ข่าว

ศาลแพ่งพระโขนง เปิดไนท์คอร์ท ร่วมไกล่เกลี่ย ช่วยคดีเสร็จเยอะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อธ.ศาลแพ่งพระโขนง" เผย ปี 62 ร่วมคลินิกแก้หนี้ บสส.แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไกล่เกลี่ยเคลียร์คดีหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อส่วนบุคคลได้เป้า ปี 63 พร้อมเปิดไกล่เกลี่ย

 

 

30 ธันวาคม 2562  "นายอดุลย์ ขันทอง"  อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนง เปิดเผยถึงการพิจารณาพิพากษาคดีหลังที่เพิ่งเปิดทำการวันที่ 1 ส.ค. 2562 มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งในเขตพระโขนง , เขตบางนา , เขตประเวศ และเขตสวนหลวง 

 

 

โดยบอกว่า คดีพิพาทส่วนใหญ่เป็นคดีผู้บริโภค , คดีแพ่งสามัญทั่วไป (กลุ่มการฟ้องชำระหนี้ , ขับไล่ , ผิดสัญญา คดีที่ไม่ได้กำหนดการพิจารณาไว้เป็นการเฉพาะ) รวมถึงละเมิดที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพราะใกล้เขตอุสาหกรรมสมุทรปราการ อย่างไรก็ดี ที่น่าสนใจในคดีแพ่งสามัญทั่วไป พบว่า คนไทยมีหนี้ภาคครัวเรือนมาก เช่น หนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต , บัตรกดเงินสด , สินเชื่อส่วนบุคคล , เช่าทรัพย์และเช่าซื้อ ที่สถาบันการเงิน ฟ้องเรียกชำระหนี้ซึ่งดอกเบี้ยตั้งแต่ร้อยละ 18-28 ต่อปี

 

คดีเหล่านี้ทำให้เกิดความทุกข์แก่จำเลยและบุคคลในครอบครัวส่งผลกระทบต่อการทำงาน และยังส่งผลต่อการชำระหนี้ในระบบการเงินของสถาบันการเงิน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วย โดยถ้าพิจารณาพิพากษาคดีเหล่านี้ไปตามปกติน่าจะไม่ได้เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและไม่ได้เป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีอรรถคดี อีกทั้งโจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน และประชาชนที่ถูกฟ้องคดีให้มีทางออกที่ดี ในการแก้ไขปัญหาของสถาบันการเงินและแก่จำเลยกับครอบครัว

 

ศาลแพ่งพระโขนง เห็นว่าบันทึกข้อตกลงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กับธนาคารและสถาบันการเงิน 35 แห่ง ที่มอบให้ "โครงการคลินิกแก้หนี้" ของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ซึ่งเป็นรัฐวิสากิจ เข้ามาช่วยเหลือประชาชนในการแกัไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน เป็นประโยชน์แก่โจทก์ในการที่จะได้รับชำระหนี้ และเป็นประโยชน์แก่จำเลยในการที่จะผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำร้อยละ 4-7 ต่อปี และมีระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้นานถึง 10 ปี ทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้อย่างแท้จริง และโจทก์ไม่ต้องเสียเวลาในการที่จะไปบังคับคดี ติดตามยึดทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้ อีกทั้งยังได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่ตกลงกัน 


เมื่อเดือน พ.ย.62 ที่ผ่านมา ศาลแพ่งพระโขนง และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัดได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ในการที่จะนำคดีเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลแพ่งพระโขนง เพื่อให้คู่ความสามารถตกลงกัน (คลินิกแก้หนี้ จะเปิดโต๊ะให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าบริเวณชั้น 4 ศาลแพ่งพระโขนงเพื่อให้คำปรึกษาช่วยเหลือลูกค้าที่เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต , บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน หรือ Non-Bank ที่เข้าร่วมโครงการ รวม 35 แห่ง ได้มีโอกาสเข้ามาเจรจาเพื่อหาทางออกและได้ข้อยุติปัญหาทางการเงิน)

 

โดยศาลแพ่งพระโขนง จัดโครงการ"เดือนแห่งการประนีประนอมข้อพิพาท" ร่วมกับ "โครงการคลินิกแก้หนี้" ขึ้นระหว่างวันที่ 1 พ.ย. - 30 ธ.ค.62 เพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความได้มีการเจรจาตกลงทำสัญญาประนีประนอมข้อพิพาทกัน อันเป็นการสร้างความสมานฉันท์และบปรองดองขึ้นในสังคม สำหรับการดำเนินการนั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ได้จัดเจ้าหน้าที่ของคลินิกแก้หนี้ มาอำนวยความสะดวกให้แก่คู่ความ ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาล

 

โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวจะมีผู้พิพากษา ผู้ประนีประนอมประจำศาล , โจทก์-จำเลย และเจ้าหน้าที่ของ บสส. เข้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ส่วนใหญ่ลูกหนี้มีเจตนาจะชำระหนี้ แต่ขาดสภาพคล่องบ้าง ตกงานบ้าง ในที่สุดเมื่อพูดคุยกันก็หาทางออกร่วมกันได้ มีทั้งการลดต้นเงินและลดดอกเบี้ยให้แก่จำเลย ที่ผ่านมาสามารถตกลงกัน โดยมีการผ่อนชำระเหลือเพียงเดือนละ 1,000 บาทเศษ หรือมากกว่านี้ในจำนวนที่ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระได้

 

"นายอดุลย์" อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนง กล่าวอีกว่า โครงการเดือนแห่งการประนีประนอมข้อพิพาท (ช่วง 2 เดือน) มีการนัดคดีเข้ามากว่า 5,000 คดี โดยคดีที่คู่ความมาศาล สามารถตกลงกันได้เกือบ 100% ทำให้คดีเสร็จไปเป็นจำนวนมาก อันเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีและเป็นการสนับสนุนบทบาทของศาลในการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกบนพื้นฐานความสมัครใจของคู่ความ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ทำให้ศาลแพ่งพระโขนง สามารถนัดคดีพิจารณาคดีผู้บริโภคนัดแรกได้ภายใน 30 วัน และนัดพิจารณาคดีแพ่งสามัญทั่วไปได้ภายใน 45 วัน โดยไม่ต้องมีการขยายระยะเวลาออกไป และสามารถนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องได้ภายใน 3 เดือน  
    

การที่ศาลแพ่งพระโขนงสามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้อย่างรวดเร็วก็เนื่องมาจากศาลได้นำกระบวนการในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ควบคู่ไปกับการพิจารณาพิพากษาของศาลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ประนีประนอมประจำศาลช่วยเหลือศาลในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท นอกจากนี้ศาลแพ่งพระโขนง ยังได้เปิดทำการพิจารณาคดีนอกเวลาราชการหรือจะเรียกว่า "nightcourt" (ไนท์คอร์ท) ก็ได้ ซึ่งจะเปิดทำการ ในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 16.30 - 20.30 น. และในวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. ตามวันที่คู่ความสะดวกที่จะมาศาล

 

โดยเปิดทำการพิจารณาพิพากษาคดีจัดการพิเศษ คดีไม่มีข้อยุ่งยาก หรือคดีที่คู่ความมีความรีบด่วนต้องการให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพื่อไปบริหารจัดการต่างๆ ในชีวิต เช่น คดีร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย โดยมีองค์คณะพิจารณาคดีประมาณวันละ 5 คณะ ทำการพิจารณาพิพากษาคดีนอกเวลาราชการ ซึ่งคดีดังกล่าวศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาในวันนั้นเลย ทำให้คู่ความมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการที่จะมาศาลในเวลาราชการ หรือนอกเวลาราชการก็ได้ โดยไนท์คอร์ท จะเปิดดำเนินถึงสิ้นเดือน มี.ค.63

 


"อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนง" กล่าวด้วยว่า ในปี 2563 ศาลแพ่งพระโขนง ตั้งเป้าหมาย ที่จะนำนโยบายประธานศาลฎีกาเรื่องการเพิ่มบทบาทเชิงรุกในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินคดีในศาลและให้ประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิของตนตามกฏหมาย และข้อที่เกี่ยวกับการสนับสนุนบทบาทของศาลในการใช้กระบวนการยุติธรรมทางเลือกบนพื้นฐานความสมัครใจของคู่ความ มาช่วยลดปริมาณคดีที่จะมีการฟ้องคดีต่อศาลให้ลดลง โดยนำกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.62 ทำให้ประชาชนที่มีข้อพิพาทหรือมีปัญหาข้อขัดแย้งกัน ทั้งในทางแพ่งและทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้

 

ขณะที่คู่ความสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้โดยไม่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ไม่ต้องจ้างทนายความ ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น จะเป็นการประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการดำเนินคดีในศาลได้เป็นอย่างดี

 

ซึ่งข้อพิพาทที่สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องในทางแพ่งได้ ตาม พ.ร.บ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 มาตรา 20 บัญญัติ คือ (1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ (2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก (3) ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา และ (4) ข้อพิพาทอื่นนอกจาก (1) (2)(3) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา 

 

ดังนั้นเมื่อประชาชนมีปัญหาหรือข้อพิพาทดังกล่าว ก็สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้  โดยไม่ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาล โดยการไกล่เกลี่ย จะมีผู้ไกล่เกลี่ยของศาลทำหน้าที่เป็นคนกลาง หากตกลงกันได้ก็จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แล้วภายหลังหากคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับตามข้อตกลงแก่คู่กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ทันที 

 

"ผมเชื่อมั่นว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องของศาลจะสามารถลดปริมาณคดีที่มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลโดยตรง อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาให้แก่ประชาชนเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการดังกล่าวยังเป็นกระบวนการที่ให้ประชาชนที่มีข้อพิพาทนั้นหันหน้ามาพูดคุยเจรจาตกลงกัน จนได้รับความพึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งศาลแพ่งพระโขนงได้วางระบบงานของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะดำเนินการได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่วันเปิดทำการในเดือน ม.ค.63 เป็นต้น ซึ่งประชาชนที่มีข้อพิพาทสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทศาลแพ่งพระโขนง"

 

ทั้งนี้ "อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งพระโขนง ยังกล่าวถึงสถิติคดีที่ได้พิจารณาในปี 2562 ด้วยว่า ศาลแพ่งพระโขนง มีคดีที่ค้างมาจากปี 2561 จำนวนเกือบ 4,000 คดี และมีคดีที่ฟ้องเข้ามาตั้งแต่เดือน ม.ค.62 - 27 ธ.ค.62 จำนวนกว่า 12,000 คดี ซึ่งจากการดำเนินงานของศาลแพ่งพระโขนง ในการพิจารณาพิพากษาคดีและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเสร็จไปเป็นจำนวนมาก จึงเหลืิอคดีคงค้างข้ามไปในปี 2563 ไม่ถึง 2,000 คดี ซึ่งคดีดังกล่าวที่ค้างไปนั้นเป็นคดีที่ยื่นฟ้องเข้ามาใหม่ในเดือน ธ.ค.62 จำนวน 900 กว่าคดีโดยส่วนนี้ศาลจึงไม่สามารถนัดพิจารณาคดีให้เสร็จได้ในปี 2562 ได้เนื่องจากระยะเวลาในการส่งหมายเรียกและคำคู่ความให้แก่คู่ความอีกฝ่ายต้องใช้เวลาพอสมควร

 

โดยในปี 2563 ตนเชื่อมั่นว่านโยบายของประธานศาลฎีกาที่กำหนดให้ทุกศาลนำมาใช้ปฏิบัติจะสามารถทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดและเป็นธรรม สร้างความพึงพอใจให้แก่คู่ความ ประชาชน สังคมและประเทศชาติต่อไป

 

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ