ข่าว

เหยื่อโควิดตายเพิ่ม 3

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยอดดับ 4 ป่วยเพิ่ม 106 สะสม 827 บุคคลากรแพทย์ 4 รายติดเชื้อจากผู้ป่วยไม่แจ้งประวัติเสี่ยง หวั่นกทม.-ปริมณฑลระบาดทวีคูณ ขอคนไทยร่วมมือภาครัฐ เริ่มย้ายผู้ป่วยอาการไม่หนักไปโรงแรมที่เป็นรพ.สนาม

สถานการณ์การระบาด โควิด-19 ในประเทศยังมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันและมีบุคลากรแพทย์ติดเชื้อด้วย และผู้เสียชีวิตจากไวรัสวันเดียวได้เพิ่มขึ้น 3 ราย

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าการระบาดโควิด-19 ว่ามีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 106 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.ผู้ป่วยสัมผัสผู้ป่วยหรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยโรคนี้ก่อนหน้า จำนวน 25 ราย คือกลุ่มสนามมวย 5 ราย จากเวทีมวยลุมพินีและราชดำเนิน เป็นผู้ชมและเซียนมวยจาก กทม. นครปฐม สมุทรสาคร อุบลราชธานี กลุ่มสถานบันเทิง 6 ราย จากย่านทองหล่อ อาร์ซีเอ และนานา โดยเป็นนักท่องเที่ยว พนักงานเสิร์ฟ ที่สระบุรี กทม. บุรีรัมย์ และชลบุรี กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า 12 ราย เป็นพนักงานขายเสื้อผ้า เซียนมวย พนักงานบริการ ราชการ กินข้าวกับผู้ป่วย กินเลี้ยงดื่มสุรากับผู้ป่วยที่สถานบันเทิง ใกล้ชิดผู้มีประวัติเจ็บป่วยในสนามมวย และกลุ่มร่วมพิธีศาสนามาเลเซีย 2 รายที่ปัตตานี

 

 

 

2.ผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย เป็นกลุ่มเดินทางมาจากต่างประเทศ 20 ราย เป็นคนไทย 8 ราย ได้แก่ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นักศึกษา พนักงานร้านแถวปอยเปต คนต่างชาติ 12 ราย คือ ชาวฝรั่งเศส สวีเดน ปากีสถาน อังกฤษ และนิวซีแลนด์ กลุ่มอาศัยหรือทำงานที่แออัดพบเจอผู้คนจำนวนมากหรือใกล้ชิดชาวต่างชาติ 10 ราย ได้แก่ รปภ. คนรับรถ คนขับรถรับส่งนักท่องเทียว แท็กซี่ มัคคุเทศก์ จากชลบุรี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ภูเก็ต นครราชสีมา และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 4 ราย เป็นแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จากภูเก็ต ยะลา บุรีรัมย์ นครปฐม สืบเนื่องจากผู้ป่วยไม่แจ้งประวัติเสี่ยงมาก่อน ทำให้ไม่ได้ปกป้องตัวเองและรับเชื้อไป ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการแต่อาการยังไม่มีน่าเป็นห่วง และ 3.ผู้ป่วยที่ผลแล็บพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างสอบสอบสวนโรคจำนวน 47 ราย 

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ป่วยอาการหนักขณะนี้เหลือ 4 ราย เนื่องจากมีการเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ได้แก่ 1.ชาวไทย อายุ 70 ปี ที่มีวัณโรคร่วม เสียชีวิตเมื่อวานนี้ (23 มี.ค.) 2.ชาวไทย อายุ 79 ปี เกี่ยวข้องกับสถานที่สนามมวย รายนี้อาการหนักตั้งแต่แรกรับ และเข้ามาวันที่ 16 มีนาคม มีโรคประจำตัวหลายโรค โดยทั้งสองรายนี้รักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และ 3.ชาวไทย อายุ 45 ปี มีภาวะโรคเบาหวาน โรคอ้วน รักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกทม. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4 ราย นอกจากนี้มีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเพิ่ม 5 ราย สรุปมีผู้ป่วยสะสม 827 ราย กลับบ้าน 57 ราย รักษาในโรงพยาบาลจำนวน 766 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สธ.จัดทำข้อมูลสถานที่ชุมนุมชนให้ผู้เกี่ยวข้องเฝ้าระวังตัวเอง 25 แห่ง 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ขอนแก่น กทม. สงขลา นครราชสีมา นนทบุรี และสุรินทร์ โดยหากอยู่สถานที่และช่วงเวลาตามประกาศให้มารายงานตัวโดยทันทีและกักกันสังเกตอาการ 14 วัน โดยสามารถติดตามข้อมูลประกาศสถานที่พบผู้ป่วยได้ที่เว็บไซต์ไทยรู้สู้โควิดและเว็บไซต์กรมควบคุมโรค นอกจากนี้ขอย้ำเตือนประชาชนช่วยกันรักษาระยะห่างต่อสังคม 1-2 เมตร งด ลดการเดินทางไม่จำเป็น ไม่ไปพื้นที่แออัด

ผู้สื่อข่าวถามถึงปัจจัยทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยอายุ 70 ปี รายนี้มีโรคร่วมคือวัณโรค แม้จะรักษาจนไม่พบเชื้อแล้วแต่สภาพปอดก็เสียหาย ส่วนเซียนมวยอายุ 79 ปี มีโรคประจำตัวหลายโรค เมื่อเจอโควิดทำให้อาการทรุดลงเร็วตั้งแต่แรก ส่วนรายอายุ 45 ปี มีเบาหวาน ภาวะอ้วนอยู่เดิม พอติดเชื้อก็ทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้ยืนยันว่าเครื่องช่วยหายใจยังเพียงพอต่อการรักษาเนื่องจากมีผู้ป่วยหนักที่ต้องการใช้เพียงร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด

“สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นพื้นที่น่าห่วงเพราะมีอัตราคนติดเชื้อ 1 คนสามารถส่งตัวเชื้อได้ 3 คนครึ่ง ถ้าหากไม่รีบดูแลจะทำให้คนติดเชื้อทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ติดเชื้อ 1 คนสามารถส่งต่อเชื้อได้ 2 คน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานโลก” 

เมื่อถามว่ามาตรการควบคุมที่ออกมา เช่น การให้ทำงานอยู่ที่บ้านจำเป็นต้องเพิ่มระดับมากกว่านี้ เช่น ออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ นพ.ทวีสิน กล่าวว่า เราเรียนรู้จากต่างประเทศที่ค่อยปรับระดับจากอ่อนไปแข็งรวมถึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนอย่างเช่นจีนออกมาตรการอะไรมาประชาชนก็ให้ความร่วมมือถ้าไม่อยากให้ภาครัฐออกประกาศมาตรการที่เข้มข้นประชาชนต้องร่วมมือกันควบคุมโรคยังรวมถึงระยะการแพร่ของโรคด้วย ถ้าปล่อยให้ระบาดมาก ทำแค่ไหนก็ไม่พอ

ด้าน พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก 192 ประเทศ ผู้ป่วยสะสม 3.66 แสนกว่าราย เสียชีวิต 16,098 ราย ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับ 31

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพื้นที่จังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสจำนวน 47 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. 349 คน นนทบุรี 47 คน ชลบุรี 30 คน สมุทรปราการและปัตตานี 26 คน ภูเก็ต 21 คน ยะลาและสงขลา 15 คน อุบลราชธานี 12 คน ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานีและนครปฐม 7 คน นราธิวาส ปทุมธานี 6 คน บุรีรัมย์ สระแก้ว 5 คน นครราชสีมา กระบี่ สมุทรสาคร กาญจนบุรี สุรินทร์ 4 ราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สระบุรี อุดรธานี 3 ราย นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด สุโขทัย ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี พัทลุง ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษ 2 ราย กาฬสินธุ์ สุพรรณบุรี เชียงราย เลย แพร่ จันทบุรี ตาก นครนายก นครสวรรค์ ยโสธร ลพบุรี หนองบัวลำภู 1 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนโรคอีก 172 ราย

 

 

 

มีรายงานในโลกออนไลน์ว่าลูกชายของชายไทยที่เสียชีวิต อายุ 70 ปี ที่นับเป็นรายที่ 2 ของประเทศ ได้โพสต์ข้อความไว้อาลัยบิดาว่า “พ่อจากไปแล้วเมื่อ 18.10 น. ผลสืบเนื่องจากโควิค-19 ที่ทำลายปอด เชื้อหายแต่อวัยวะไม่สามารถฟื้นกลับมา พ่อสู้มาเกือบ 2 เดือน #ไม่ต้องห่วงลูกๆ นะ รักที่สุด” และโพสต์ด้วยว่ายังหาวัดที่จะทำพิธีทางศาสนาไม่ได้

ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ อาการน้อย ปานกลาง และหนักมาก โดยกลุ่มคนที่เป็นอาการน้อยจะเป็นไข้ 1-2 วัน เมื่อเอกซเรย์ปอดแล้วเป็นปกติ จะให้ทุกรายแอดมิทที่โรงพยาบาลได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลอย่างน้อย 5-7 วัน ซึ่งถ้าไม่มีอะไรแล้วจะย้ายให้ไปพักที่โรงแรมซึ่งจะสร้างเป็นโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีแพทย์พยาบาลเฝ้าดูแลจนครบ 14 วัน โดยวันนี้ (24 มี.ค.) จะเริ่มดำเนินการย้ายผู้ป่วยเป็นวันแรก ส่วนกลุ่มที่มีอาการปานกลาง จะให้ยาต้านเอดส์ 2 ชนิด และจะได้รับการดูแลจนครบ 14 วัน ถ้าปอดดีขึ้นและผลลัพธ์ออกมาเป็นลบก็จะให้กลับบ้านได้ ส่วนกลุ่มที่ 3 รายที่มีอาการหนักมากๆ จะต้องใช้เครื่องออกซิเจนช่วยหายใจและให้ยาฟาวิพิราเวียร์ของญี่ปุ่น ซึ่งก็จะให้อยู่โรงพยาบาลจนอาการดีขึ้น โดยจะรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่ย้ายไปที่อื่น

สำหรับกรณีที่มีดราม่าผู้เสียชีวิตล่าสุดแล้ววัดไม่รับดำเนินการพิธีกรรมทางศาสนานั้น ขอย้ำกับประชาชนว่าเรื่องนี้เราจะต้องผ่านไปด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างเดิน เมื่อมีผู้เสียชีวิตแล้วหากไม่ยอมให้ไปทำพิธีกรรมทางสงฆ์ที่วัดใกล้บ้านแล้วจะทำให้ไทยผ่านไปได้ยาก และขอยืนยันว่าผลแล็บของผู้เสียชีวิตออกมาเป็นลบตั้งแต่ยังไม่เสียชีวิตแล้ว และต่อให้ผู้เสียชีวิตมีผลออกมาเป็นบวกเชื้อก็ไม่เก่งกว่าเราเพราะถ้าเราตายเชื้อก็จะตายตามไปด้วย

วันเดียวกันที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สธ. ได้รับมอบเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ไม่ใช่ยาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จากนายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ประกอบด้วย หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ N95 จำนวน 10,000 ชิ้น หน้ากากอนามัยธรรมดา จำนวน 100,000 ชิ้น ชุดตรวจไวรัส จำนวน 834 ชุด และชุดป้องกันโรค หรือ PPE 2,000 ชุด โดยนายอนุทิน กล่าวว่า เวชภัณฑ์เหมือนเป็นตัวแทนมิตรภาพของ 2 ประเทศ นอกจากนี้ในวันที่ 25 มีนาคม นายแจ็ค หม่า มูลนิธิอะลีบาบา จะบริจาคหน้ากากอนามัยให้ประเทศไทยด้วย

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ