
รวบหนุ่มนายท้ายเรือหลังแจ้งข้อมูลเท็จรับเงิน 5 พันแล้วโพสต์เสียดสีนายก
จากกรณี นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เดินทางไปศูนย์ปราบปรามอาชญกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้โพสต์ข้อความลงสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการเงินเยียวยาโควิด-1
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 12 เม.ย. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ บก.สส.บช.น. โดย พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น. และ พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบก.สส.บช. สืบหาบุคคลที่ใช้เฟซบุ๊คในชื่อ “สหายเบิร์น ในตำนาน” หลังโพสต์ข้อความและรูปภาพสลิปเงินโอนเข้า จำนวน 5,000 บาท ตามมาตรการเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน ลงในเพจ สีสัน การเมือง 2006 โดยเป็นข้อความหยาบคาย และกระทบต่อนายกรัฐมนตรี รัฐบาลและความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ต่อมา พ.ต.อ.ภิญโญ ป้อมสถิตย์ ผกก.5 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.เชิดศักดิ์ รอดเข็ม และ พ.ต.ท.เฉลิมพงษ์ ธรรมมียะ รอง ผกก.5 บก.สส.บช.น. ได้ร่วมกันสิบสวนจนทราบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ คือ นายเอกลักษณ์ วิเศษวงศา อายุ 35 ปี ชาว จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นนายท้ายเรือของบริษัทเดินเรือในพื้นที่ จ.ชลบุรี จึงประสานการปฏิบัติกับ พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก.ฯ ปฏิบัติราชการ ภ.2 เพื่อตรวจสอบจนทราบว่า นายเอกลักษณ์ เป็นผู้มีอาชีพและให้ข้อมูลเท็จเพื่อขอรับเงินเยียวยาหรือไม่จึงออกหมายเรียกเชิญตัวมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากการสอบสวน นายเอกลักษณ์ ได้ให้การว่า ทำงานในตำแหน่งนายท้ายเรือ ทำหน้าที่จัดการทั่วไปบนเรือ เช่น เคาะสนิม ดึงเชือก กุ๊กทำอาหาร และพักอาศัยอยู่บนเรือตลอด ซึ่งตนเองเป็นพนักงานเข้างานใหม่เดือนแรก เพิ่งเข้าทำงานได้ค่าจ้างเดือนละ 13,500 บาท และตนเองอยู่ระหว่างยื่นเอกสารทำประกันสังคม ก่อนหน้านั้นเคยทำงาน อยู่ที่ บริษัท ค้าน้ำมันประมง แห่งหนึ่ง ต่อมาได้ลาออกจากงาน จึงว่างงาน และต่อเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 เมื่อรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ลงทะเบียนเพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ตนเองจึงได้ทำการลงทะเบียนตามระบบในเวปไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อขอรับเงินเยียวยา เนื่องจากตนพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์โควิด19 เพราะช่วงนั้นตกงาน ไม่มีงานทำ และได้ตระเวนสมัครงานไปตามบริษัทฯต่างในจังหวัดระยอง แต่บริษัทฯ ต่างๆ ปิดทำการ จึงได้เดินทางเข้ามาที่ กรุงเทพมหานครและพักอยู่ที่บ้านพักคนเดินทางดินแดงของกรมแรงงาน ซึ่งได้จัดให้เป็นที่พักสำหรับคนตกงาน ในระหว่างนั้นก็ได้พยายามโทรศัพท์ไปสมัครงานหลายแห่ง แต่ส่วนมากจะปิดทำการหมด จึงได้พักอยู่ที่บ้านพักคนเดินทาง กระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 จึงได้งานใหม่ตอนนี้อยู่ระหว่างช่วงทดลองงาน
"ต่อมาตนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ผ่านทางบัญชีธนาคารไทยพานิชย์ และได้แคปเจอร์สลิปโอนเงินที่ได้จากรัฐบาล นำไปโพสต์ ในเฟซบุ๊คส่วนตัว ชื่อ สหายเบิร์น ในตำนาน ดังกล่าว พร้อมกับข้อความว่า “ไอ้ควายที่ไหนไม่รู้ โอนเงินมาให้ 5000 เพื่อด่าสลิ่ม…เห้อ สงสัยจะเป็นไอ้ควายประยุ….” ทั้งนี้พอคิดได้ เกรงความผิดจึงได้ลบโพสต์แล้วในวันเดียวกัน ก่อนที่จะเดินทางมาพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตนขอยอมรับผิดทุกประการ ที่ทำลงไปเนื่องจาก ประสบปัญหาตกงาน ไม่มีงานทำจึงเกิดความเครียด กราบขอโทษท่านนายกฯ และรัฐบาล ตอนนี้มีงานทำแล้ว จะแจ้งหน่วยงานภาครัฐ เรื่องตนเองว่ามีประกันสังคม และจะหมดสิทธิรับเงิน 5,000 บาท ถ้าหากว่าไม่ผิดเงื่อนไขคุณสมบัติก็จะขอรับสิทธิต่อไป โดยขอโทษสังคมและยอมรับในความผิดที่ตนได้กระทำลงไปทุกประการ" นายเอกลักษณ์ กล่าว อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะได้รวบรวมพยานหลักฐานและทำข้อมูลประวัติเอาไว้เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแจ้งผู้ที่ได้รับความเสียหายกับกรณีนี้ทราบ โดยเฉพาะทางกระทรวงการคลังซึ่งจะประสานกับศูนย์ปราบปรามอาชญกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.
ชุติเดช ม่วงใจรักษ์ ผู้สื่อข่าวคมชัดลึก กทม.