ข่าว

"นฤมล" ลั่น "แรงงานฝีมือคุณภาพ" ปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผย แรงงานฝีมือคุณภาพคือปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาในระดับชาติ

16 ก.ย.63  ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม High - level Ministerial Conference on Human Resources Development for the Changing Word of Work ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันท์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี H.E Dato Lim Jock Hoi, Secretary-General of ASEAN Secretariat, Director General Guy Ryder of the ILO, Honorable Chair of ALMM and Chair of ASED, Honorable Ambassadors from ASEAN Member States เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย 

ศาสตราจารย์นฤมล กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของ Covid -19 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานและการจ้างงาน ทำให้ประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีความสำคัญอย่างมาก สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เนื่องจากกำลังแรงงานคือปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) มีหน้าที่กำหนดนโยบายและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน

รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กพร. มีพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการจัดหลักสูตรฝึกอบรม ให้ลูกจ้างของตนเอง โดยสถานประกอบกิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ การลดหย่อนภาษี การเข้าถึงกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังมีการกำหนดให้จัดงาน Job Expo Thailand 2020 ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 เพื่อจัดหาตำแหน่งงานที่ว่าง การจับคู่งานระหว่างตำแหน่งงานว่างและคนหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และการส่งเสริมการจ้างงานแก่เยาวชนที่เพิ่งจบการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยงานดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสนับสนุนจากภาครัฐแก่เอกชนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับชาติ

“การรับรองแผนสำหรับปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้นำ ASEAN Summit ครั้งที่ 36 เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเริ่มต้นการปฏิบัติตามแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแนวทางการดำเนินงานในปี 2573 จะทำให้อาเซียนมีเวลาเพียงพอที่เตรียมการด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศได้ในที่สุด สามารถตอบสนองความต้องการตลาดแรงงานของอาเซียนและการคาดการณ์ทักษะแรงงานในอนาคต โดยหวังว่าภาครัฐ เอกชน และภาคไตรภาคี จะสามารถใช้ประโยชน์จากแนวทางการดำเนินงาน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดขึ้นก็ตาม” รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ