ข่าว

โพลล์ชี้พิษโควิด-19 ครึ่งปี ศก.พัง 5 แสนล้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โพลล์ชี้พิษโควิด-19 ครึ่งปี ศก.พัง 5 แสนล้าน เอกชนจี้รัฐฟื้นเชื่อมั่น

 

               ม.หอการค้าไทยเผยพิษโควิด-19 ทำดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนก.พ.อยู่ที่ระดับ 44.9 ต่ำสุดใน 9 ไตรมาส คาด 6 เดือนเศรษฐกิจพัง 5 แสนล้านบาท ขณะที่เอสเอ็มอีอ่วม เจ๊ง 4 แสนบาทต่อราย ด้านเอกชนวอนขอความชัดเจนแนวทางการแก้ปัญหาภาครัฐหวังฟื้นความเชื่อมั่น

 

อ่านข่าว กทม.แนะวิธีแจ้งเหตุสงสัยป่วยโควิด19
 

 

               วันที่ 9 มีนาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ระดับ 44.9 ต่ำสุดในรอบ 27 เดือน เนื่องจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีระดับความรุนแรงต่อเนื่องและขยายวงกว้างไปทั่วโลก รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนลดลง ประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศเสี่ยงจากไวรัสและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
 

               นายธนวรรธน์ อธิบายว่า ในเบื้องต้นคาดในช่วงครึ่งแรกของปี (ม.ค.-มิ.ย.63) เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่ประเมินไว้ในระดับกว่า 2.3 แสนล้านบาท จำนวนนี้ภาคการท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบ 3.5-4.5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นส่งออก และอื่นๆ เป็นต้น

 

               “จากแนวโน้มผลกระทบจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงไวรัสโควิด-19 รวมถึงภัยแล้ง คาดว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักคาดว่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท หากไม่มีมาตรการใดๆ มากระตุ้นเศรษฐกิจ จะส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวต่ำว่า 1% แน่นอน

 

               อย่างไรก็ตามในเร็วๆ นี้ ศูนย์เตรียมประเมินจีดีพีปี 2563 ใหม่ แต่ต้องรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 1 แสนล้านบาท ถือว่ายังน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายด้านเศรษฐกิจ" นายธนวรรธน์ กล่าว

 

               นอกจากนี้สมาชิกหอการค้าไทยต้องการเสนอให้รัฐบาลเร่งเพิ่มมาตรการ สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของไวรัส รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการทางเกษตรและการอุปโภคบริโภค เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนและให้ออกมาใช้จ่าย หรือหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีอย่างมีประสิทธิภาพ จัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมและควรมีมาตรการในการตรวจสอบงบประมาณว่าลงถึงประชาชนในระดับฐานราก

 

               ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยได้จัดเวิร์กช็อป "ไทยช่วยไทย : โอกาสจากวิกฤติโควิด-19 โดยได้เชิญกลุ่มธุรกิจต่างๆ เข้าร่วม เช่น พัก โรงแรม รีสอร์ท กลุ่มธุรกิจค้าปลีก กลุ่มธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ภัตตาคาร กลุ่มธุรกิจสายการบิน เพื่อรับทราบผลกระทบ และหาแนวทางรวมทั้งความร่วมมือในด้านต่างๆ

 

               ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือบ้างแล้ว เช่น ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ขยายเวลาการพักชำระหนี้ ล่าสุดในการประชุมครม.เศรษฐกิจ ก็จะมีมาตรการหลายอย่างออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการทางการเงินที่จะให้ธนาคารรัฐส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์นำไปปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเลิกจ้างงาน ทั้งภาคการผลิตและภาคท่องเที่ยว เป็นต้น

 

               “ผลจากการทำเวิร์กช็อปก็จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาหามาตรการสนับสนุนผู้ประกอบและลดผลกระทบจากโควิด-19 นอกเหนือจากที่ภาคเอกชนจะนำแนวทางดังกล่าวไปช่วยกันเองด้วย" นายกลินท์ระบุ

 

               ส่วนนายรณน วิพุธศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย-เวียตเจ็ท กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบหนักทำให้ผู้โดยสารลดลงถึง 50% โดยขณะนี้นักท่องเที่ยวจีนก็ยังไม่กลับมาและยิ่งสถานการณ์การระบาดเริ่มขยายวงกว้างไปยังยุโรปและสหรัฐก็ยิ่งทำให้ผู้โดยสารลดลงอีก หากยืดเยื้อออกไปนานเท่าไรผลกระทบก็ยิ่งมากขึ้น

 

               เพราะแม้ว่าสายการบินจะมีโปรโมชั่นลดราคาตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้ ส่งผลให้รายได้หายไปเกือบ 50% ขณะนี้สายการบินก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ โครงการต่างๆ จำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน เช่น การนำเครื่องบินเข้ามาบินเพิ่ม การขยายเส้นทางการบินไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ต้องชะออกไปอย่างไม่มีกำหนด

 

               “สายการบินไม่มีแผนที่จะลดพนักงาน แต่จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น จึงอยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือ กระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ลดภาษีให้ผู้ประกอบการ” 

 

               ขณะที่นายวัฒนา โชคสุวณิชย์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ ซัพพลายเชน และคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี มองว่าขณะนี้มาตรการการควบคุมโควิด-19 ของรัฐบาลยังไม่ชัดเจน

 

               โดยเฉพาะเรื่องการห้ามเรือสำราญขึ้นฝั่งในจังหวัดท่องเที่ยวส่งผลกระทบหนักต่อธุรกิจเรือสำราญ ทำให้เรือสำราญที่เดินทางท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ และมีโปรแกรมขึ้นฝั่งในพื้นที่ท่องเที่ยวของไทยก็ยกเลิกโปรแกรม ทำให้ขณะนี้ไม่มีเรือสำราญแวะประเทศส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ 

 

               “นักท่องเที่ยวขึ้นเรือสำราญก็จะต้องมีการคัดกรองอยู่แล้วตามมาตรการ เช่น การเฝ้าระวัง 14 วัน การห้ามนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้มีการคัดกรองก่อนขึ้นเรือสำราญอยู่แล้ว

 

               ดังนั้นการห้ามเรือสำราญเทียบท่าเรือหรือขึ้นฝั่งทั้งหมดทำให้เกิดความเสียหายมาก จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในมาตรการดังกล่าว อย่าเหมารวมทั้งหมด”

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ