ข่าว

เฝ้าระวัง27จุดเสี่ยงกระจายเชื้อไวรัส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรมควบคุมโรคอัพเดท 27 จุดเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด ผงะรถตู้ระยอง-หมอชิต-โรงเกลือ แนะพบหมอ เฝ้าระวังกักตัว 14 วัน ขณะที่หนุ่มพนง.ผับทองหล่อติดไวรัสนั่งสมบัติทัวร์กลับเชียงราย 40 ผู้โดยสารเสี่ยงด้วย

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพบผู้ป่วยแล้วหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศได้เร่งระดมออกมาตรการควบคุมเพื่อหยุดการแพร่ระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะการให้อยู่บ้าน งดการเดินทางออกต่างจังหวัดหรือกลับภูมิลำเนา

 

 

 

          ล่าสุดวันที่ 24 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่สถานที่ที่มีการประกาศให้ผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอาการตนเอง ลงวันที่ 24 มีนาคม 2563 โดยมีการระบุสถานที่ที่อย่างละเอียดเพื่อให้ผู้ที่ได้เดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ เฝ้าระวังตนเอง กักตัวเป็นเวลา 14 วัน และหากมีอาการ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ให้รีบแจ้งต่องานควบคุมโรค หรือสาธารณสุขจังหวัดทันที โดยพบว่าข้อมูลดังกล่าวมีการอัพเดทอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับวันที่ 24 มีนาคม มีการเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงสถานที่ วัน และเวลาที่มีความเสี่ยงในการแพร่หรือรับเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 27 จุด ดังนี้ 1.จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ ตะวันแดง วันที่ 9 มีนาคม 2.จังหวัดอุบลราชธานี    สถานที่ มิกซ์ผับ วันที่ 9 มีนาคม 3.จังหวัดอุบลราชธานี    สถานที่ ริคโก้ วันที่ 12 มีนาคม 4.จังหวัดอุบลราชธานี    สถานที่ ยูบาร์ วันที่ 13-14 มีนาคม 5.จังหวัดอุบลราชธานี    สถานที่ ร้านอาหารชมจันทร์ วันที่ 14 มีนาคม 6.จังหวัดอุบลราชธานี    สถานที่ โรงเหล้ามิตรภาพ วันที่ 7 มีนาคม เวลา 00.00-03.00 น. 7.จังหวัดขอนแก่น สถานที่ ตะวันแดงขอนแก่น วันที่ 8 มีนาคม เวลา 00.00-02.30 น. 8.จังหวัดขอนแก่น สถานที่ ซอดแจ้งหมูกระทะชิวชิว วันที่ 12 มีนาคม เวลา 21.00 น. 9.จังหวัดขอนแก่น สถานที่ ตะวันแดงขอนแก่น วันที่ 15 มีนาคม เวลา 00.59 น. 10.จังหวัดขอนแก่น สถานที่ ตลาดหนองไผ่ล้อม วันที่ 16 มีนาคม เวลา 17.00 น.

          11.จังหวัดขอนแก่น สถานที่ ตะวันแดงขอนแก่น วันที่ 16 มีนาคม เวลา 02.00 น. 12.กรุงเทพฯ สถานที่ สนามมวยลุมพินี วันที่ 6-8 มีนาคม 13.กรุงเทพฯ สถานที่สนามมวยราชดำเนิน วันที่ 6-8 มีนาคม 14.กรุงเทพฯ สถานที่สถานบันเทิง/ ร้านอาหารยามค่ำคืน วันที่ 9-10 มีนาคม 15.จังหวัดสงขลา สถานที่รถมินิบัสหมายเลข 4 สนามบิน-ตัวเมืองหาดใหญ่ วันที่ 13 มีนาคม เวลา 10.00 น. 16.จังหวัดสงขลา สถานที่ สนามกีฬาจิระนคร อ.หาดใหญ่ วันที่ 14-15 มีนาคม 17.จังหวัดนครราชสีมา สถานที่สนามไก่ชน อ.โนนไทย วันที่ 7 มีนาคม 18.จังหวัดนครราชสีมา สถานที่มวยตู้ ต.กุดจิก อ.สูงเนิน    วันที่ 8 มีนาคม 19.จังหวัดนนทบุรี สถานที่สนามมวย อ.ต.ก.3    วันที่ 8 มีนาคม 20.จังหวัดนนทบุรี สถานที่รถเมล์ ปอ. สาย 70 ประชาชื่น–สนามมวยลุมพินี และราชดำเนิน วันที่ 8-14 มีนาคม

21.จังหวัดนนทบุรี สถานที่รถตู้เดอะมอลล์–ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต (คนขับรถคันที่ 53) วันที่ 8-20 มีนาคม 22.จังหวัดนนทบุรี สถานที่การสอบนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ เขตใต้ ปี 4 วันที่ 13 มีนาคม 23.จังหวัดนนทบุรี สถานที่งานบวช วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เขตดุสิต กทม. วันที่ 14 มีนาคม 24.จังหวัดสุรินทร์ สถานที่ตลาดช่องจอม อ.กาบเชิง วันที่ 15 มีนาคม 25.จังหวัดสุรินทร์ สถานที่งานศพ หมู่ 3 ต.ลำดวน อ.ลำดวน วันที่ 16 มีนาคม 26.จังหวัดระยอง สถานที่รถตู้บีเอช หมายเลข 9 ระยอง-หมอชิต (ผู้โดยสาร) วันที่ 17 มีนาคม เวลา 12.00 น. วันที่ 18 มีนาคม เวลา 14.00 น. และวันที่ 19 มีนาคม เวลา 10.30 น. 27.จังหวัดระยอง สถานที่รถตู้ ทะเบียน 10-107-99 ระยอง-โรงเกลือ วันที่ 11-13 มีนาคม เวลา 09.00 น. โดยเฉพาะที่จังหวัดระยองซึ่งมีการโดยสารรถตู้ถึง 6 วัน ทั้งจากระยอง-หมอชิต และระยอง-โรงเกลือ ควรกักตัวเอง หรือรายงานตัวเพื่อเฝ้าระวัง

           วันเดียวกันที่จังหวัดเชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าฯ เชียงราย พร้อม นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย และนายไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดต่อไวรัสโควิด-19 พื้นที่ โดยล่าสุดขณะนี้เชียงรายมีผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคแล้ว 94 ราย ป่วยติดเชื้อเพิ่มเป็น 3 ราย ผู้ป่วยรายแรกเป็นชายอายุ 35 ปีชาว อ.เทิง ที่เดินทางกลับจากปอยเปต ประเทศกัมพูชา และย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ รายที่ 2 พบเป็นหญิงอายุ 58 ปี ซึ่งเป็นแม่ยายของผู้ป่วยรายแรก ส่วนผู้ป่วยเชื้อโควิด-19 รายล่าสุดเป็นชายอายุ 33 ปี ชาว อ.แม่จัน

          นพ.ทศเทพ กล่าวว่า กรณีผู้ป่วยรายแรกนั้นเข้ามาเชียงรายวันที่ 7 มีนาคม และไปตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองวันที่ 16 มีนาคม ทราบผลวันที่ 20 มีนาคม จากนั้นมีการสืบสวนหาผู้ใกล้ชิดพบมีจำนวน 10 คน ล่าสุดพบว่ากลุ่มเสี่ยง 9 คนนั้นไม่พบเชื้อ แต่ก็มาพบในรายที่เป็นแม่ยายวัย 58 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 2 ปัจจุบันทั้งคู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ยังสืบสวนไปถึงผู้ใกล้ชิดกับแม่ยายวัย 58 ปีดังกล่าวพบมีผู้ที่มีความเสี่ยงใกล้ชิดจำนวน 14 รายโดยเฉพาะเมื่อไปร่วมงานขึ้นบ้านใหม่วันที่ 19 มีนาคม ปัจจุบันจึงให้ทั้ง 14 รายกักตัวดูอาการเป็นเวลา 14 วัน หรือจนถึงวันที่ 3 เมษายน ซึ่งถือว่ากรณีของ 2 รายแรกได้ดำเนินการกลุ่มเสี่ยงแล้วเสร็จแล้ว

          ส่วนกรณีผู้ป่วยยืนยันรายที่ 3 ชาว อ.แม่จัน ทำงานที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ กรุงเทพฯ เดินทางมาถึงเชียงราย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม เมื่อมาถึงก็ป่วยมีไข้จึงไปพบแพทย์ทันที จากนั้นวันที่ 22 มีนาคม พบว่าติดเชื้อแล้ว ปัจจุบันส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และเนื่องจากผู้ป่วยรายนี้เดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยรถโดยสารสมบัติทัวร์ กรุงเทพฯ-เชียงแสน ปรับอากาศวีไอพี 24 ที่นั่ง เลข 3-1 ทะเบียน 16-3473 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม โดยออกจากสถานีขนส่งหมอชิตเวลาประมาณ 19.15 น. ปลายทาง อ.เชียงแสน ถึงที่หมายเวลาประมาณ 08.00 น. วันที่ 22 มีนาคม ฉะนั้นจึงขอให้ผู้โดยสาร พนักงานขับรถ ตลอดจนพนักงานประจำรถเที่ยวดังกล่าว รวมกว่า 40 คน ไปรายงานตัวด่วนที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ใกล้บ้าน เพราะถือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงด้วย

          ด้าน นพ.ไชยเวช กล่าวว่า อาการของผู้ป่วยรายที่ 1-2 พบว่าไม่มีไข้และไอแต่อย่างใด ซึ่งก็จะรักษตามอาการตามมาตรฐานเป็นเวลา 2-7 วัน หากไม่มีไข้เกิน 48 ชั่วโมง หายใจไม่เกิน 20 ครั้งต่อนาที ออกซิเจนในเลือดเกิน 94% ในอากาศปกติ ก็จะพิจารณาให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อ 14 วัน และให้ใส่หน้ากากอนามัยต่อไปอีก 1 เดือน ส่วนกรณีผู้ป่วยรายล่าสุดที่ อ.แม่จัน มีไข้และปอดอักเสพทั้ง 2 ข้าง แต่หลังเข้ารับการรักษาเมื่อเที่ยงคืนกว่าที่ผ่านมาพบว่าอาการหายใจดีขึ้นแล้ว 

 

 

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้หน้ากากอนามัยขาดตลาดและขายเกิดราคา ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วหลายราย ซึ่งทางศาลก็ตัดสินโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างเพราะเป็นการซ้ำเติมคนที่กำลังเดือดร้อน แต่ก็ยังมีผู้ลักลอบกักตุนและขายเกินราคา ล่าสุดเมื่อเวลา 00.30 น.วันที่ 24 มีนาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 5 และเจ้าหน้าที่ตำรวจเชียงใหม่ พร้อมนายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมกันวางแผนล่อซื้อจับกุมนายทวิชย์ วงษ์ประเสริฐ อายุ 47 ปี ชาว ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พร้อมของกลาง หน้ากากอนามัยยี่ห้อ laksaa MASK กล่องสีสมพู จำนวน 40,000 ชิ้น เงินล่อซื้อจำนวน 285,000 บาท นำตัวดำเนินคดีข้อหา “จำหน่ายสินค้าสูงกว่าราคาที่คณะกรรมกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการกำหนดและจำหน่ายหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นสินค้าควบคุมในราคาสูงเกินสมควร ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ม.25(1), ม.29, ม.37 และ ม.41”

          ต่อมาเจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนขยายผลก่อนลงพื้นที่ตรวจบริษัทท็อปโฮลซัม จำกัด ซึ่งเปิดกิจการเป็นโรงงานผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ประเภทหน้ากากอนามัย หมวกอนามัยในพื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ซึ่งผู้ต้องหาซัดทอดว่าได้รับหน้ากากอนามัยจากโรงงานดังกล่าวมาขาย โดยในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่ามีหญิงคนหนึ่งเดินทางมาซื้อหน้ากากอนามัยและกำลังถือของจะขึ้นรถ จากการสอบถามหญิงสาวคนดังกล่าวทราบว่าซื้อมาจากโรงงานแห่งนี้ โดยรู้จักกันมาก่อนและจองไว้นานแล้ว ส่วนราคาซื้อไปในราคา 200 บาทต่อกล่อง โดยภายในออฟฟิศของโรงงานดังกล่าวนั้นพบว่ามีกล่องบรรจุแมสก์อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดเอาไว้เป็นหลักฐาน จากการตรวจสอบภายใน 1 กล่องนั้นจะมีหน้ากากอนามัยอยู่ 50 ชิ้น โดยจากข้อมูลพบว่าขายในราคากล่องละ 200 บาท เฉลี่ยอันละ 4 บาท ซึ่งถือว่าเกินราคาที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ชิ้นละไม่เกิน 2.50 บาท

          ขณะเดียวกัน นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อเอาผิดกลุ่มขบวนการกักตุนสินค้าหน้ากากอนามัย

          นายอัจฉริยะ เผยว่าวันนี้ได้นำหลักฐานการโพสต์ข้อความลงโซเชียลมีเดียของนายศรสุวีร์ ภู่รวีรัศวัชรี หรือเสี่ยบอย เกี่ยวกับการขายหน้ากากอนามัย มาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีกับขบวนการกักตุนหน้าหากอนามัยและทำให้สินค้าขาดตลาด ในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งการแจ้งความในวันนี้เป็นคนละส่วนที่เจ้าหน้าที่แจ้งความกับนายบอยไปก่อนหน้านี้ โดยเชื่อว่ามีกลุ่มขบวนการที่มีความเกี่ยวเนื่องกับนายบอย เนื่องจากพบหลักฐานว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยมีการติดต่อซื้อขายหน้ากากอนามัยจากโรงงานที่ผลิตหน้ากากอนามัยส่งขายให้รัฐบาล มีหลักฐานการซื้อขายและจ่ายส่วนแบ่งค่านายหน้าจำนวน 4 แสนบาท ให้แก่นายบอย จนเป็นที่มาให้เกิดการโพสต์ขาย อ้างว่ามีหน้ากากอนามัยกว่า 200 ล้านชิ้น

          นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนการดำเนินคดีเอาผิดผู้ต้องสงสัยรายอื่นๆ ทราบว่ากองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีการตั้งคณะกรรมการสอบววนข้อเท็จจริงแยกไปอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่สาม นอกจกนี้ได้นำบัญชีรายชื่อบริษัทที่ผลิตหน้ากากทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง รวมกว่า 169 หน้า เข้าส่งมอบ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. เพื่อเก็บเป็นข้อมูลนำไปดำเนินคดีกับโรงงานผู้ผลิตที่จำหน่ายและส่งออกหน่ายกากอนามัย อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ผิดกฎหมาย หลังจากมีปฏิบัติการเข้าตรวจค้นโรงงานซึ่งไม่ได้อยู่ใน 11 บริษัท ที่ขึ้นทะเบียนการผลิตหน้ากากอนามัยกับกรมการค้าภายใน โดยจะเป็นบริษัทที่ผลิตหน้ากากให้ตลาดมืด ซึ่งเป็นโรงงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่

          ส่วนใน 11 บริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายในในการผลิตหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ พบว่ามี 1 บริษัท มีการลักลอบจำหน่ายให้ตลาดออนไลน์จำนวนมาก และแจ้งยอดการผลิตไปยังกรมการค้าภายในไม่ตรงกับการผลิตจริงที่ผลิตได้ 500,000 ชิ้น แต่แจ้งเพียง 200,000 ชิ้นเท่านั้น โดยส่วนต่าง 300,000 ชิ้น ได้ลักลอบส่งให้แก๊งของนายศรสุวีร์ หรือเสี่ยบอย ไปขายยังตลาดมืด โดยเฉพาะวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา ไปขายให้นายพันธ์ยศ อัครอมรพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคภราดรภาพ 1 ล้านชิ้น และเดือนกุมภาพันธ์ขายให้นายพันยศอีกหลายล้านชิ้น

          “ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของขบวนการนี้ เบื้องต้นทราบแล้วว่ามีทั้งกลุ่มการเมืองซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยพูดถึงมาโดยตลอดและข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ แต่จะเกี่ยวข้องกี่คนจะต้องไปดูกฎหมายอีกครั้ง และยังพบว่ามีทหารเข้าไปเกี่ยวข้องในด้านการสั่งโรงงานหยุดผลิตแอลกอฮอล์เพื่อให้เกิดการขาดตลาดด้วย คนเหล่านี้ผมจะเดินหน้าไปฟ้องต่อ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการ แต่ขอระยะเวลาในการตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานให้ครบถ้วนก่อน” นายอัจฉริยะ กล่าว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ