ข่าว

ยารักษา โควิด-19 ฟาวิพิราเวียร์ อภ. ผลิต จัดหา พัฒนา เพียงพอใช้ในระยะยาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหาเตรียมยารักษา โควิด-19 ทั้ง 7 รายการ ให้เพียงพอใช้ดูแลผู้ป่วยในระยะยาว ผลิตได้เอง 5 รายการ พร้อมวิจัยและพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คาดปี 64 พร้อมยื่นขึ้นทะเบียน

ที่ ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี (19 พฤษภาคม 2563) ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ได้วางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาที่จำเป็นสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ภายในประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว ซึ่งมียาที่ใช้ร่วมกัน 7 รายการ โดยองค์การเภสัชกรรมผลิตเอง 5 รายการ ประกอบด้วย 1. ยาคลอโรควิน รักษาโรคมาลาเรีย สำรองไว้ 1.8 ล้านเม็ด 2. ยาต้านไวรัสเอดส์สูตรผสม โลพินาเวียร์ และ ริโทรนาเวียร์ (Lopinavir / Ritonavir) สำรองไว้ 30.6 ล้านเม็ด 3. ยาต้านไวรัสเอดส์ ดารุนาเวียร์ (Darunavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 4. ยาต้านไวรัสเอดส์ ริโทรนาเวียร์ (Ritonavir) สำรองไว้ 1.9 ล้านเม็ด 5. ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) ยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อจากแบคทีเรีย สำรองไว้ 3.4 ล้านเม็ด

 

ส่วนยาอีก 2 รายการ คือ ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ได้จัดซื้อจากผู้ผลิตในประเทศแล้ว 1.09 ล้านเม็ด และ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งเป็นยาสำคัญตัวหนึ่งที่ใช้ในการรักษา อภ. และ กรมควบคุมโรค ได้มีการจัดซื้อแล้ว 187,000 เม็ด จาก 2 แหล่งผลิตหลัก คือ บริษัท FUJIFILM Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่นเจ้าของสิทธิบัตร และบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีน ซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตจากญี่ปุ่น โดยได้กระจายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ แล้วประมาณ 100,000 เม็ด ยังคงมียาสำรองในคลังของ อภ. ประมาณ 87,000 เม็ด และจะส่งมอบเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคมเพื่อสำรองไว้อีก 303,860 เม็ด (จากประเทศญี่ปุ่น 103,860 เม็ด ที่เลื่อนการส่งมอบมาจากในปลายเดือนเมษายน และส่งมอบจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 200,000 เม็ด) ซึ่งจะทำให้มียาฟาวิพิราเวียร์ใช้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว

 

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนายาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ ขยายขนาดการผลิต ศึกษาความคงสภาพและประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบต่อไป คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์  คาดจะแล้วเสร็จภายใน 3 - 6 เดือน และจะสามารถเริ่มผลิตวัตถุดิบในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ในเดือนมิถุนายน 2564 ทั้งนี้ ในส่วนของสิทธิบัตรยานั้น อภ. จะต้องมีการเจรจาทำ Voluntary Licensing กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้สามารถผลิตและจำหน่ายได้

“ขอเตือนว่ายาเหล่านี้เป็นยาที่ใช้เฉพาะโรค เป็นยาอันตราย การสั่งใช้ต้องเป็นไปตามการสั่งของแพทย์เท่านั้น ประชาชนห้ามซื้อมากินเองเด็ดขาด” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

 

อ่านข่าว - New Normal ยุค โควิด-19 หมอมนูญ แนะนำการดำเนินชีวิตแบบใหม่ไม่ติดเชื้อ (ชมคลิป)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ