ข่าว

"บิ๊กตู่"เบ็ดเสร็จคุมศอฉ.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ออกคำสั่ง 16 ข้อกฏเหล็ก มอบผบ.ทสส.คุมมั่นคง ลั่นนำไทยฝ่าวิกฤติเอาชนะ "โควิด-19" ยันจัดการเด็ดขาดพวกฉวยโอกาส-บิดเบือนข้อมูล ด้านบิ๊กแดง-บิ๊กแป๊ะ"สั่งกำลังพลรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน "วิษณุ" ส่งสัญญาณเตรียม "เคอร์ฟิว" 24 ชม.แบบมีข้อยกเว้น

สถานการณ์ไวรัส โควิด-19 ที่ผู้ติดเชื้อมากขึ้นทุกวันทำให้รัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินและคำสั่งเป็นกฏเหล็กป้องกันการระบาดและหากยังลุกลามจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้น

 

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงผ่านรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสตอนหนึ่งว่า ในช่วงเวลาที่เลวร้ายและยากลำบากซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนไทยจึงต้องมีมาตรการเข้มข้นเพื่อหยุดการแพร่ระบาดรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยทั้งการป้องกัน การรักษา การเยียวยา และฟื้นฟูประเทศ โดยจะเป็นผู้นำของภารกิจและรายงานตรงกับประชาชน พร้อมกันนี้จะประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมสถานการณ์ตั้งแต่ 26 มีนาคม จนถึงวันที่ 30 เมษายน และยกระดับศูนย์บริหารโควิด-19 เป็นหน่วยงานพิเศษ

 

 

 

ทั้งนี้มีตนเป็นประธานและปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นหัวหน้าในการแก้ปัญหาด้านสาธาณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทยแก้ปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินในการสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯ กทม. ส่วนปลัดกระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาด้านการควบคุมสินค้า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศดูแลด้านการต่างประเทศ คุ้มครองช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ดูแลด้านความมั่นคง ปราบปรามอาชญากรรมของประเทศ การปฏิบัติงานทหารและตำรวจ และโอนอำนาจรัฐมนตรีบางส่วนมาที่นายกรัฐมนตรี

“ทั้งนี้จะปรับปรุงการสื่อสารถูกต้องชัดเจน ครบถ้วน แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ มาตรการ คำแนะนำ วันละ 1 ครั้ง เพื่อลดการบิดเบือนข้อมูล สำหรับผู้ใช้โซเชียลขอให้แชร์ข้อมูลที่ถูกต้องต่อต้านข่าวปลอมและขอเตือนผู้ที่จะใช้ประโยชน์อย่าคิดว่าจะหลุดพ้นไปได้จะใช้กฎหมายกับคนเหล่านี้ย่างเด็ดขาดและไม่ปรานี”

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า จะดึงคนเก่งจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงาน และต่อจากนี้ไปมาตรการต่างๆ ที่รัฐจะออกมาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจะมีความเข้มข้นขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ขอความร่วมมือและขอให้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม รวมทั้งปฏิบัติตามนโยบายป้องกันโรคระบาดนี้อย่างเคร่งครัด บางคนอาจจะรู้สึกเสียสิทธิเสรีภาพ แต่เป็นการทำเพื่อปกป้องชีวิตของท่านเอง พวกเราจะสามารถก้าวพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ไปได้ 

"ขณะเดียวกันช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาที่จะดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเราคนไทยทุกคนออกมา นั่นก็คือความกล้าหาญ ความรัก ที่มีต่อพี่น้องร่วมชาติ ความเสียสละที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงความเอื้ออาทรต่อกันและกัน สิ่งหนึ่งที่ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถทำร้ายได้ก็คือความดีงามในใจและความสามัคคีของคนไทยจะกลับมาเปล่งประกายไปทั่วผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีขอให้คำมั่นสัญญากับทุกคนว่าผมจะเดินหน้าสุดความสามารถเพื่อนำประเทศไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนชาวไทยทุกคน เป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด ผมขอให้ทุกคนเชื่อมั่นและร่วมมือกันฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน ประเทศไทยที่รักของเราทุกคนจะต้องกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง เราจะสู้ไปด้วยกัน และเราจะชนะไปด้วยกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

คำสั่งห้าม-พึงปฏิบัติกลุ่มเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีประกาศออกมาหลายฉบับ อาทิ ประกาศเรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จำนวน 40 พ.ร.บ. อาทิ พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ร.บ.แพทย์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และพ.ร.บ.ยุทธภัณฑ์ อาวุธ รวมทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าและบริการ เป็นต้น ขณะเดียวกันมีคำสัั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 แต่งตั้งคณะทำงาน ศอฉ. โดยข้อ 5 แต่งตั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการพลเรือน เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ข้อ 6 มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ นอกจากนี้มีคำสั่งที่ 5/2563 ให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นหน่วยงานพิเศษ (ศอฉ.) ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีนายกฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นกรรมการ

รวมทั้งออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 1)รวม 16 ข้อ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงขึ้น จึงมีข้อกำหนดดังนี้ 1.การห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยง 2.การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดต่อโรค 3.การปิดช่องทางเข้าในราชอาณาจักร 4.การห้ามกักตุนสินค้า 5.การห้ามชุมนุม 6.ห้ามเสนอข่าวอันไม่เป็นความจริง 7.มาตราเตรียมรับสถานการณ์ 8.มาตรการพึงปฏิบัติสำหรับบุคคลบางประเภท ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้ออยู่ในเคหสถาน อาทิ ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มมีโรคประจำตัว กลุ่มเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี และ 9.มาตรการออกนอกราชอาณาจักร 10.มาตรการดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพฯ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดเวรยามตั้งจุดตรวจตามถนนเส้นทางคมนาคม ป้องกันอุบัติเหตุ อาชญากรรม และรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุมเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และการกระทำฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน ในส่วนจังหวัดอื่นให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตามเหมาะสม 11.มาตรการป้องกันโรค 12.นโยบายเปิดสถานที่ทำการ อาทิ โรงพยาบาล ร้านขายยา ร้านอาหาร 13.ให้ประชาชนงดการเดินทางข้ามเขตจังหวัดโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนข้อ 1-6 ต้องรับโทษ โดยข้อกำหนดนี้ให้ใช้บังคับทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ 26 มีนาคมเป็นต้นไป

วิษณุแจงคำสั่งห้าทำ-ควรทำ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องใหม่และเรื่องแปลกที่ผ่านมาเป็นเหตุจากความไม่สงบแต่ครั้งนี้เป็นการต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงเป็นครั้งแรก ซึ่งจะมีผลวันที่ 26 มีนาคม-30 เมษายน แล้วจึงประเมินสถานการณ์ต่ออายุกฎหมายเป็นคราวไปครั้งละไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้คำสั่งฉบับแรกจึงมีเนื้อหาการโอนถ่ายอำนาจ 40 ฉบับเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ ส่วนคำสั่งฉบับที่ 2 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้รักษาสถานการณ์ด้านต่างๆ ซึ่งการไม่ตั้งรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบนั้น ในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน กำหนดให้ต้องมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบโดยแต่งตั้งจากข้าราชการประจำ ซึ่งมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ส่วนรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงยังคงต้องรับผิดชอบดูแลซึ่งเป็นในส่วนนโยบาย

ส่วนข้อกำหนดต่างๆ จะมีผลกระทบกับวิถีชีวิต มี 17 ข้อ กำหนดพฤติกรรมไว้ 3 ประเภท คือ “ห้ามทำ” จะเป็นการห้ามประชาชน เช่น ห้ามเข้าพื้นที่เขตกำหนด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวสาธารณะหรือศาสนสถาน รวมไปถึงห้ามเดินทางเข้าในราชอาณาจักร โดยยานพาหนะใดทุกจุดทุกด่าน ยกเว้นผู้มีสัญชาติไทย เพียงแต่ต้องมีเอกสารสำคัญใบรับรองทางการแพทย์และผู้ขนส่งสินค้าแต่เมื่อส่งสินเสร็จต้องออกไปโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการประกาศห้ามชุมนุม ต้องมีการเว้นระยะห่าง ห้ามเผยแพร่ข่าวเท็จ ทำให้เกิดการตื่นตระหนก ส่วน “ให้ทำ” ไม่ใช่เป็นบังคับประชาชน แต่เป็นการบังคับส่วนราชการ เช่นให้หน่วยงานเตรียมบุคลากร เตรียมยา โรงพยาบาลสนาม สถานที่ หรือเช่าโรงแรม พักรักษาหรือกักกันผู้ป่วย รวมไปถึงการใช้อาคารเอกชนเป็นโรงพยาบาลสนาม ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมการไปแล้วบางส่วน

แย้มเคอร์ฟิว24ชม.แบบมียกเว้น

นอกจากนี้ “ควรทำ” ซึ่งเป็นคำแนะนำ ไม่ได้ถึงขั้นบังคับประชาชน แต่ในคำสั่งเป็นคำว่า “ควร” แต่คำสั่งที่ 2 และ 3 จะเป็นการยกระดับเป็นคำสั่งทันที เช่น ประชาชนควรอยู่บ้าน ซึ่งยังมีการแนะนำบุคคล 3 กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากอยู่บ้านหรือเว้นแต่ทำธุรกรรมด้านนอกที่จำเป็น ประกอบด้วย บุคคลสูงอายุเกินกว่า 70 ปีขึ้นไป และบุคคลมีโรคประจำตัวบางอย่างตามระบุ เช่น โรคเบาหวานความดัน ทางเดินหายใจ โรคปอด และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี แต่ควรเพิ่มอีกชนิดคือการเดินทางไปต่างจังหวัดที่พบว่ามาตรการนี้มีการใช้ในหลายประเทศ แต่เรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเป็นมาตรการควรตามประกาศฉบับที่ 1 แม้จะสามารถเดินทางได้ แต่เป็นกรณีที่มีมาตรการเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความยากลำบากในการเดินทาง โดยฝ่ายความมั่นคงจะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร หรือ กอ.รมน. อาสาสมัคร ตั้งจุดสกัด หรือด่าน โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างจังหวัด

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยืนยันว่าคำสั่งที่ 2 และ 3 จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์ พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่ปิดประเทศเนื่องจากเปิดให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศได้ รวมไปถึงขณะนี้ยังไม่ปิดเมืองสามารถเดินข้ามเขตจังหวัดได้แต่มีความยุ่งยากลำบากในการเดินทางเนื่องจากไม่สนับสนุนให้เดินทางและยังไม่มีการประกาศปิดบ้านเป็นเพียงกึ่งเท่านั้น ข้าราชการ พนักงานสามารถทำงานได้ตามปกติ

“ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว จัดอยู่ในประเภทมาตรการควรทำ ยังไม่ได้ห้าม เป็นคำเตือนระดับที่ 1 แต่ถ้าจะไปถึงขั้นห้ามก็จะมีการเตือนโดยไม่ออกข้อกำหนดล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก ไม่ให้กักตุน ซื้อของเป็นที่โกลาหล หากมีการประกาศเคอร์ฟิว การประกาศจะไม่เหมือนสิ่งที่เราเคยเจอ คือที่ผ่านมาเคอร์ฟิวจะประกาศห้ามออกกลางคืน เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาความมั่นคง แต่โควิด เชื้อไม่ได้ออกตอนเที่ยงคืนหรือจ้องจะออกตอนไหน เชื้อโรคออก 24 ชั่วโมง ดังนั้นหากจะมีประกาศจะเคอร์ฟิวตลอด 24 ชั่วโมงแบบมีข้อยกเว้น แต่เชื้อก็ไม่ได้ออกมาง่ายขนาดนั้น ถ้ามีเคอร์ฟิวต้อง 24 ชั่วโมง แต่มีข้อยกเว้นเป็นอันมาก เช่น ไปซื้อของ ไปหาหมอ ไปธนาคาร ไปส่งสินค้ารับสินค้าได้ ไปศาลได้ วิทยุ โทรทัศน์ ต้องออกข่าวได้ ซึ่งข้อยกเว้นในประกาศฉบับที่ 1 จะถูกนำมาใช้ในการประกาศครั้งต่อไป” นายวิษณุกล่าว

 

 

 

 

ผบ.ทสส.เข้ม3ขั้นตอนผู้ฝ่าฝืน

มีรายงานข่าวเปิดเผยว่า ภายหลัง พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทสส.ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงการปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ โดยได้จัดทำแผนไว้ 3 ขั้นตอน ในการดูแลความเรียบร้อย ประกอบด้วยขั้นที่ 1.การจัดตั้งจุดตรวจ, จุดให้คำแนะนำกับผู้ที่สัญจร อย่างน้อยจังหวัดละ 2 จุด ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของจังหวัดนั้นๆ โดยให้ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขประสานงานกันบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะ ผอ.รมน. ระดับจังหวัด ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดว่าจะตั้งในช่วงเวลาใดและจุดไหน เพื่อให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพ และข้อปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายต่อไป

ขั้นที่ 2 หากเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจได้ให้คำแนะนำและพูดถึงมาตรการในการป้องกันดูแลตนเองแล้ว แต่ประชาชนไม่เชื่อฟังคำสั่ง คำประกาศ อาจจะต้องใช้กำลังเพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยการใช้เจ้าหน้าที่สารวัตรทหาร เข้ามารวมในจุดตรวจเพิ่มเติม ทั้งนี้ขั้นที่ 3 การใช้กำลังทหารเข้ามาเต็มรูปแบบ คาดว่าเหตุการณ์ไม่น่าไปถึงจุดนั้น

บิ๊กแดงสั่งกำลังพลรองรับพ.ร.ก.

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถนนราชดำเนิน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มีคำสั่งการถึงกำลังพลกองทัพบกว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในส่วนของกองทัพบกมีหน้าที่ในการเตรียมกำลังพลและบุคลากรทางการแพทย์และยุทโธปกรณ์สนับสนุนรัฐบาลและศอฉ. ดังนั้นขอสั่งการให้ปฏิบัติตามคำสั่ง 1.กำลังพลที่พักอาศัยในบ้านพักราชการให้หลีกเลี่ยงการออกนอกบริเวณโดยไม่จำเป็น ห้ามนำบุคคลภายนอกเข้ามาพักอาศัยโดยเด็ดขาด ห้ามกลับเข้าบ้านพักเกินเวลา 21.00 น. 2.การเดินทางออกนอกพื้นที่กทม.ให้กระทำได้ในเฉพาะกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง 3.ให้ผู้บังคับหน่วยหน่วยปรับปรุงอาคารสถานที่ลดความแออัดและเพื่อกักบริเวณในการระวังผู้ที่กลับจากการลาพัก 4.ให้รักษาวินัยเคร่งครัด เช่น การอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร 5.งดการปล่อยลาพักของทหารกองประจำการ 6.ให้ทุกหน่วยจำกัดทางเข้า-ออกคัดกรองเฝ้าระวังบุคคลเข้าหน่วย 7.หากไม่กำกับการปฏิบัติหรือได้รับการรายงานถือว่าขัดคำสั่ง จะมีผลในการปรับย้ายทันที

ตร.เผยปชช.70%ร่วมมือดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ประชุมร่วมกับผู้บังคับบัญชาของทุกกองบัญชาการทั่วประเทศเพื่อรองรับกรณีรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยยืนยันตำรวจมีความพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ โดยตำรวจจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนตามแผนป้องกันเชื้อไวรัส มีหน้าที่หลักคือการตั้งจุดตรวจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทยในการคัดกรองการเดินทางของกลุ่มบุคคล

ผบ.ตร.ยอมรับว่าเตรียมชุดเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินหลังสื่อสังคมออนไลน์เผยภาพชุดเฉพาะกิจตำรวจนครบาล 191 ซักซ้อมจับผู้มีเชื้อโควิด-19 แต่การนำมาใช้หรือไม่ยังเป็นแค่แนวคิด ส่วนมาตรการเคอร์ฟิวห้ามเดินทางออกนอกเคหสถานเป็นหนึ่งในพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นนั้น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนอยู่บ้าน ไม่เคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค และเบื้องต้นพบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 70 มีวินัยและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะยังต้องเข้าไปทำความเข้าใจเพิ่มเติม

พณ.ส่งรถพุ่มพวงถึงบ้านพัก

วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.พาณิชย์ ได้ตรวจความพร้อมสินค้าในรถคาราวานธงฟ้าหรือรถพุ่มพวงเพื่อให้บริการประชาชนที่อาศัยอยู่บ้านพัก

โดยนำสินค้าราคาประหยัด 7 รายการด้วยกันเบื้องต้น คือ ข้าวสาร ไข่เป็ด ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และเจลล้างมือ ในราคาประหยัดขายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปให้บริการถึงหมู่บ้านและชุมชนด้วยรถพุ่มพวง 200 คัน อย่างไรก็ตามทราบว่าผู้ประกอบการหลายบริษัทที่ให้บริการแบบเดลิเวอรี่ได้เพิ่มกำลังคนในการให้บริการแล้วถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ