ข่าว

เชื้อร้ายลามสายการบินไฟลท์อุบลฯ-ดอนเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรคประกาศจุดเสี่ยง แพร่เชื้อโควิดเพิ่มรวม 42 แห่ง ลามถึงเครื่องบินไฟลท์อุบลฯ-ดอนเมือง ที่ภูเก็ตวัยรุ่นจัดปาร์ตี้เย้ย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังลุกลามอย่างต่อเนื่องหลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกหลายจังหวัด และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนสถานที่เสี่ยงแพร่เชื้อให้เฝ้าระวังที่น่าเป็นห่วงคือมีผู้ติดเชื้อโดยสารไปกับระบบขนส่งมวลชนทั้งรถตู้และรถทัวร์ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

  อ่านข่าว : ผู้โดยสาร TG923 ติดต่อ จนท.ด่วน หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19

 

 

ล่าสุดวันที่ 25 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่สถานที่ที่มีการประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอาการตนเองเพิ่มเติมโดยมีการระบุสถานที่อย่างละเอียดเพื่อให้ผู้ที่ได้เดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ เฝ้าระวังตนเอง โดยกักตนเอง 14 วัน และหากมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ให้รีบแจ้งต่องานควบคุมโรค หรือสาธารณสุขจังหวัดทันที ซึ่งพบว่า ข้อมูลดังกล่าวมีการอัพเดทอย่างต่อเนื่องและข้อมูลที่เปิดเผยวันนี้เป็นการสรุปจากการสอบสวนโรคของวันที่ 24 มีนาคม

ทั้งนี้พบว่ามีรายงานสถานที่เสี่ยงเพิ่มเติมอีก 15 แห่ง หลังจากที่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม กรมควบคุมโรคมีการแจ้งเตือนไปแล้ว 27 แห่ง รวมขณะนี้มีสถานที่เสี่ยง 42 แห่ง โดยเฉพาะผู้โดยสารรถประจำทางที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงวันหยุดที่ผ่านมา และมีการระบุว่าให้ไปรายงานตัวต่อสาธารณสุขจังหวัดโดยด่วน ซึ่งมีหลายเส้นทางด้วยกัน อาทิ กรุงเทพฯ-เชียงแสน กรุงเทพฯ-อุบลฯ รวมทั้งขนส่งระหว่างจังหวัดตลอดจนการเดินทางด้วยเครื่องบิน

สำหรับสถานที่เสี่ยงเพิ่มเติม 15 แห่ง ประกอบด้วย

1.จ.แพร่ สถานที่สนามชนไก่ทุ่งกวาว อ.เมืองแพร่ วันที่ 9-12 มีนาคม

2.จ.แพร่ สถานที่สนามชนไก่ปากกาง อ.ลอง วันที่ 9-12 มีนาคม

3.จ.แพร่ สถานที่สนามชนไก่ ต.เวียงทอง อ.สูงเม่น วันที่ 9-12 มีนาคม

4.กรุงเทพฯ สถานที่รถเมล์สาย 96 (มีนบุรี-หมอชิต 2) วันที่ 13 มีนาคม

5.เชียงราย สถานที่รถสมบัติทัวร์ กรุงเทพฯ-เชียงแสน ปรับอากาศวีไอพี 24 ที่นั่ง เลข 3-1 ทะเบียน 16-3473 กรุงเทพมหานคร วันที่ 21-22 มีนาคม เวลา 19.15-08.00 น.

6.จ.อุบลราชธานี สถานที่ผู้โดยสารเครื่องนกแอร์ DD9325 อุบลฯ-ดอนเมือง วันที่ 15 มีนาคม (เริ่มป่วย 16-29 มีนาคม) เวลา 17.33 น.
7.จ.อุบลราชธานี สถานที่ผู้โดยสารนครชัยแอร์ กรุงเทพฯ-อุบลฯ วันที่ 16 มีนาคม (เริ่มป่วยวันที่ 17-30 มีนาคม) เวลา 22.00 น.

8.จ.อุบลราชธานี สถานที่ผู้โดยสารแท็กซี่ บริษัท บริการดี อุบล จำกัด ทะเบียน ทข 486 วันที่ 19 มีนาคม (เริ่มป่วย 20 มีนาคม-3 เมษายน)

 9.จ.นครราชสีมา สถานที่ธนาคารกรุงไทย สาขาแยกปัก วันที่ 10-12 มีนาคม เวลา 07.00-17.00 น.

10.จ.นครราชสีมา สถานที่ บขส.ใหม่ รถประจำทาง บริษัท เฉลิมพล ขนส่งปลายทาง อ.ประทาย วันที่ 13 มีนาคม เวลา 07.00-17.00 น.

11.จ.นครราชสีมา สถานที่ บขส.ใหม่ รถประจำทาง บริษัท เฉลิมพล ขนส่งปลายทาง อ.ประทาย วันที่ 15 มีนาคม เวลา 18.30-20.00 น.

12.จ.นครราชสีมา สถานที่ธนาคารกรุงไทย สาขาแยกปัก วันที่ 16-19 มีนาคม เวลา 07.00-17.00 น.

13.จ.ขอนแก่น บ้านหนองหัวช้าง ต.โคกสำราญ อ.บ้านแฮด วันที่ 14 มีนาคม 14.จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่รถตู้ทะเบียน 15-6842 กรุงเทพมหานคร เลขข้างรถ 978-22 ท่ารถ JKP ชานชาลาที่ 1 สายใต้ใหม่-ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 16 มีนาคม เวลา 14.15 น. และ

15.จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่รถมินิบัส ทะเบียน 16-2418 กรุงเทพมหานคร เลขข้างรถ 985-20 กรุงเทพฯ-ปราณบุรี ท่ารถจักรพันธ์ทัวร์ ชานชาลาที่ 7 ออกจากหมอชิต วันที่ 12 มีนาคม เวลา 14.00 น.

วันเดียวกัน ที่ จ.อุทัยธานี เมื่อเวลา 10.00 น. นายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าฯอุทัยธานี ร่วมกับ นพ.ปรารถนา ประสงค์ดี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี นพ.สุชิน คันศร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทัพทัน และนายสุรชัย โชคครรชิตไชย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานี แถลงข่าวหลังได้รับรายงานจากโรงพยาบาลทัพทัน ว่าพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นเพศหญิง อายุ 36 ปี ซึ่งถือเป็นรายแรกของจังหวัด โดยกลับมาเยี่ยมบ้านเดินทางมาจาก จ.สมุทรปราการ เนื่องจากที่ทำงานปิดให้บริการ ซึ่งผู้ป่วยเป็นพนักงานที่ร้านอาหารในเขตคลองเตย กทม. เดินทางกลับมาวันที่ 20 มีนาคม มีอาการป่วยในวันที่ 23 มีนาคม ส่วนผู้สัมผัสผู้ป่วยจำนวน 9 ราย ติดตามได้ครบถ้วนในขณะนี้ยังไม่พบว่ามีอาการ

ขณะที่ จ.พิษณุโลก เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นรายแรก โดยนายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าฯ พิษณุโลก พร้อม นพ.ปิยะ ศิริลักษณ์ สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก นพ.สุชาติ พรเจริญพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช แถลงข่าวพบผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 43 ปี เดินทางไปกรุงเทพฯ วันที่ 7-9 มีนาคม สอบสวนประวัติพบว่า คืนวันที่ 7 มีนาคม ไปเที่ยวผับในซอยนานาตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. วันที่ 8 มีนาคม ไปท้องฟ้าจำลอง วันที่ 9 มีนาคม เดินทางกลับ จ.พิษณุโลก ด้วยการโดยสารเครื่องบิน วันที่ 11 มีนาคมเดินทางไป จ.น่าน โดยรถยนต์ส่วนตัว และเริ่มมีอาการไข้วันที่ 12 มีนาคม เดินทางกลับ จ.พิษณุโลก โดยรถยนต์ส่วนตัว วันที่ 13-17 มีนาคม เทรนการออกกำลังกายให้ลูกค้าในฟิตเนส (กลุ่มลูกค้าเฉพาะ 2-3 คน) 

จากนั้นวันที่ 16 มีนาคม ไปตรวจที่โรงพยาบาลพิษณุเวช ด้วยอาการไข้ 37.8 องศาเซลเซียส และหายใจไม่เต็มปอด วันที่ 18 มีนาคม เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนด้วยอาการไข้ 38.9 องศาเซลเซียส ไอและหายใจไม่เต็มปอด วันที่ 20 มีนาคม แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ ซึ่งผู้ป่วยขอตรวจโควิด วันที่ 24 มีนาคม ทราบผลการตรวจเป็นบวกจึงเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธชินราช ขณะนี้ผู้ป่วยได้เข้าพักรักษาตัวในห้องแยกที่โรงพยาบาลพุทธชินราชจัดเตรียมไว้ โดยการดูแลของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด้วยชุดอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล ปัจจุบันผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงและได้รับยาต้านไวรัสตามมาตรฐานการรักษา

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จังหวัดภูเก็ตมีการแชร์วิดีโอคลิปขณะที่พลเมืองดีพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตักเตือนกลุ่มวัยรุ่นที่จับกลุ่มนั่งปาร์ตี้กันริมถนนเส้นหลังปลายแหลมสะพานหิน ต.ตลาดใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต เมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยในคลิปดังกล่าวเป็นภาพขณะที่พลเมืองดีพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ต เข้าไปตักเตือนห้ามไม่ให้มีการนั่งรวมตัวกัน แต่กลุ่มวัยรุ่นได้โต้เถียงว่าแค่นั่งกินข้าวธรรมดาในวันเกิดเพื่อนและไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งพลเมืองดีพยายามเดินสำรวจพบว่ามีขวดเหล้า โซดา จำนวนมาก ก่อนจะแจ้งว่าถึงแม้จะยังไม่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ก็มีประกาศของจังหวัดเกี่ยวกับการขอความร่วมมืองดรวมตัวกันในที่สาธารณะ และเกิดการโต้เถียงกันพักใหญ่แต่สุดท้ายกลุ่มวัยรุ่นก็ยอมเก็บข้าวของและเดินทางกลับ อย่างไรก็ตามในโซเชียลมีเดียได้แชร์ต่อและมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม ไม่รับผิดชอบสังคมเป็นจำนวนมากและเรียกร้องให้ทุกคนงดรวมตัว เก็บตัวเองอยู่ในบ้านจะดีที่สุด

ขณะเดียวกันปมร้อนเรื่องกักตุนหน้ากากอนามัยในสถานการณ์วิกฤติยังไม่มีข้อยุติ ล่าสุดเวลา 09.30 น. วันที่ 25 มีนาคม ที่รัฐสภา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีวาระการพิจารณาเรื่องการส่งอออกนำเข้าและการกักตุนหน้ากากอนามัย โดยนายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากรและโฆษกกรมศุลกากรได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมาธิการได้สอบถามถึงภาพรวมของการส่งออกและการนำเข้าหน้ากากอนามัยใช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมว่ามีจำนวนเท่าใด โดยนายชัยยุทธ ชี้แจงว่าการส่งออกในเดือนมกราคมมีจำนวน 158 ตัน เดือนกุมภาพันธ์ 187 ตัน ซึ่งจากสถิติการส่งออกจะเป็นตัวเลขที่มาจากผู้ส่งออกยื่นพิกัดสินค้าที่ไม่ใช่หน้ากากอนามัยให้ไปอยู่ในหมวดหน้ากากอนามัย ซึ่งการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงก่อนควบคุมตั้งแต่วันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ มีการส่งออกจำนวน 135 ตัน หรือประมาณ 72% ของการส่งออก ช่วงที่สองซึ่งเป็นช่วงควบคุมการส่งออกตั้งแต่วันที่ 5-20 กุมภาพันธ์ ส่งออกจำนวน 12.7 ตัน ส่วนช่วงที่สามตั้งแต่ 21-29 กุมภาพันธ์ ส่งออกจำนวน 38 ตัน

นายชัยยุทธ บอกอีกว่า การส่งออกและการสำแดงสินค้าไม่ทราบว่ามีมากน้อยแค่ไหน และไม่สามารถถ่ายรูปรายละเอียดสินค้าได้ทั้งหมด เนื่องจากศุลกากรดูจากใบอนุญาต ตัวเลขและมูลค่าที่คลาดเคลื่อนนั้นอาจมาจากการที่บริษัทส่งออกสำแดงสินค้าไม่ใช่หน้ากากอนามัย แต่เอาไปรวมอยู่ในหน้ากากอนามัย และหลังจากวันที่ 4 กุมภาพันธ์ กรมศุลกากรได้เข้มงวดการส่งออก แต่อาจมีผู้ส่งออกบางรายมีพฤติกรรมไม่สุจริตด้วยการสำแดงชื่อสินค้าเป็นอย่างอื่นซึ่งไม่สามารถตรวจสอบตู้ส่งออกได้ทุกตู้ เพราะการส่งออกแต่ละปีมากกว่า 3 ล้านใบขนสินค้า และตู้คอนเทนเนอร์มีมากกว่าพันตู้ต่อวัน จึงไม่สามารถสกรีนได้ทุกตู้ เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออก แต่ใช้วิธีการตรวจสอบแบบการกำหนดความเสี่ยง

จากนั้นตัวแทนของสำนักงานการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นำโดยนายเทพสุ บวรโชติดารา ผู้อำนวยการกองข่าวกรองทางการเงิน และนายวรเศรษฐ์ สุรพนานนท์ชัย ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข่าวกรองทางการเงินได้เข้ามาชี้แจง โดยชี้แจงในภาพรวมของการตรวจสอบเส้นทางการเงินว่าหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม ถ้าเกิดการกักตุนสินค้าและส่งออกไปขายนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องจะเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่และส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างไรก็ตาม แม้ส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.แล้วและยังไม่มีตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แต่คณะกรรมการธุรกรรมทางการเงินของปปง.ก็ยังสามารถเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกได้ ส่วนเรื่องการส่งออกนั้นอาจเป็นความผิดมูลฐานในเรื่องการหนีศุลกากร กรมศุลกากรสามารถส่งเรื่องมาให้ ปปง. ตรวจสอบได้

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยว่า ได้เชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เลขาธิการแพทยสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนองค์การเภสัชกรรมผู้แทนเลขาธิการสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรมการค้าภายใน กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต มาร่วมประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์และเจลขาดแคลน รวมถึงการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ขายสินค้าเกินราคาและกักตุนหน้ากากอนามัย

นายสมชาย กล่าวว่า ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีประเด็นและข้อเท็จจริงที่ได้รับทราบ ประกอบด้วย 1.ประเด็นขาดแคลนหน้ากากอนามัย 2.สาเหตุของการขาดแคลน 3.การขายสินค้าหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์เกินราคา และ 4.ปัญหาการขาดแคลนแอลกอฮอลล์ในโรงพยาบาลและเพื่อผลิตเจลมีราคาสูง

 นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญตำรวจต้องเร่งติดตามความคืบหน้าในคดีนายบอย ที่โปรโมทขายหน้ากาก 200 ล้านชิ้น ภายหลังพบว่ามีความเกี่ยวโยงกับแกนนำพรรคการเมืองหนึ่ง และตรวจค้นจับหน้ากากอนามัยจำนวน 75,000 ชิ้น แต่คดีไม่คืบหน้าและยังไม่มีการลงโทษในคดีอาญา ในทางกลับกันมาจับแม่ค้ารายย่อยตามท้องถนน ศาลได้ตัดสินจำคุกจำเลยแบบรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านอาจไม่เชื่อใจในกระบวนการยุติธรรมได้ ดังนั้นต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ