ข่าว

แนวฎีกาให้ฟ้องตรง ป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตได้

แนวฎีกาให้ฟ้องตรง ป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตได้

12 มี.ค. 2563

แนวพิพากษา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ฟ้องตรง ป.ป.ช. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตได้ ยกคดี "สุรพงษ์" ตัวอย่าง ทำสำนวนออกพาสปอร์ตทักษิณมิชอบ วินิจฉัยอำนาจผู้เสียหาย ฟ้องอาญา ป.ป.ช.ต่อศาลชั้นต้นได้ สุดท้ายผลคดี ฎีกายกฟ้อง

 

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาชั้นตรวจคำฟ้อง คดีหมายเลขดำ 5673/2562 ที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อายุ 67 ปี  อดีต รมว.การต่างประเทศ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (จำเลยในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแน่งทางการเมืองและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาชั้นอุทธรณ์ พิพากษารอลงอาญา 2 ปี ปรับ 100,000 บาท ตามมาตรา 157)  เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ กรรมการ ป.ป.ช.อีก 8 คน ประกอบด้วย นายณรงค์ รัฐอมฤต , น.ส.สุภา ปิยะจิตติ , นายวิทยา อาคมพิทักษ์ , นางสุวณา สุวรรณจูฑะ , พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ , นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร , นายปรีชา เลิศกมลมาศ และพล.ต.อ.สถาพร หลาวทองเป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการทุจริต

 

          ซึ่ง นายสุรพงษ์ อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวหาว่า ป.ป.ช. เรียกนายสุรพงษ์ ไปรับทราบข้อหาทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีออกหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ โดย กรรการ ป.ป.ช.จำเลยที่ 8-9 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ขัดต่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 19 ข้อ 4 ส่วนประธาน ป.ป.ช. จำเลยที่ 1 และกรรมการ ป.ป.ช. จำเลยที่ 2-6 ยินยอมให้นายสุรศักดิ์ , นายปรีชา และพล.ต.อ.สถาพร จำเลยที่ 7-9 ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อกล่าวหาโดยมิชอบ นอกจากนี้ นายภักดี โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช.ก็ขาดคุณสมบัติแต่เข้าร่วมประชุมพิจารณาและลงมติขณะที่การยื่นร้องถอดถอนโจทก์นั้น นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ทีมกฎหมาย กับอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 139 คน ที่เป็นผู้ยื่นร้องถอดถอนโจทก์ไม่ระบุรายละเอียดให้ครบถ้วน

 

          ขณะที่ในชั้นตรวจคำฟ้อง (ตรวจเฉพาะเอกสารคำฟ้อง ยังไม่มีการไต่สวน) ของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเป็นศาลชั้นต้น ตรวจพิจารณาแล้ว ก็ให้ยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง ซึ่ง นายสุรพงษ์ อดีต รมว.ต่างประเทศ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายืนยกฟ้องเช่นกัน โดยโจทก์ยื่นฎีกาตามระบบซึ่งได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาพิจารณาประเด็นฎีกาของโจทก์

 

          โดย ศาลฎีกา ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีกล่าวหา ป.ป.ช. ต่อศาลชั้นต้นหรือไม่ ซึ่ง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ส.ส. - ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรรมการผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่เพิ่มช่องทางในการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยผู้เสียหายจากการกระทำความผิดของกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจฟ้องกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 28 (2) โดยยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง (1)

 

          ส่วนที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสาม (1) ไม่ให้คดีอาญาที่ฟ้องขอลงโทษในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือทุจริต เนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ หมายความรวมไปถึงคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ปรากฏว่าคดีนี้โจทก์ ฟ้องจำเลยที่ 1-7 ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จึงไม่ใช่คดีที่ ส.ส. - ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภาไม่น้อย 1 ใน 5 มีสิทธิเข้าชื่อกันตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง ที่จะอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ดังนั้นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ในส่วนที่โจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1-7 การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจำเลยที่ 8-9 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดนั้น โดยเมื่อศาลชั้นต้น มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 1-7 ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของจำเลยที่ 8-9 ได้ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 3 วรรคสอง (5) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1-9 ต่อศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนเนื้อหาคดีที่ นายสุรพงษ์ โจทก์ ยื่นฟ้อง ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในการไต่สวนคดีออกพาสปอร์ตให้นายทักษิณนั้น ศาลฎีกา พิจารณาแล้ว เห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขดำ อม.51/2560 และคดีหมายเลขแดง อม.91/2561 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสุรพงษ์ เป็นจำเลยแล้วว่า นายวิรัตน์ มีหนังสือกล่าวโทษนายสุรพงษ์ ต่อ ป.ป.ช. โดยมีหลักฐานที่เป็นเหตุแห่งการกล่าวโทษอันเป็นเหตุควรสงสัยตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 66  และในส่วนของนายภักดี อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขการเริ่มปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.โดยชอบแล้ว สำหรับจำเลยที่ 8-9 ก็ได้รับการสรรหาและรับเลือกเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ดังนั้นการประชุม ลงมติ และไต่สวนข้อเท็จจริงจึงชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้วินิจฉัยด้วยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัยว่านายสุรพงษ์ เป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.มาตรา 123/1 ซึ่งจนถึงวันนี้คำพิพากษาคดีดังกล่าวก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง-แก้ไข ผลคำพิพากษานั้นจึงผูกพันตัวโจทก์คดีนี้ ดังนั้นเมื่อเหตุแห่งการฟ้องจำเลยที่ 1-9 อ้างกระทำผิดในคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วว่ารับฟังไม่ได้ว่า ป.ป.ช.กระทำไม่ชอบ อีกทั้งคำพิพากษาคดีอาญานั้นก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในผล ข้ออ้างของโจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1-9 นี้ ย่อมรับฟังไม่ได้ เช่นกัน กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนพยานหลักฐานคดีนี้ต่อไป ที่ ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน