ข่าว

กทม.เข้มกฎอยู่บ้าน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศเพิ่ม 7 มาตรการคุมคนอยู่บ้าน ขอความร่วมมือไม่เดินทางออกต่างจังหวัด ขณะที่พาณิชย์ปล่อยคาราวานรถโมบายธงฟ้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคถึงหน้าบ้านคนกรุง-ปริมณฑล

          เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 23 มีนาคม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก ออก 7 มาตรการ ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยระบุว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการไม่ออกไปในที่ที่มีคนหนาแน่น ทั้งนี้ ตามที่กรุงเทพฯ ได้มีคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง ทำให้หลายคนคิดอยากจะเดินทางออกนอกเขตพระนคร ซึ่งเห็นได้จากเหตุการณ์ที่หมอชิตเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่จากตัวเลขจำนวนผู้เดินทางจาก บขส. พบว่า 3 วันที่ผ่านมามีผู้เดินทางออกนอกกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจากปกติเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องรีบเดินทาง เนื่องจากจะมีการปิดด่านในวันนี้ (23 มี.ค.) ต้องขอขอบคุณคนกรุงเทพฯ แม้ว่าตนจะไม่มีอำนาจสั่งให้เดินทางออกนอกกรุงเทพฯ แต่ทุกคนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

 

 

          อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของทุกคน จึงขอออกมาตรการ 7 ข้อดังนี้ 1.ขอความร่วมมือทุกท่านไม่เดินทางออกนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2.ขอความร่วมมือให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย และหมั่นทำความสะอาดร่างกาย ที่พัก จุดเสี่ยง จุดสัมผัสร่วมต่างๆ 3.ขอความร่วมมือหน่วยงานของรัฐและเอกชนทุกแห่งจัดทำมาตรการป้องกันโควิด-19 ตามกระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตรอย่างเคร่งครัดโดยทันที 4.ขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางไปสนามมวย สถานบันเทิงหรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อ พร้อมผู้ใกล้ชิดที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ให้กักตัวในที่พักตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข หากมีอาการให้รีบไปหาหมอทันที 5.หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากและแออัด และให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร 6.ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานงดจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนเป็นจำนวนมาก และ 7.ขอความร่วมมือ หน่วยงานที่ให้บริการขนส่งมวลชนทุกแห่ง ลดความแออัดของผู้โดยสาร โดยขอความร่วมมือทุกๆ ท่านดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ของกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด

          วันเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือสถานการณ์รับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และกำหนดแนวทางการรับมือสถานการณ์การแพร่ของโควิด-19 ในเรื่องการดูแลประชาชนทั่วประเทศ ก่อนนำแนวทางเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ศูนย์โควิด-19 ที่ทำเนียบรัฐบาล

          นายจุรินทร์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ร่วมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณามาตรการและแนวทางการดูแลประชาชนด้านสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงการมีมาตรการเข้มข้น เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เป็นต้นไป กรมการค้าภายในจะจัดส่งรถโมบายธงฟ้าเบื้องต้นประมาณ 200 คัน นำสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาประหยัด ออกไปจำหน่ายให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่พักอยู่ที่บ้าน รวมถึงให้พิจารณาจัดรถโมบายธงฟ้าในต่างจังหวัดอีกไม่น้อยกว่า 300 คันที่จะปล่อยไปให้บริการในต่างจังหวัดเพิ่มเติม และจะพิจารณาแนวทางการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย เพื่อเป็นการลดความวิตกเรื่องการเดินทางการซื้ออาหาร และลดการฉวยโอกาสขายสินค้าราคาแพงเกินจริง รวมถึงได้เรียกหารือกับผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์และเดลิเวอรี่ รวมถึงสมาคมบรรทุกขนสินค้าต่างๆ โดยเน้นให้การสนับสนุนเพื่อให้บริการถึงประชาชนตามบ้านให้มากที่สุด

          สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะนำไปจำหน่ายเช่น ข้าวสารบรรจุถุง ไข่ไก่ น้ำมันพืช น้ำตาลทราย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เจลล้างมือ เป็นต้น โดยรถโมบายธงฟ้าจะตระเวนไปยังจุดสำคัญๆ เช่น แหล่งชุมชน หมู่บ้าน เป็นต้น และในระยะต่อไปจะมีการพิจารณาเพิ่มรายการสินค้าให้มีมากขึ้น รวมทั้งให้มีการประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน หากมีความต้องการเพิ่มขึ้น ก็จะเพิ่มจำนวนรถโมบายเพิ่มขึ้นและกระทรวงพาณิชย์ยังได้ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภค 2 คณะ เพื่อดูแลสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภค การป้องกันการกักตุน การป้องกันการฉวยโอกาส การปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกซ้ำเติมในสถานการณ์ขณะนี้ และต้องได้รับความเป็นธรรมในการบริโภคสินค้า

          นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า วันที่ 25 มีนาคม นี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการร่วมร่วมภาครัฐและเอกชน กระทรวงพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิต การกระจายสินค้าทั้งในประเทศและส่งออก และการกำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกันในระยะต่อไป 

          ทั้งนี้การกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าสู่ห้างค้าปลีกค้าส่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืดหยุ่นกฎระเบียบด้านการขนส่ง เพื่อให้สามารถลำเลียงสินค้าจากโกดังไปยังสถานที่จำหน่ายปลีกได้เร็วขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, เร่งส่งเสริมการจัดส่งสินค้าถึงบ้านแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งปัจจุบันห้างและร้านสะดวกซื้อเช่น แม็คโคร เทสโก้โลตัส บิ๊กซี และเซเว่นอีเลฟเว่น มีการจัดส่งอยู่แล้ว, การจัดส่งของผู้ให้บริการอาหาร เช่น แกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เก็ท และลาลามูฟ ซึ่งจะสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป และยังได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปช่วยดูแลร้านค้าปลีกรายย่อย(โชห่วย) ให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน เพื่อรองรับมาตรการที่อาจจะมีเข้มข้นขึ้นในระดับจังหวัดกันต่อไป

 

 

 

          นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ จะเสนอที่ประชุมศูนย์โควิด-19 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบงบประมาณจัดซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อแจกจ่ายให้โรงพยาบาล วงการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ พร้อมปรับวิธีการจัดสรร เน้นไปช่องทางกลุ่มเสี่ยงซื้อได้ง่ายขึ้น ยกเว้นการขายผ่านธงฟ้าทั่วไป โดยให้จัดเตรียมหน้ากากผ้ามาทดแทนมากขึ้น พร้อมกันนี้ กระทรวงพาณิชย์เตรียมรายงานมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อย ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา นายสุชาติ สินรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในคำสั่งถึงพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเรื่องการจัดสรรหน้ากากอนามัยให้ร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น สาระสำคัญคือให้พาณิชย์จังหวัดตรวจสอบและติดตามสถานการณ์หน้ากากอนามัยอย่างใกล้ชิด หลังมีคำสั่งตามมติคณะอนุกรรมการศูนย์บริหารจัดการสินค้าหน้ากากอนามัยเมื่อ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ให้ยกเลิกการจัดสรรสินค้าหน้ากากอนามัยผ่านช่องทางร้านค้าธงฟ้า และการกระจายผ่านร้านสะดวกซื้อ(7-11) และห้างสรรพสินค้า เช่น เทสโก้โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี วิลล่ามาร์เก็ต ท็อปส์ เดอะมอลล์กรุ๊ป และโฮมโปร โดยจะมีการจัดสรรหน้ากากฯ รอบการส่งสุดท้าย ณ 16 มีนาคม โดยให้พาณิชย์จังหวัดออกตรวจติดตามสถานการณ์การจำหน่ายหน้ากากอนามัยอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน และดำเนินการตรวจสอบผู้ประกอบการ ร้านขายยา ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า ติดตามภาวะราคา ปริมาณการจำหน่ายของหน้ากากอนามัย รวมถึงการชี้แจงสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้มีการปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน ตรวจสอบการขายเกินราคาควบคุม และป้องกันปราบปรามการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าแพงเกินสมควร หรือทำการกักตุนสินค้าหน้ากากอนามัย

          ส่วนสาเหตุที่ยกเลิกขายหน้ากากอนามัยผ่านช่องทางร้านธงฟ้า เนื่องจากมีรายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า การจัดสรรหน้ากากไปยังร้านธงฟ้าก่อนหน้านี้พบปัญหาหลายด้าน ทั้งการรั่วไหลของหน้ากากที่อาจรั่วไหลตั้งแต่ต้นทางจัดส่ง หรือรั่วไหลเมื่อไปถึงร้านค้าต่างๆ แล้ว เพราะระบบการค้าของร้านธงฟ้าไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการจำหน่ายไปเท่าไหร่ ช่วงเวลาใด หรือแม้แต่ราคาเท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีระบบบันทึกข้อมูลดังกล่าว ขณะที่การจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อ สามารถตรวจสอบได้ หรือแม้แต่การสั่งให้จำหน่ายในช่วงเวลาใด การจำกัดการจำหน่ายแต่ละบุคคลไม่ให้เกินเท่าไหร่ ก็สามารถทำได้ เพราะมีระบบบันทึกข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับได้ นอกจากนี้ ไม่ว่าจะจำหน่ายในช่องทางใดก็พบว่า การรีแพ็กเกจเพื่อบรรจุให้ได้ 4 ชิ้นต่อ 1 ซอง ในราคาซองละ 10 บาท นั้น เป็นการเสียเวลาและกำลังแรงงานมาก ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

          ขณะที่ สน.โชคชัย เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 มีนาคม มีผู้เสียหาย 2 คน เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.โชคชัย ให้ดำเนินคดีกับบริษัทอาหารเสริมแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว ที่มี น.ส.อัม(นามสมมุติ) เป็นเจ้าของ ในข้อหาฉ้อโกง หลังถูกหลอกขายหน้ากากอนามัย 3 ชั้น นำเข้าจากประเทศเวียดนาม จำนวน 35,000 ชิ้น มูลค่าเกือบ 4 แสนบาท

          ผู้เสียหาย เผยว่า ได้รับการติดต่อจากบริษัทแห่งหนึ่งให้ช่วยหาหน้ากากอนามัยจำนวน 35,000 ชิ้น เพื่อนำไปบริจาค กระทั่งไปพบนายหน้าประกาศขายหน้ากากอนามัยผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในราคาถูกกว่าท้องตลาด เมื่อติดต่อไปก็ได้รับคำแนะนำให้ซื้อจากบริษัทดังกล่าว ซึ่งเจ้าของบริษัทก็มีการถ่ายรูป และคลิปวิดีโอโกดังสินค้ามาให้ดู โดยพบว่ามีหน้ากากอนามัยจำนวนมาก ทำให้มั่นใจว่ามีสินค้าจริง และได้ทำสัญญาซื้อขายกันที่บริษัทย่านโชคชัย 4 ในราคาชิ้นละ 11.35 บาท จำนวน 35,000 ชิ้น มูลค่าเกือบ 4 แสนบาท โดยโอนเงินเต็มจำนวน เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา และนัดส่งมอบในวันที่ 13 มีนาคม แต่กลับถูกบ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งหน้ากากให้หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งอ้างว่าอยู่ระหว่างการฆ่าเชื้อหน้ากาก และเจ้าของบริษัทถูกกักตัวอยู่ที่ประเทศเวียดนามเป็นเวลา 14 วัน ทำให้ไม่สามารถส่งหน้ากากให้ได้ 

          ผู้เสียหาย กล่าวอีกว่า ผ่านไปหลายวันจึงขอเงินคืน เพราะเงินที่จ่ายเกือบ 4 แสนบาท เป็นเงินของตนเอง และเมื่อไม่มีหน้ากากอนามัยไปส่ง ก็ยังไม่สามารถทำเรื่องเบิกเงินได้ ทำให้ตนเองได้รับความเดือดร้อน ไม่มีเงินกินข้าว แต่ทางเจ้าของบริษัทนี้กลับไม่ยอมคืนเงินให้ จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม จึงตัดสินใจค้นข้อมูลของบริษัทดังกล่าวในอินเทอร์เน็ต พบประวัติว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทนำเข้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศที่เคยถูกแจ้งความดำเนินคดีกับตำรวจกองปราบปราม ในข้อหาฉ้อโกง มูลค่ากว่า 100 ล้านเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

          ด้าน พ.ต.อ.พรทวี สมวงค์ ผกก.สน.โชคชัย กล่าวว่า เบื้องต้นได้สอบปากคำผู้เสียหายและตรวจสอบข้อมูล พบว่า น่าจะเกิดการฉ้อโกง มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นจริง แต่พื้นที่เกิดเหตุที่ผู้เสียหายไปทำสัญญาอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 101 พื้นที่ สน.ลาดพร้าว ไม่ใช่ซอยโชคชัย 4 แยก 76 ตามที่ปรากฏในสัญญา ดังนั้นทาง สน.โชคชัย จะสอบปากคำไว้ ก่อนจะประสานกับ สน.ลาดพร้าว ท้องที่เกิดเหตุเข้าตรวจสอบบริษัทดังกล่าวต่อไป

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ