ข่าว

"หมอธีระ" แนะ 5 ข้อ ต้องทำอย่างไร หากไทยเปิด "ทราเวลบับเบิล"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"หมอธีระ" แนะ 5 ข้อ ต้องทำอย่างไร หากไทยเปิด "ทราเวลบับเบิล" ย้ำ โควิดติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ ต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ พร้อมเตรียมใจรับการระบาดรอบสอง

31ก.ค.63 "รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" ถึงกรณีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย หรือ ทราเวลบับเบิล โดยระบุว่า 

สำคัญมาก...

ย้ำนะครับ...หากเปิดฟองสบู่ท่องเที่ยวจริงตามที่เป็นข่าวเช้านี้

สิ่งที่ประชาชนต้องเตรียมตัว...

หนึ่ง เตรียม"อุปกรณ์ป้องกันตัว"...หน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เจลแอลกอฮอล์หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ ให้เพียงพอสำหรับตัวเองและสมาชิกในครอบครัว

สอง เตรียม"ตัว"...ฝึกตัวเองและสมาชิกครอบครัวให้เป็นนิสัยประจำตัว ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ระแวดระวังตัวเสมอ ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างจากคนอื่นอย่างน้อยหนึ่งเมตร...พูดน้อยลง...พบปะคนน้อยลงสั้นลง...เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร...คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้รีบไปตรวจรักษาโดยเร็ว

สาม เตรียม"ใจ"...ที่จะรับกับการระบาดระลอกสอง อย่าประมาทชะล่าใจกับคารมของหน่วยงานใดๆ ที่อ้างว่าระบาดแล้วจะเอาอยู่ ประเทศต่างๆ แสดงให้เราเห็นแล้วว่าถ้าระบาดซ้ำจะคุมยาก และอยู่ยาวนาน สายพันธุ์ G ที่ระบาดหนักนี้จะแพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม แม้ความรุนแรงของโรคจะยังพอๆ เดิมก็ตาม

อย่าลืมว่าโรคนี้ติดง่ายกว่าไข้หวัดใหญ่ ตายไปแล้วกว่าหกแสนคนทั่วโลก ยังไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกัน

สี่ เตรียม"สถานที่"...เพราะไม่รู้ว่าหากระบาดแล้วจะรุนแรงจนเอาไม่อยู่เพียงใด ทรัพยากรที่มีในประเทศนั้นจำกัด หากระบาดวงกว้างแล้วในอนาคต คนติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้ออาจไม่สามารถอยู่ในรพ.ได้ จำเป็นต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ดังนั้นจึงควรมองหาที่ทางในบ้าน เตรียมไว้ด้วยก็จะดี

ห้า เตรียม"งาน"...เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการทำงานระยะยาวของกิจการต่างๆ ของท่าน อยากแนะนำให้ปรับแผนการทำงาน อันไหนทำที่บ้านได้ก็ทำ เอาเฉพาะคนที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้นที่จะมาที่ที่ทำงาน แบ่งทีมงานไว้สองทีมเผื่อสลับกันเวลาป่วย

สำหรับโรงพยาบาล เตรียมแผนงานไว้ยาวๆ เลยครับ เพราะยังไม่เห็นประเทศใดที่จะเปิดรับเช่นนี้แล้วจะรอดการระบาดไปได้ บุคลากรทางการแพทย์อาจต้องรีบเคลียร์งาน เคลียร์คนไข้ที่จำเป็นต้องผ่าตัดหรือต้องทำหัตถการใดๆ ภายใน 2-4 สัปดาห์ถัดจากนี้ ส่วนคนไข้ที่ต้องรับยาเป็นประจำ ปัจจุบันมีทางเลือกในการจัดส่งยาและปรึกษาออนไลน์ได้ดีพอสมควร

สุดท้ายแล้ว...หากมีการหลุดรอดของเชื้อไวรัสเข้ามาจริง ที่จะหวังได้มีเพียง"การ์ด"ของพวกเราทุกคนเท่านั้น

ไม่ว่าศึกนี้จะมาในลักษณะใด คงต้อสู้กับมัน

เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

รศ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
31 กรกฎาคม 2563
 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ