธารณสุข 

นายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้บุคลากรแพทย์ให้เฝ้าระวังตนเอง เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ ดังนั้นจึงหวังว่าสิ่งที่ได้ช่วยเหลือกัน จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ที่ได้ร่วมกันดูแลประชาชน ขณะเดียวกันคาดหวังว่าสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลง ถ้าทุกคนร่วมมือกัน 

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติม หากไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นนายกรัฐมนตรีก็ต้องแบกรับภาระอยู่แล้ว พร้อมบอกว่า ถ้ารถพยาบาลไม่เพียงพอ ก็จะนำรถสิบล้อทหารไปรับ 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามจะต้องเตรียมของใช้ส่วนตัว ยารักษาโรคประจำตัว โดยทางโรงพยาบาลสนาม ชุดเครื่องนอน อาทิ หมอน มุ้ง ผ้าห่ม น้ำดื่มเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย พัดลม 

สำหรับเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร ผู้ป่วยมีอาการ ใน รพ.สังกัดสำนักการแพทย์ กทม.  8 แห่ง รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลรวม 123 เตียง ส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ 1,650 เตียง จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสนาม 4 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 1,000 เตียง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 443 เตียง คงเหลือ 557 เตียง

โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 200 เตียง มีผู้ป่วยเข้ารัยการรักษาพยาบาล 194 เตียง คงเหลือ 6 เตียง //โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 1(ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 80 เตียง คงเหลือ 20 เตียง
โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง โดยแบ่งเป็นชาย 150 คน หญิง 250 คน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติและสอบสวนโรค

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ตัวพบว่าติดเชื้อและไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลสนามได้นั้น จะต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก่อน หากไม่มีการแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและส่งต่อมายังโรงพยาบาลสนาม โดยจะมีศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเตียงทั้งโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาลสนามทั้ง 4 แห่ง

นายกฯ พอใจ เตรียมความพร้อมโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 ขอความร่วมมือโรงแรมทำ Hospitel ยืนยัน จะดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ขู่ คุมไม่อยู่ ยกระดับมาตรการใช้ยาแรง 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 บางกอกอารีนา ว่า ตนนั้นพอใจในการเตรียมความพร้อม และขณะนี้โรงพยาบาลสนามในกทม. สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 3,000 เตียง

โดยในส่วนของโรงพยาบาลสนามจะเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยสีเขียว หรือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่ต้องกักตัว 14 วัน ตนขอให้ผู้ป่วยอดทน โดยหากเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงจะต้องเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น และจะนำผู้ติดเชื้อเข้ารักษาในโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

รวมถึงมีการเตรียม Hospitel พร้อมกับขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ทำเป็น Hospitel โดยขอให้เสนอความต้องการกลับรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็จะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายให้ ดูแลเรื่องเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้มีการเลิกจ้างงาน พร้อมกับยืนยันว่ารัฐบาลมีความพร้อมในการรับมือ แม้สถานการณ์ขณะนี้จะดูรุนแรง โดยตนขอประเมินสถานการณ์อีกระยะว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยหากสามารถควบคุมได้ก็จะเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ เช่นการฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่าในเรื่องของการนำเข้าวัคซีนได้ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วว่าไม่ได้มีความล่าช้า แต่ปัญหาคือวัคซีนทยอยเข้ามา และจะมีการฉีดเป็นระยะ โดยจะแจกจ่ายไปทุกจังหวัด ตามพื้นที่ความเสี่ยงและจากลำดับความสำคัญ ไม่ใช่วัคซีนเข้ามาแล้วบอกว่าฉีดเข็มเดียวพอ แต่ต้องเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงหากวัคซีนเข็มที่ 2 หากมีปัญหาในการส่งมอบ ซึ่งทั้งโลกก็มีปัญหาหมด 

ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำวัคซีนเพิ่มเติม สามารถนำเข้าได้แต่ต้องผ่านกติกา เนื่องจากเป็นวัคซีนที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีใครรับผิดชอบได้นอกจากรัฐบาล เพราะต้องดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่นผลข้างเคียงในการฉีด และขอบคุณเอกชนที่พร้อมจะช่วยรัฐบาลในเรื่องงบประมาณ พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย

"แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัว และอยากให้ฟังข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางของรัฐ เนื่องจากบางครั้งมีความคิดเห็นหลากหลาย ทำให้ไม่รู้จะเชื่อข้อมูลใด ทำให้เป็นปัญหา ตนไม่โทษใคร อย่างไรตนก็รับผิดชอบอยู่แล้ว ทุกเรื่องในประเทศไทยที่เป็นปัญหาความเดือดร้อน รัฐบาลนี้พร้อมดูแลแก้ปัญหาทุกอย่างให้ดีที่สุด ตนทราบดีอยู่แล้วว่าประเทศมีปัญหาอะไร แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน อะไรที่ไม่ เป็นประโยชน์อ่านได้แต่ขออย่าเชื่อทั้งหมด "

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หากไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการที่แรงขึ้น ซึ่งเราทุกคนไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ตนก็รู้สึกเห็นใจประชาชนผู้มีรายได้น้อย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ